แผนที่ใหม่ของจีน ชนวนขัดแย้งในเอเชีย

กลิ่นอายความขัดแย้งเรื่องพรมแดนในภูมิภาคเอเชียกลับมาเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง ไม่นานหลังจากที่จีนเผยแพร่ “แผนที่มาตรฐาน” ของประเทศจีน ประจำปี 2023 ออกมาเมื่อ 28 สิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง

การตีพิมพ์แผนที่มาตรฐาน หรือแผนที่ที่เป็น “ทางการ” ออกมาเป็นประจำทุกปีนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนกระทำเป็นกิจวัตรเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2006 เป้าหมายก็เพื่อ “แก้ไข” สิ่งที่จีนเรียกว่า บรรดา “แผนที่ที่มีปัญหา” ซึ่งจีนอ้างว่า เป็นแผนที่ที่แสดงแนวเขตแดนหรืออาณาเขตของประเทศจีนแบบ “ผิดๆ” ให้ถูกต้องและเป็นทางการนั่นเอง

ปัญหาก็คือว่า สิ่งที่จีนคิดว่า “ถูก” นั้น ไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนบ้านหลายประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาประเทศที่อ้างสิทธิ อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ “ทับซ้อน” อยู่กับคำกล่าวอ้างของจีน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลายประเทศที่ไม่ยอมรับแผนที่ “มาตรฐาน” ของจีนเรื่อยมาครั้งนี้ก็เช่นกัน

บรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เป็นคู่พิพาทกับจีนในกรณีที่จีนอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ ย่อมไม่ยอมรับแผนที่ใหม่ของทางการจีนแน่นอน

ประเทศอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ถึงกับออกแถลงการณ์อย่างแข็งกร้าว กล่าวหาว่า แผนที่ใหม่ของจีนเป็นความพยายามในการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนที่เป็นของตนเอง

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในแผนที่มาตรฐานใหม่ของจีนยังคงปรากฏแนว “เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งกินอาณาบริเวณไปมากถึงราวๆ 90 เปอร์เซ็นต์ของทะเลจีนใต้ทั้งหมด

และเป็นที่มาของความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับอีกอย่างน้อย 6 ชาติในเอเชียอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม และไต้หวัน

ทั้งๆ ที่ฟิลิปปินส์เคยยื่นเรื่องความขัดแย้งนี้ต่อศาลอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก ให้พิจารณา จนได้คำวินิจฉัยออกมาในเดือนกรกฎาคมปี 2016 ว่า จีนไม่สามารถอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ได้ ทะเลจีนใต้ไม่ได้เป็นของจีน แต่เป็นน่านน้ำเสรีที่เป็นพื้นที่ร่วมกันซึ่งทุกประเทศสามารถเข้าไปใช้ได้

แต่จีนกลับเพิกเฉย ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งยังเดินหน้าถมทะเล สร้างเกาะเทียมบ้าง สร้างฐานที่ตั้งทางทหารบ้างอยู่เรื่อยมา

แนวเส้นประ 9 เส้นในแผนที่จึงกลายเป็นเรื่องอ่อนไหว ไม่เป็นที่ยอมรับกัน อ่อนไหวขนาดที่ทางการเวียดนามถึงกับห้ามภาพยนตร์ดังจากฮอลลีวู้ดอย่าง “บาร์บี” เข้าฉายในประเทศ เพียงเพราะในภาพยนตร์มีแผนที่ที่มีเส้นประ 9 เส้นปรากฏอยู่เท่านั้น

ถ้อยแถลงของทางกระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์ถึงได้ระบุว่า แผนที่ใหม่ของจีนนี้ เป็น “ความพยายามล่าสุด” ของจีนในการอ้างกรรมสิทธิ์ “ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ” รองรับเหนือเขตแดนทางทะเลของฟิลิปปินส์

แต่ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือ ชาติแรกที่ออกมาประท้วงแผนที่มาตรฐานใหม่ของจีนในครั้งนี้ ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของจีนในทะเลจีนใต้ หากแต่เป็นอินเดีย ชาติใหญ่ในเอเชียที่มีกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนกับจีนมานานปีดีดัก

เหตุผลก็เพราะแผนที่ใหม่ของจีนรวมเอาดินแดนของรัฐอรุณาจัลประเทศ กับที่ราบสูง อักไสชิน (จีนเรียก อักสาอีจิน) ซึ่งเป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาคุนลุ้นของจีนกับเทือกเขาคาราโครัม ในเขตลาดักห์ของอินเดีย และเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับอินเดียมาตั้งแต่ปี 1957 เข้าไว้โดยระบุว่าเป็นดินแดนของจีนเช่นเดียวกัน

กระทรวงต่างประเทศอินเดียยื่นประท้วงเรื่องนี้อย่างเป็นทางการผ่านช่องทางทางการทูต โดยยืนยันว่าที่ปรากฏในแผนที่เป็นการกล่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของอินเดียอย่างเลื่อนลอย ไม่มีพื้นฐานที่ชอบธรรมใดๆ รองรับ

ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดีย เคยเป็นชนวนให้เกิดสงครามระหว่างประเทศทั้งสองมาแล้วในอดีต เนื่องจากหลังจากที่จีนเข้าครอบครองทิเบตก็พยายามตัดถนนผ่านอักไสชิน เพื่อเชื่อมโยงทิเบตเข้ากับดินแดนส่วนอื่นๆ จนกลายเป็นเหตุให้เกิดการสู้รบกันขึ้นเมื่อปี 1962 ลงเอยด้วยชัยชนะของจีน และเป็นที่มาของแนวเขตแดนชั่วคราวขึ้นเรียกว่า แนวเขตควบคุมในความเป็นจริง ( Line of Actual Control หรือ LAC)

และปัญหาของแนวเส้น “แอลเอซี” นี่เองที่เป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาในบริเวณหุบเขาคัลวัน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับอักไสชิน ที่ในเวลานี้อยู่ในความควบคุมของจีน แต่ทั้งจีนและอินเดียต่างอ้างกรรมสิทธิ์ จนกลายเป็นความตึงเครียด คุกรุ่นอยู่เรื่อยมา

ความขัดแย้งตามแนวเขตแอลเอซี กลายเป็นเหตุปะทะกันขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา คราวนี้เป็นบริเวณเขตทาวังในรัฐอรุณาจัล คราวนี้ไม่ถึงกับมีการเสียชีวิตขึ้นเหมือนเมื่อปี 2020 เพียงแค่ต่างฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บกันไปเท่านั้น

 

ประเด็นที่น่าสนใจในเวลานี้ก็คือ ปัญหาแผนที่ “มาตรฐาน” ฉบับใหม่ของจีนกำลังกลายเป็นปัญหาการเมืองภายในอินเดีย

เมื่อพรรคฝ่ายค้านหลักของอินเดียอย่างพรรคคองเกรส หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาโจมตีนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี้ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการชี้ว่า โมดี้จะต้องรับผิดชอบในการที่จีนเข้ามา “ยึดครอง” ดินแดนของอินเดียราว 2,000 ตารางกิโลเมตร “อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” ตามที่จีนแสดงออกมาผ่านแผนที่ฉบับใหม่นี้

ทำลายบรรยากาศที่ส่อเค้าว่าน่าจะดีขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย เมื่อโมดี้พบหารือแบบตัวต่อตัวกับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนในแอฟริกาใต้เมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่าจะเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นเพื่อลดความตึงเครียดบริเวณแนวเขตแดนลง

จนหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นที่มาของการที่ไม่มีวี่แววของสี จิ้นผิง ในการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายนนี้นั่นเอง