AI บำบัดทุกข์ บำรุงสุข

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

AI บำบัดทุกข์ บำรุงสุข

 

เทคโนโลยี AI มีคุณประโยชน์หลายอย่างต่อมนุษย์ อย่างการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย ช่วยแพทย์วินิจฉัยโรค ช่วยแบ่งเบางาน ดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้เราในหลากหลายด้านตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้งาน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ามนุษย์เราจะหาทางโยงเข้าสู่เรื่องใต้เข็มขัดได้เสมอไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม

โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใหญ่ๆ มีนโยบายการควบคุมคอนเทนต์ลามกอย่างเข้มงวดและมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งเพราะบังคับใช้มานานหลายปี

แต่จะเข้มแข็งยังไงก็ตามไม่ทันคอนเทนต์ลามกในรูปแบบใหม่ที่ผู้สร้างเรียกว่าเป็น “แชตบ็อตวาบหวิวที่ใช้ขุมพลังของปัญญาประดิษฐ์”

บริษัทสตาร์ตอัพหลายแห่งเริ่มให้บริการแชตบ็อตสำหรับผู้ใหญ่และระดมซื้อโฆษณาโปรโมตบนโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram Facebook และ TikTok โดยสรรหาภาพและคำโฆษณาแบบใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของระบบ

อย่างเช่น ใช้ภาพการ์ตูนเรื่องดังที่เด็กๆ ชื่นชอบ หรือภาพการ์ตูนผู้หญิงใส่เสื้อรัดรูป และใช้คำโฆษณาเป็นตัวย่อที่แม้จะไม่ได้สื่อถึงเรื่องเพศตรงๆ แต่ก็เป็นคำย่อที่คนบนอินเตอร์เน็ตเข้าใจตรงกัน

อย่างคำว่า NSFW เป็นต้น (ย่อมาจาก Not Safe For Work หรือไม่ปลอดภัยที่จะเปิดดูในที่ทำงาน)

การใช้ AI มาให้บริการทางเพศออนไลน์นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการใช้งานเทคโนโลยีในยุคที่ AI ได้รับความนิยมสุดๆ

ผู้พัฒนา AI หลายรายเห็นช่องทางในการสร้างรายได้โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนที่มีความหลงใหลพร้อมมีความสัมพันธ์รักโรแมนติกกับตัวละครดิจิทัล

 

โฆษณาวาบหวิวแบบใช้แชทบ็อท AI บนโซเชียลมีเดียสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับมนุษย์ที่ทำงานให้บริการทางเพศอย่างถูกต้องว่านี่คือการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน เนื่องจากนโยบายของโซเชียลมีเดียไม่อนุญาตให้คนที่ประกอบอาชีพนี้สามารถโฆษณาตัวเองได้

อันที่จริงแล้วการแบนคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมบนโซเชียลมีเดียไม่ได้มีเพียงแค่ภาพโป๊เท่านั้น แต่ยังลามไปถึงภาพที่แม้จะเห็นเนื้อหนังมังสาอยู่บ้างแต่ก็ไม่ใช่คอนเทนต์ลามก

อย่างเช่น ภาพการให้นมลูก ภาพบาดแผลจากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม หรือคอนเทนต์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา อย่างเช่น ภาพการให้กำเนิดบุตร เป็นต้น

ย้อนกลับมาที่ AI ที่ให้บริการด้านเพศ จริงๆ แล้วแชตบ็อตที่ชวนคุยเรื่องเพศได้ไม่ใช่แนวคิดอะไรใหม่เอี่ยมเลย

แต่หลายๆ เจ้าอ้างว่าแชตบ็อตของตัวเองมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพราะใส่ AI ลงไปด้วยทำให้ได้ความสามารถใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยมีมาก่อน

 

เว็บไซต์ NBC ทดลองใช้บริการไป 3 เจ้า พบว่าบางเจ้าให้ผู้ใช้งานพิมพ์ข้อความเพื่อสั่งให้ AI วาดภาพที่อยากเห็นขึ้นมาให้ (แน่นอนว่าเป็นภาพประเภท NSFW)

อีกเจ้าไม่ต้องเสียเวลามาพิมพ์อะไรแต่มีสตอรี่เตรียมไว้ให้ เพียงแค่คลิกเลือกเส้นเรื่องที่ชอบเท่านั้นก็พอ

ในขณะที่เจ้าที่สามให้ผู้ใช้งานออกแบบคนเสมือนจริงขึ้นมา จะสร้างขึ้นมาให้เป็นเพื่อนก็ได้หรือจะให้เป็นมากกว่าเพื่อนก็ได้เหมือนกัน

โดยรวมแล้วฉันคิดว่าคนทั่วไปไม่น่าจะมีปัญหากับ AI ที่ให้บริการวาบหวิวเพราะเข้าใจดีว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ห้ามกันได้อยู่แล้ว

แต่จะทำอย่างไรให้ AI ประเภทนี้ได้รับการควบคุมด้วยมาตรฐานและกฎกติกาเดียวกันกับเนื้อหาทางเพศอื่นๆ

และไม่ไปปรากฏให้กลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นเด็กและเยาวชนได้เห็นและเข้าถึงได้เข้าก่อนวัยอันควร

ก่อนจะกังวลไปว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้ลูกของเราเสียคน นำเราเข้าสู่ดิสโทเปียหรือสังคมที่น่าหวาดกลัวก็ต้องบอกว่าเทคโนโลยีนี้ยังสร้างประโยชน์ได้อีกหลายรูปแบบมาก

อย่างงานวิจัยล่าสุดที่บอกว่า AI สามารถนำมาใช้เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงของการที่วัยรุ่นจะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ด้วย

และสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำกว่าเครื่องมือที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

 

การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของวัยรุ่น นักวิจัยจาก University of New South Wales Sydney พบว่าถ้าเราใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) มาช่วยเราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้น

แมชชีนเลิร์นนิ่งช่วยประเมินได้ว่าวัยรุ่นคนไหนมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายหรือฆ่าตัวตายในรูปแบบของการให้คะแนนเพื่อส่งให้แพทย์ที่เป็นมนุษย์ประเมินและดำเนินการต่อ

ทีมนักวิจัยยังพบอีกว่าที่เราเคยเข้าใจว่าวัยรุ่นฆ่าตัวตายเกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิตล้วนๆ นั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดคือสิ่งแวดล้อมที่เด็กคนนั้นๆ อยู่ต่างหาก

อีกการวิจัยหนึ่งโดย University of Santiago de Compostela ในสเปนพบว่า AI อย่าง ChatGPT ยังมีประโยชน์อีกเรื่องหนึ่งก็คือมันสามารถช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีนได้

นักวิจัยลองถามคำถามยอดฮิต 50 ข้อเกี่ยวกับวัคซีนโรคโควิด-19 โดยได้ใส่ข้อมูลที่เป็นเรื่องปลอม เรื่องหลอก หรือเรื่องที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนเข้าไปด้วย อย่างเช่น วัคซีนทำให้เกิดอาการ Long Covid จริงไหม คนกลุ่มไหนฉีดวัคซีนได้หรือไม่ได้ แล้วพบว่า ChatGPT ได้คะแนนด้านความแม่นยำไป 9 คะแนนเต็ม 10 โดยมันสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ใช้งานได้

ส่วนคะแนนที่พลาดไปนั้นไม่ใช่ให้ข้อมูลเท็จ แต่ให้ข้อมูลถูกที่เหลือช่องว่างเยอะไปบ้างเท่านั้น

เมื่อ ChatGPT สามารถให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำในภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่ใช้คำศัพท์ทางเทคนิคมากเกินไป ก็จะส่งผลให้ผู้ใช้งานมีความเชื่อมั่นในวัคซีนมากขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อข้อมูลปลอมซึ่งหากจำได้ช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ ข้อมูลที่มีล้วนสะเปะสะปะไปหมด เชื่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จนทำให้คนจำนวนมากกลัวการฉีดวัคซีนโควิดไปเลย

ฉันคงไม่จำเป็นต้องสรุปให้ว่า AI ก็เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ที่มีทั้งประโยชน์และโทษเพราะนี่เป็นแนวคิดพื้นฐานที่คุณผู้อ่านทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้ว

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับฉันก็คือยูสเคสหรือการใช้งานจริงในรูปแบบต่างๆ ว่ามนุษย์เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำ AI มาใช้ทำอะไรบ้าง

ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นไปเพื่อการบำเรอความใคร่หรือช่วยชีวิตเพื่อนร่วมโลกก็ตาม