33 ปี ชีวิตสีกากี (36) | ครูไม่เคยสอนให้ซ้อมผู้ต้องหา แต่ทำไมจึงมีเหตุการณ์เช่นนั้น

ความมุ่งหมายในการซักถามของพนักงานสอบสวน เพื่อต้องการตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษไม่ให้จับแพะ

แนวทางในการซักถาม (Scope) ต้องจัดเตรียมในการซักถามทุกครั้ง ไม่ให้เกิดความผิดพลาด ต้องมีการเตรียมทางด้านกฎหมายด้วย เมื่อมีผู้เสียหายมาเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง เราต้องพิจารณาว่าเป็นเรื่องอะไร และซักถามให้ตรงกับความทุกข์ร้อนของผู้เสียหาย และสืบสวนผู้เกี่ยวข้องว่าใครรู้ตัวผู้กระทำผิด ผู้สมคบ พยาน

หลักสำคัญในการสืบสวน มี 6 ประการ ซึ่งต้องเตรียมไว้ คือ

1. Who ใคร ผู้เกี่ยวข้องในคดีมีใครบ้าง

2. What อะไร ผู้เกี่ยวข้องทำอะไรบ้าง

3. When เมื่อไร คดีเกิดเมื่อไร

4. How อย่างไร คนร้ายกระทำการอย่างไร

5. Why ทำไม สาเหตุอะไร ทำไมต้องทำอย่างนั้น

6. Where ที่ไหน เหตุเกิดที่ไหน

ลักษณะของบุคคล

1. บุคคลที่เราซักถาม ยังอยู่ในลักษณะหวาดกลัว มีสติสมบูรณ์หรือไม่ มีความทรงจำดีเหมือนเดิมหรือไม่

2. ลักษณะการแต่งกายผู้ถูกซักถามเป็นอย่างไร

3. ความทรงจำ มีมากน้อยเพียงใด ความรู้ดีหรือไม่

4. ผู้ที่จะถามนั้น หย่อนสมรรถภาพในสัมผัสทั้ง 5 หรือเปล่า (ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย)

5. สภาพที่อยู่ในที่เกิดเหตุ คือ ผู้นั้นจำสภาพที่เกิดเหตุ ตลอดจนอาณาบริเวณที่เกิดเหตุ วัน เวลา อันยาวนาน ความจำจะเหมือนเดิมหรือไม่ (การล่วงเลยแห่งเวลา)

จะเห็นได้ว่า ถ้าหากเจ้าหน้าที่ทำงานมีความต้องการให้สังคมมีความสงบสุข ประชาชนมีความปลอดภัย ประเทศชาติห่างไกลจากภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ เจ้าหน้าที่ต้องใช้วิชาชีพของตนที่เล่าเรียนมาอย่างมืออาชีพ

ซึ่งอาจารย์ที่มาบรรยายก็ไม่เคยสอนให้ใช้วิธีซ้อมผู้ต้องหาหรือทรมานให้ผู้ต้องหารับสารภาพเลย แต่ทำไมจึงมีเหตุการณ์เช่นนั้น เมื่อผมไปทำงาน มีประสบการณ์มากมาย จะนำมาเล่าให้ฟังกันต่อไป

 

สถานที่ที่จะทำการซักถาม ต้องเลือกสถานที่ให้เหมาะสมเพราะอาจเกิดความอาย หรือกลัวอิทธิพล (สำหรับพยาน) ส่วนผู้ต้องหานั้น ควรเลือกสถานที่อำนวยให้เขา เพราะอาจจะกระทำผิดจากความจำใจ

บุคคลที่จะซักถาม ต้องมีรายละเอียด คือ

– ต้องมีประวัติพอสมควร เป็นใคร อยู่ที่ไหน มีอาชีพอะไร เพื่อเอาไว้ป้องกันผู้ต้องหาหลอก

– ข้อความที่ควรรู้ ต้องรู้เรื่องเดิม ความเป็นมาต่างๆ

– ความรู้ เกี่ยวกับกรณีความเกี่ยวพัน สาเหตุเรื่องเดิมบางอย่าง

ในขณะซักถามต้องมีจิตวิทยาในการซักถาม

1. ทำตัวให้ผู้ถูกซักถาม เชื่อ หรือไว้วางใจ ว่า เมื่อพูดอะไรออกมาแล้วจะไม่มีพิษภัยและเกิดความเชื่อมั่นผู้ซักถาม

2. พิจารณาสังเกตดูกิริยาท่าทางของผู้ถูกซักถามว่า พูดเท็จ พูดจริง หรือแสดงท่าทางไม่น่าเชื่อ

3. พิจารณาดูเหตุผล

วิธีซักถามในทางจิตวิทยา มี 2 วิธี

1. การซักถามด้วยความเห็นใจต่อผู้ถูกซักถาม ได้ผลมาก

2. ถามอย่างเข้มงวด เมื่อไม่มีวิธีอื่น และต้องใช้กับผู้ที่เคยต้องโทษมาก่อน

 

เมื่อผมมียศร้อยตำรวจโท ผมได้รับมอบหมายให้สอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นมือปืนรับจ้าง ซึ่งถูกจับกุมตัวมา และให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ไม่ว่ารองผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัด หรือสารวัตรสืบสวนสอบสวน นำตัวไปสอบสวน ยังไงๆ ผู้ต้องหาคนนี้ก็ไม่ยอมปริปากรับสารภาพแต่อย่างใด พยานหลักฐานเท่าที่มีก็ยังไม่มั่นคงเพียงพอจนมั่นใจได้ว่าศาลจะพิพากษาลงโทษได้

ภาระที่ยิ่งใหญ่จึงตกมาที่ผม

เมื่อสารวัตรใหญ่สั่งให้ผมไปสอบสวน ผมได้ใช้จิตวิทยาเล่นกับผู้ต้องหาคนนี้ตรงๆ อย่างจงใจ ผมไม่ได้สัมผัสแตะต้องตัวผู้ต้องหาแม้แต่นิดเดียว ไม่มีการทรมาน สุดท้ายผู้ต้องหายอมเปิดปากสารภาพอย่างหมดเปลือกว่าเป็นมือปืนที่ลงมือยิงสองสามีภรรยาจริง เป็นคดีใหญ่ของจังหวัดระนอง ศาลได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิตแต่ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต ด้วยเหตุแห่งคำรับสารภาพ

คืนนั้นผมสอบสวนทั้งคืนโดยศีรษะไม่ได้แตะหมอน และผมไม่ได้นอนติดต่อกันถึง 2 คืน จนทำสำนวนการสอบสวนสั่งฟ้องสำเร็จเรียบร้อย

ถ้าสนใจต้องติดตาม

 

เทคนิคในการซักถาม

– การซักถามโดยตรง มีหลักฐานอยู่ในมือแล้ว ใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง

– ซักถามโดยทางอ้อม พูดคุยเรื่องอื่นจนตายใจ แล้วถามโดยไม่รู้ตัว

– ความละเอียดในการซักถาม อันไหนถามก่อน-หลัง ให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย เช่น วัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ บุคคลในที่เกิดเหตุ เกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร

– การควบคุมการซักถาม ไม่ถามนอกเรื่อง ไม่ชี้ปมด้อยของผู้ที่ซักถามเพราะจะทำให้เกิดอารมณ์ไม่ดี

– การโต้เถียง ขณะซักถามอย่าโต้เถียงจนเป็นการทะเลาะกัน

– เรื่องระหว่างการซักถาม บางครั้งเราจะไม่ทำเป็นเอาใจใส่ เพราะผู้ถูกซักถามจะปิดบังเรื่องที่เราจะรู้ เช่น การพูดเรื่องไม่เป็นเรื่อง เมื่อเราถามเราต้องไม่สนใจ

– เมื่อมีผู้ต้องหาหลายคน ต้องแยกห้องขัง และซักถามที่ละคน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงแล้วนำมายันกับผู้ปฏิเสธ

หัวข้อหลักการสืบสวนตามที่เสนอมานั้น เวลาเรียนมันจะแบ่งเป็นข้อๆ เพื่อความชัดเจน แต่เวลาลงมือปฏิบัติ เมื่อมีประสบการณ์มากๆ จะใช้และเป็นไปโดยอัตโนมัติ รวมทั้งพลิกแพลงปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ต้องเลือกวิธีให้เหมาะกับแต่ละเหตุการณ์หรือแต่ละบุคคล ให้มีความยืดหยุ่นมากๆ

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจารย์บรรยายในชั้นเรียนนั้นสำคัญมาก เป็นพื้นฐานในการทำงานที่ดี ถึงจะไม่สนุกเหมือนตอนทำคดี หรือเมื่อไปทำงานคิดว่ามันน่าจะสนุก มันกลับไม่สนุก เพราะเมื่อเกิดคดีสำคัญๆ จะเกิดบรรยากาศที่กดดันมาก ต้องทำงานแข่งกับเวลา มีสื่อคอยติดตาม บ่อยมากที่ไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ พบปัญหาอุปสรรคที่จะต้องแก้ไขตลอด หรือเกิดข้อผิดพลาดของทีมงาน หลักฐานสูญหาย ถูกทำลาย บุคคลที่ต้องการนำมาเป็นพยานหลบหนีเพราะ ถูกผู้มีอำนาจมีเส้นสายสัมพันธ์กับคนร้ายบีบ คนวงในเอาความลับในคดีไปเปิดเผยจนเสียหาย และรู้สึกตีบตันไปหมด

แต่พนักงานสืบสวนสอบสวนไม่มีสิทธิ์ที่จะแสดงอาการท้อแท้ออกมาให้เห็น เพราะนี่คือภาระหน้าที่ และยังมีผู้ที่รอคอยความช่วยเหลือ สังคมกำลังรอคอยฟังผลการทำงานอยู่ จึงยอมแพ้ไม่ได้

และก่อนที่จะมาเป็นพนักงานสืบสวนที่ดีได้นั้น ต้องมาจากการสร้างนักสืบที่ดีขึ้นมาให้ได้ก่อน เพราะมันสำคัญและเป็นพื้นฐาน จึงต้องสร้างคุณสมบัติเหล่านี้ให้ได้ คือ

คุณสมบัติของผู้ที่จะซักถาม

1. บุคลิกภาพที่ดี ท่วงทีวาจา การใช้คำพูด ตลอดจนกิริยาวาจาในการซักถามให้เหมาะสมกับกรณี

2. มีจิตใจเข้มแข็ง เชื่อมั่นในตัวเอง ว่าการซักถามอยู่ในแนวที่ต้องการ หรือต้องตามวัตถุประสงค์ของผู้บังคับบัญชาหรือไม่

3. มีความอดทน

4. มีความรอบรู้ในเรื่องที่จะซักถาม ได้จากการตระเตรียม

5. ความรู้ในเรื่องภาษา ประเพณีที่ที่เราไปอยู่

6. การเก็บรักษาความลับ

7. อย่ามีอคติในการซักถาม เราจะต้องตั้งตัวเป็นกลางในการซักถาม อย่าให้มีเหตุอื่นมาจูงใจ

ขณะที่มีการดำเนินการซักถาม

1. เมื่อเตรียมการซักถามแล้ว ต้องเตรียมวัตถุพยาน พยานบุคคลให้พร้อม

2. พิจารณาคำตอบ ว่าขัดกับเหตุผลที่เราได้มาหรือไม่

3. ผลดี ผลเสียในการซักถาม ต้องเกิดผลดีในรูปคดี เราก็ต้องซักถาม ถ้าหากมีพยานรู้เห็นหรือวัตถุพยาน เราก็ไม่จำเป็นต้องซักถามให้ผู้ต้องหาไปให้คำให้การในชั้นศาล

การใช้ตรรกวิทยาและเหตุผล

การซักถามที่ดี ควรมีเหตุผล โดยใช้ตรรกวิทยามาพิจารณาว่าอันไหนควรเชื่อถือหรือไม่