ปมปัญหาเรื่อง ‘กู่ม้า’ (จบ) หริภุญไชยนับถือศาสนาพุทธทั้งเถรวาทแบบลังกา สรวาสติวาทแบบพุกาม และมหายานแบบขอม?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทความเรื่องนี้ในตอนที่ 1 ดิฉันได้ตั้งคำถามค้างไว้ว่า ตกลงแล้วโบราณสถาน “กู่ม้า” นี่ ข้างในบรรจุสิ่งไรกันแน่ มีกระดูกของม้าทรงนาม “สินธพขจรเดช” อยู่ภายในสถูปจริงหรือไม่

คำตอบคือ จากการขุดค้นทางโบราณคดี ไม่มีการพบ “กระดูกหรือซากสัตว์” ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าม้าหรือช้าง พบแต่ “ชิ้นส่วนแตกหักรูปขาช้าง 1 ข้างหล่อสำริด” แต่เป็นของที่มีอายุไม่เก่าถึงสมัยหริภุญไชย

เช่นนี้แล้วเราสามารถอธิบายคำถามแรกได้อย่างไร ในเมื่อโบราณสถานที่ถูกเรียกว่า “กู่ม้า” หาใช่สุสานม้าทรง ตามความเชื่อของคนในพื้นที่ไม่

อีกทั้งการค้นพบพระพุทธรูปแบบพระแก้วขาว พระแก้วเขียว พระพิมพ์ดินเผาสมัยหริภุญไชย ซึ่งคลุกเคล้าพิมพ์ทรงกันทั้งแบบเถรวาทพุกาม กับแบบมหายานขอม ปะปนกันจำนวนมากมายในกรุแห่งนี้ จักให้อธิบายว่าอย่างไร?

เราจะสามารถบอกได้หรือไม่ว่า

1. สถูปแห่งนี้ ไม่ใช่ที่บรรจุกระดูกม้าศึกม้าทรงของพระนางจามเทวี

2. สถูปแห่งนี้มีการยืนยันถึงศิลปะสามกลุ่มลัทธิศาสนา คือ 1.สายเถรวาท (สรวาสติวาท) แบบพุกาม เช่นพระพิมพ์พระสามหอม 2.สายมหายานแบบขอม เช่น เหรัชระ

กับ 3.สถาปัตยกรรมทรงระฆังแบบลังกา ที่ละม้ายว่าน่าจะอิมพอร์ตตรงมาจากลังกา โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสุโขทัย เพราะคนละยุคสมัยกัน ตัดประเด็นพระมหาสุมนเถระออกไปได้เลย ด้วยหากเริ่มต้นที่ท่าน อายุของกู่ม้าก็จักถูกลดลงมาให้ใหม่มากแค่ไม่เกิน พ.ศ.1912 เท่านั้นเอง อันเป็นอะไรที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับก้อนอิฐขนาดมหึมาแบบดินเผาสมัยหริภุญไชย

ส่วนพุทธศิลป์ล้านนาบางชิ้นค้นที่ค้นพบภายในสถูปกู่ม้าปะปนกับโบราณวัตถุรุ่นเก่าสมัยหริภุญไชย ก็สันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานกู่ม้าเคยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยล้านนา ดังนั้น เราจึงไม่ควรยึดเอาโบราณวัตถุสมัยล้านนาที่ใหม่สุดมาเป็นตัวตั้งในการกำหนดอายุของสถูปรุ่นเก่าเช่นนี้

บทความชิ้นนี้ ยังเหลือการชำระประเด็นค้างตั้งแต่ตอนแรกอีก 1 ประเด็นคือ หากโบราณสถานกู่ม้ามิใช่ “กู่ม้า” จริงแล้วไซร้ ซากโบราณสถานที่น่าจะเป็น “กู่ม้า” ควรมีจริงๆ หรือไม่ หลังใด ตั้งอยู่ที่ไหน

กับอีกประเด็นคือการคลี่คลายปมเรื่อง ศักยภาพในการติดต่อสัมพันธ์เอาศาสนาพุทธแบบเถรวาทเข้ามาสถาปนาในดินแดนหริภุญไชย สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ ในยุคที่ยังไม่มีอาณาจักรสุโขทัย?

โบราณสถานกู่ม้า ซ้าย ทรงระฆงลังกา และโบราณสถานกู่ช้าง ขวา ทรงลอมฟางแบบพยู่ ศรีเกษตร

จาก “กู่แมว/กู่วานร” สู่ “กู่ม้า”

ไกลออกไปทางทิศใต้ของกู่ม้า-กู่ช้างเพียงไม่กี่สิบเมตร ใกล้กับลานจอดรถของนักท่องเที่ยว เป็นซากกองโบราณสถานขนาดมหึมา ซึ่งมีข้อถกเถียงในชื่อเรียกกันอยู่เป็นสองแนวทาง

แนวทางดั้งเดิม คนเฒ่าคนแก่ที่มีอายุมากกว่า 90 ปี บอกแก่ดิฉันเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ว่าจุดนี้ต่างหากคือ “กู่ม้า” ของจริง ไม่ใช่โบราณสถานทรงระฆังลังกาที่ตั้งอยู่เคียงข้างกับกู่ช้าง พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยเล่าให้ดิฉันฟังเมื่อปี 2544 ว่า ความที่กรมศิลปากรไม่ได้บูรณะซากเนินดิน ณ จุดที่เป็น “กู่ม้า” ที่แท้จริง ทำให้ถูกปล่อยรกร้างมาจนบัดนี้

ครั้นเมื่อกรมศิลปากรบูรณะเจดีย์ทรงระฆังลังกาข้างๆ กู่ช้างเสร็จ ตรงนั้นไม่มีชื่อเรียก ในขณะที่ตรงนี้ (จุดที่คนเฒ่าคนแก่รับรู้ว่าเป็นกู่ม้าของจริง) ยังไม่มีการบูรณะขุดแต่ง จึงทำให้ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหยิบเอาชื่อของ “กู่ม้า” ไปใช้เรียกโบราณสถานที่บูรณะเสร็จพร้อมกู่ช้าง ให้เป็น กู่ช้าง-กู่ม้า คู่กันเสียเลย อันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ คนรุ่นหลังที่ไม่เคยรับทราบเรื่องนี้ ก็เรียกตามกันมาแบบผิดๆ เพราะเป็นเรื่องที่มีคนรู้เรื่องนี้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

แนวทางที่สอง ราวปี 2546 เริ่มมีแนวคิดในการที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ ขุดแต่งขุดค้นซากโบราณสถานด้านทิศใต้ใกล้ลานจอดรถของกู่ช้าง-กู่ม้า เพราะเป็นเนินอิฐก้อนโต ฐานกว้างใหญ่ดูคล้ายซากโบราณสถานสมัยทวารวดีหรือหริภุญไชยตอนต้น

ชาวบ้านที่เฝ้าบริเวณนี้มักเห็นนิมิตรูปสัตว์หน้าขนคล้ายแมว บางมุมคล้ายลิง กระโจนออกมาจากซากเนินอิฐนี้เสมอ จึงตั้งศาลขึ้นแล้วปักป้ายว่า “กู่แมว” บางคนเรียก “กู่วานร”

ตามนิมิตฝันของผู้เฝ้าซากโบราณสถาน มักเห็นสัตว์หน้าขนกระโจนออกมาจากกู่ เข้าใจว่าน่าจะเป็นแมว จึงปั้นรูปแมวไว้น่าซากโบราณสถานแล้วเรียกว่า “กู่แมว”

เหตุที่คำว่า “สัตว์หน้าขน” นั้นสามารถตีความได้กว้าง น้ำหนักของสัตว์หน้าขนที่มีความผูกพันกับพระนางจามเทวี ตามการรับรู้ของชาวลำพูนคือ “ลิงดำ-กากะวานร” ที่ติดสอยห้อยตามพระนางจามเทวีตอนถูกลอยแพจากลำพูนไปลพบุรีในฐานะพี่เลี้ยง มากกว่าที่คนลำพูนจะเชื่อว่าเป็นแมว ซึ่งสัตว์ประเภทนี้ไม่ปรากฏความสัมพันธ์ใดๆ กับตำนานเรื่องพระนางจามเทวีเลย

ซากโบราณสถานด้านทิศใต้ ที่ถูกเรียกว่า “กู่แมว-กู่วานร” (เรียกตามนิมิตที่เห็นสัตว์หน้าขน) ก็ดี หรือเรียกว่า “กู่ม้าของจริง” (ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ก็ดี ซึ่งก็สอดรับกับหลักฐานทางโบราณคดีที่กรมศิลปากรดำเนินขุดแต่งกู่ม้าทรงระฆังลังกา แล้วไม่พบซากกระดูกสัตว์) ณ บัดนี้ รองบประมาณจากเทศบาลเมืองลำพูน มาดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ภายใต้การเชิญนักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่มาลงพื้นที่หารือสำรวจสภาพเบื้องต้นหลายครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หากโครงการนี้มีอะไรคืบหน้า ดิฉันจะแจ้งให้ผู้อ่านรับทราบต่อไปเป็นระยะๆ

ซากเนินอิฐขนาดมหึมาด้านทิศใต้ของ กู่ช้าง-กู่ม้า ที่มีความเห็นแยกเป็นสองกระแส กระแสแรกว่าเป็นกู่ม้าของจริง อีกกระแสเรียกกู่แมว/กู่วานร

ปริศนา “ลังการาม” ในวัดพระคงฤๅษี

ปรากฏชื่อคำว่า “ลังการาม” ในตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงส์ กล่าวถึงการสร้างวัดสี่มุมเมืองหรือจัตุรพุทธปราการของพระนางจามเทวี ทิศเหนือระบุว่าให้มีการสร้างวัดอาพัทธาราม ให้เป็นพระอารามหลวงถวายแก่พระภิกษุผู้มาแต่ลังการาม เพื่อใช้เป็นที่พำนักและบำเพ็ญสมณธรรม

วัดอาพัทธาราม ปัจจุบันเรียกกันติดปากว่า วัดพระคงฤๅษี จากตำนานมีคีย์เวิร์ดสองคำที่ควรวิเคราะห์ก็คือ “อาพัทธาราม” แปลว่าอะไร กับคำว่า “ลังการาม” สะท้อนถึงการติดต่อสัมพันธ์รับพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีแล้วจริงหรือไม่?

คำว่า “อาพัทธาราม” ไม่ได้มีการขยายความต่อในเอกสารตำนาน ว่าหมายถึงอะไรกันแน่ จากรูปศัพท์ของคำว่า “อาพัทธาราม” สามารถจำแนกการเข้าคำสมาสสนธิแยกได้เป็นสามคำ

คำแรก อา/อะ เป็นวิภัติปัจจัย เอาไปวางหน้าคำไหน = ไม่

คำที่สองคือ พัทธ ย่อมจากพัทธสีมา

คำที่สามคือ อาราม สองคำหลังรวมกันเป็น พัทธาราม = การผูกพัทธสีมาให้เป็นเขตอาราม

ครั้งเมื่อนำคำว่า “อา/อะ” มาวางหน้า พัทธาราม กลายเป็น อาพัทธาราม ดิฉันขออนุญาตแปลเบื้องต้นตามรูปศัพท์ได้ว่า วัดที่ไม่มีการผูกพัทธสีมา จะผิดถูกอย่างไร ท่านอื่นแปลว่าอะไร ลองแลกเปลี่ยนกันได้

กลุ่มวัดที่สร้างในสมัยพระนางจามเทวี มีขึ้นราว พ.ศ.1213-1215 (คำนวณจากปีศักราชที่พระองค์เสด็จถึงลำพูน นั่งเมืองปี 1206 จากนั้นคลอดโอรสแฝด ตำนานระบุว่าในปีที่ 7 แห่งการเสวยราชย์ พระนางได้สร้างวัดห้าแห่งเรียก ปัญจมหาวิหาร หรือปัญจมหาอาราม 5 ตำบล

แบ่งเป็นวัดสี่มุมเมือง ตามทิศต่างๆ 4 ทิศ เหนือใต้ออกตก) รวมกับฟื้นวัดเดิมที่เป็นโบสถ์พราหมณ์ของศาสนสถานฮินดูอีก 1 แห่ง แยกไปอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เป็นวัดมาลุวาราม (มาลุวการาม) ปัจจุบันคือ วัดสันป่ายางหลวง

พบว่าวัดอีก 4 แห่งที่สร้างพร้อมกัน ไม่ระบุถึงนิกายของพระสงฆ์แต่อย่างใด ได้แก่

ทิศตะวันออก วัดอรัญญิกรัมมการาม ปัจจุบันคือวัดร้างดอนแก้ว หรืออาจยาวมาถึงวัดพระยืน ตำนานระบุว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างวิหารและพระพุทธรูป แล้วถวายให้เป็นที่อยู่แห่งสงฆ์มีพระสังฆเถระเป็นประธาน วัดนี้อุทิศให้เป็นเขตของพระป่าสายอรัญวาสี

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มาลุวาราม (วัดสันป่ายางหลวง) จามเทวีวงส์ระบุว่า พระนางจามเทวีทรงสร้างวิหารถวายแด่พระสงฆ์ที่มาจากจาตุทิศ พิจารณาตามนี้แปลว่าเป็น “วัดกลาง”

ทิศตะวันตก มหาวนาราม (วัดมหาวัน) พระนางจามเทวีสร้างพระวิหาร พระพุทธรูป และกุฏิอันบวรสำหรับให้พระสงฆ์จำพรรษา ทรงทำนุบำรุงด้วยปัจจัยสี่อยู่เป็นนิจ

ทิศใต้ มหารัดาราม (วัดประตูลี้) พระนางจามเทวีสร้างพระวิหาร พระพุทธรูปงามสุดจะเปรียบปาน ให้พระสงฆ์จำพรรษาและเลี้ยงดูด้วยข้าวด้วยน้ำ วัดมีชื่อเป็นภาษาบาลีเรียกในปัจจุบันอีกชื่อว่า วัดสังฆาราม

คำถามคือ เมื่อครั้งที่พระนางจามเทวีนำไพร่พลจำนวนมากเสด็จทางชลมารคขึ้นมาจากละโว้ เมื่อมาถึงหริภุญไชย คนในสมัยนั้นนับถือศาสนาลัทธินิกายใดกันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการติดต่อสัมพันธ์กับพระภิกษุในสายพุทธแบบลังกาแล้วจริงหรือ

จุดนี้มองได้สองนัยยะ

เจดีย์รุ่นเก่าวัดพระคงฤๅษี (อาพัทธาราม) ซึ่งทางวัดกล่าวว่า น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างรุ่นเก่าสุดของวัด อาจเป็นสิ่งสะท้อนถึงคำว่า “ลังการาม” ก็เป็นได้

นัยยะแรก พระภิกษุที่เขียนตำนานเรื่องมูลศาสนากับจามเทวีวงส์ “อาจไม่เข้าใจ” ว่าศาสนาพุทธนิกายใดกำลังรุ่งเรืองอยู่ในแผ่นดินละโว้ตลอดลุ่มเจ้าพระยาในขณะนั้น ด้วยความที่พระคุณเจ้าคัดลอกตำนานในสมัยที่อาณาจักรล้านนารุ่งเรือง เป็นยุคที่ “ลังกา” คือยูโทเปีย เป็นความฝันอันสูงสุดของชาวอุษาคเนย์ในยุคเมื่อ 500 ปีก่อน ตอนเขียนรายละเอียดเรื่องพระภิกษุกลุ่มต่างๆ มาอยู่ในวัดสี่มุมเมืองของพระนางจามเทวี จึงแอบเอามุมสายเหนือสักสายหนึ่งให้เป็นที่สถิตพำนักของพระสงฆ์สายลังกา ที่พระคุณเจ้าผู้รจนาคัมภีร์คุ้นเคย

นัยยะที่สอง หากพระพุทธพุกาม (ผู้รจนามูลศาสนา) และพระโพธิรังสี) (ผู้รจนาจามเทวีวงส์) คัดลอกเรื่องราวตำนานกึ่งประวัติศาสตร์ตั้งแต่เหตุการณ์ของสมัยพระนางจามเทวีตลอดจนกษัตริย์ราชวงศ์หริภุญไชยอีก 50 พระองค์ ตรงตามต้นฉบับหลักฐานเดิมจริง โดยไม่ได้เพิ่มเติมเสริมแต่งใดๆ เลย

ประเด็นนี้ก็ชวนให้ต้องขบคิดต่อไปว่า คำว่า “พระภิกษุที่มาแต่ลังการาม” ที่ให้สถิตประทับในวัดอาพัทธาราม (วัดพระคงฤๅษี) นั้น เป็นความจริงเท็จแค่ไหน ในเมื่อทุกรูปต้องตั้งต้นเดินทางที่ราชสำนักละโว้ แล้วละโว้ยุคนั้นมีพระภิกษุสายลังกามาอยู่จำพรรษามากน้อยเพียงใดก่อนแล้วกันเล่า

ดิฉันลองเทียบไทม์ไลน์ ชื่อกษัตริย์ของลังกาในยุคที่ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวี หรือเอาให้เก่ากว่าสมัยพระนางเล็กน้อย คือยุคของเสด็จพระราชบิดาของพระนาง นามพระเจ้าจักรวรรดิวัติ หรือพระเจ้ากรุงละโว้ มีอายุราว พ.ศ.1186-1205

พบว่าอยู่ระหว่างช่วงของแผ่นดินสมัยกษัตริย์ลังกาหลายพระองคมีพระนามว่า ทาฏฐปติสสะที่ 1 (พ.ศ.1186-1193) พระเจ้ากัสสปะที่ 2 (1193-1202) พระเจ้าทาโฐปติสสะที่ 2 (1202-1210) ในช่วงระหว่างกษัตริย์ 3 พระองค์นี้ อาจมีพระองค์ใดพระองค์หนึ่งส่งสมณทูตมาเจริญสัมพันธ์ไมตรีทางการศาสนากับรัฐละโว้ ก็เป็นได้ ทำให้เกิดนิกายลังกา (วงศ์) หรือลังการาม มาแล้วตั้งแต่สมัยต้นหริภุญไชยก็เป็นได้

สรุป เรื่องราวของกู่ม้าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก สามารถเชื่อมโยงการศึกษาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมทรงระฆังลังกาของตัวกู่ม้าเอง ไปสู่หลักฐานตำนานที่ระบุว่าเคยมีพระสงฆ์จากลังการามมาประทับที่หนเหนือของวัดสี่มุมเมืองมาก่อนแล้ว •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ