หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “พรมแดน”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“พรมแดน”

ต้นเดือนธันวาคม

ข่าวพายุฝนกระหน่ำหนัก และมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ

ทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาที่ได้ร่วมงานกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ส่วนภาคใต้

บ้านพักสีขาวมอๆ หลังคาคลุมด้วยตะไคร่เพราะความชื้น อยู่ติดเชิงเขา ถูกล้อมรอบด้วยต้นไม้สูงหนาทึบ

คงมีสภาพไม่ต่างจากที่เคยเป็นในฤดูฝนอย่างนี้

โครงการเช่าบ้านหลังนี้จากอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี สำหรับไว้เป็นที่พักและเก็บสัมภาระในระหว่างการทำงานบนเทือกเขาบูโด และพื้นที่ใกล้เคียง

บ้านอยู่ห่างเมืองบาเจาะไม่ถึง 10 กิโลเมตร

ไม่ไกลจากมัสยิดและกรูโบว์

ไม่ไกลจากเสียงระเบิดที่เราได้ยินในบางครั้ง

บ้านในป่าเชิงเขา ไม่แปลกที่จะมีสัตว์นานาชนิดอาศัยร่วมอยู่ด้วย

กระรอก ตั้งแต่พญากระรอกดำใหญ่ ซึ่งทำรังเลี้ยงลูกอยู่ตรงกิ่งไม้ใกล้ทางขึ้นบ้าน

กระรอกท้องแดง รวมทั้งกระรอกหางม้าจิ๋วที่วิ่งวนไป-มาตามลำต้นไม้ พญากระรอกบินหูแดง โชว์การร่อนให้ดูเป็นประจำทุกพลบค่ำ

นอกจากนี้ มีสัตว์เลื้อยคลานอีกสารพัดในช่วงฝนตกต่อเนื่องนานนับเดือน

ในบ้าน คือที่แห้งๆ เหมาะต่องูเห่าและงูจงอางเลื้อยมาวนเวียน หากสบโอกาสก็ใช้ที่นอนของเราเป็นที่พัก

จิ้งเหลน นั่นแสดงความเป็นเจ้าของโดยอยู่ตลอด

กระรอกเข้ามาอยู่ตามมุมห้องบ้างบางเวลา

เมื่อคิดแบบผู้อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยไม่แยกว่า นั่นเป็นคน นี่เป็นสัตว์

ผู้ที่เหมือนจะ “แสบ” ที่สุดได้แก่ ค่างแว่นถิ่นใต้ฝูงหนึ่ง

พวกมันทำกิ่งไม้หักใส่หลังคา ชะโงกหน้าจ้องเราตลอดเวลา จนหมดความเป็นส่วนตัว

แกล้งมาทุบกระจกหน้าต่าง เอารองเท้าไปซ่อน รวมทั้งเข้าครัวรื้อของเวลาไม่มีคนอยู่

กลับจากทำงานเหนื่อยๆ พบสภาพบ้านที่เพื่อนๆ ทำไว้ เราจึงต้องชี้หน้าด่ากันบ้าง

ค่างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เราเรียกพวกมันว่า ไพรเมต เช่นเดียวกับลิงและชะนี ที่หากินอยู่ตามเรือนยอด

ไพรเมตทุกชนิดมีลักษณะใกล้เคียงกับเรา มีมือและตีน และใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว

นิ้วแบน ไม่เป็นกรงเล็บ ส่วนสำคัญคือดวงตา อยู่ทางด้านหน้าของใบหน้า เหมือนคน

ค่างแว่นถิ่นใต้ฝูงนี้ นอกจากคล้ายเป็นเพื่อนสนิท แม้จะโกรธกันบ้าง แต่ผมก็คิดถึงพวกมัน เมื่อเดินทางไปที่อุทยานแห่งชาติมานัส ในประเทศอินเดีย

บ้านที่พัก ถูกรบกวนความสงบตั้งแต่เช้ามืด ด้วยฝีมือค่างฝูงหนึ่ง

“Capped langurs” อาลี โมฮาหมัด เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า บอก

สำหรับผม นี่คือค่างแปลกหน้า เราไม่เคยพบกันมาก่อน ไม่มีค่างชนิดนี้อยู่ในประเทศไทย

พวกมันกระโจนไป-มา ข้ามหลังคา ขย่มกิ่งไม้ ชะโงกหน้ามอง ไม่เกรงใจ

กิริยาอาการคล้ายกับค่างที่บ้านพักเชิงเขาบูโด

อาลีทำงานในป่ามาแล้วกว่า 10 ปี

ด้านหลังต้นไม้ที่ฝูงค่างกำลังเพลิดเพลิน หลายตัวเอนหลังนอนพักกับกิ่งไม้ มีแม่น้ำที่สายน้ำไหลแรง สะท้อนแสงแดดยามเช้าเป็นประกายระยิบ

“ฟากนั้นเป็นเขตประเทศภูฏาน” อาลีชี้มือ

แม่น้ำกว้าง ไม่เพียงแบ่งป่าออกเป็นสองส่วน แต่ยังทำหน้าที่เป็นชายแดนระหว่างสองประเทศด้วย

มานัสเป็นป่าผืนใหญ่มีพื้นที่ราว 391 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี ค.ศ.1990

เป็นป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งเบงกอล

พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงถูกกันไว้สำหรับเป็นพื้นที่อาศัยของเสือ และการทำงานวิจัย

“ฝูงนี้มีสมาชิกเยอะ เป็นเจ้าถิ่น บางทีก็ลงมารื้อของ เดินเล่นบนหลังคาประจำ” อาลีพูดถึงค่างที่กำลังมองเราอย่างไม่ละสายตา

ดูเหมือนค่างไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก

จะมีนิสัยไม่ต่างกันนัก

“เราข้ามไปฝั่งโน้นได้ไหม” ผมถามอาลี

เขามองหน้า ยิ้มๆ

“ปกติไม่ได้หรอก แต่ฝั่งโน้นมีค่างอีกชนิด คือ ค่างสีทอง เราจะไปดูก็ได้”

เขาพาเราข้ามแม่น้ำ โดยเรือไม้ลำเล็กจอดที่ฝั่งซึ่งเป็นก้อนหินระเกะระกะ และพาเดินไปถึงแนวป่าเชิงเขา

“เลยไปจากนี้ไม่ได้แล้ว” อาลีบอก

ค่างสีทองฝูงหนึ่งกระโจนโครมครามหนีเมื่อเห็นเรา

“คนที่นี่ไม่มีใครทำร้ายค่าง เพราะถือว่าเป็นชีวิตศักดิ์สิทธิ์” อาลีเล่าถึงความเชื่อ

เราเดินกลับมาที่ชายหาด หินก้อนเล็กๆ รูปทรงกลมทรงเหลี่ยม หลายรูปทรง ผมก้มเก็บถือไว้สักพักก็โยนลงพื้นเช่นเดิม

“ผมอยากไปที่นั่น” ผมชี้ที่แนวเขาทะมึน

“คุณต้องทำเรื่องขออนุญาต ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่” เขาพูดต่อ “ไม่คุณก็ต้องเป็นอย่างตัวนั้น”

อาลีชี้ไปที่ควายร่างกำยำตัวหนึ่ง ที่กำลังเดินข้ามน้ำจากฝั่งภูฏานมาฝั่งอินเดีย

“สัตว์ป่าไม่มีเขตแดนนะครับ” เขาพูดยิ้มๆ

ภูเขา แม่น้ำ อยู่เช่นนี้มาเนิ่นนาน

คนเท่านั้นที่สร้าง “พรมแดน”

พื้นที่เทือกเขาบูโด มีลักษณะเป็นป่าฝน สภาพปกติคือรกทึบ สูงชัน

อากาศร้อนชื้น ท่ามกลางแดดจัดจ้า พร้อมจะเปลี่ยนเป็นมืดครึ้ม และฝนตกได้ตลอดเวลา

ที่นี่มีความพิเศษคือ เป็นแหล่งอาศัยของนกเงือก 6 ชนิด จากจำนวน 13 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย

ภูเขารกทึบ แต่บางส่วนที่มองเห็นเขียวๆ จากที่ไกลๆ เป็นสวนยางพารา

ผู้คนใช้ประโยชน์จากภูเขามายาวนาน เปรียบเสมือนสวนหลังบ้าน ที่จะเข้าไปหาอาหาร เปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำกิน รวมทั้งนำไม้ออกมาใช้

คนที่นี่คุ้นชินกับเสียงแหวกอากาศจากปลายปีกของนกขนาดใหญ่อย่างนกเงือก

เช่นเดียวกับการได้ยินเสียงระเบิด และเสียงปืน

ช่วงปีที่ผมอยู่ที่นั่น เหตุการณ์ความไม่สงบคล้ายจะรุนแรง

แต่ผมก็พบว่า ผมได้อยู่ท่ามกลางเพื่อนๆ อย่างอบอุ่นและปลอดภัย

ทุกวันเราได้ยินเสียงอาซานจากมัสยิด

ตอนเย็น หลังลงจากภูเขาถึงบ้าน นั่งปลดทากตรงบันได เราต้องสำรวจด้วยว่า ค่างเพื่อนรักทำอะไรไว้บ้าง

ทำงานอยู่ในป่ามาระยะเวลาหนึ่ง

ผมพอจะเข้าใจได้ว่า สัตว์ป่าไม่ว่าจะอยู่ที่ใด พวกมันต่างล้วนมีสภาพไม่ต่างกัน พบกับปัญหาเหมือนๆ กัน

การเดินทางทำให้รู้ว่า ในความเป็นจริง โลกนี้มีพรมแดน

และเป็นความจริงอีกเช่นกัน ที่ความขัดแย้งมักเกิดขึ้นในบริเวณนี้เสมอๆ

หากมีดินแดนแห่งความสุขสงบอยู่จริง

ก็อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก

ว่า เราไม่สามารถข้าม “พรมแดน” ไปได้

บางดินแดน เราก็ไม่สามารถไปถึง

ไปไม่ถึง แม้แต่ในความฝัน