จิตต์สุภา ฉิน : “กรินช์บอต” ตัวป่วนคริสต์มาสยุคดิจิตอล

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ปลายปีเป็นช่วงเวลาแห่งเทศกาลอันรื่นรมย์ที่นำพาของขวัญ ความสุข การเฉลิมฉลอง มาสู่ทุกคน และเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกครอบครัวได้มาอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา โดยที่สัญลักษณ์ของคริสต์มาสที่เราต่างก็รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็เช่น ซานตาคลอส กวางเรนเดียร์ หิมะ สโนว์แมน กล่องของขวัญ เป็นต้น

ทว่าท่ามกลางเสียงหัวเราะและบทสนทนาอันอบอุ่นนั้น ก็มีตัวละครอีกตัวหนึ่งที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์มาสไปด้วยแบบงงๆ ทั้งๆ ที่ตัวละครตัวนี้โดยเนื้อแท้แล้วเกลียดคริสต์มาสและการฉลองคริสต์มาสในทุกรูปแบบ

ตัวละครตัวนี้มีขนฟูฟ่องรอบตัว สีเขียวอื๋อ และเรามักจะเห็นเขา (หรือต้องเรียกว่ามันก็ไม่รู้) ปลอมตัวเป็นซานตาคลอสด้วยชุดยูนิฟอร์มขาวแดงอันคุ้นตา

ใช่แล้วค่ะ ตัวละครผู้เกลียดคริสต์มาสที่เป็นสัญลักษณ์ของคริสต์มาสไปแล้วก็คือ “เดอะกรินช์” ตัวละครจากนิยายของ ดร.ซูส และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง How The Grinch Stole Christmas หรือชื่อไทยว่า “เดอะกรินช์ ตัวเขียวป่วนเมือง” นั่นเอง

ไม่ว่าในภาพยนตร์ เดอะกรินช์จะป่วนคริสต์มาสด้วยวิธีไหนบ้าง แต่ยุคนี้แล้ว เดอะกรินช์ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

วันนี้ซู่ชิงจะมาชวนทำความรู้จัก “กรินช์บ็อต” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งให้กับโปรแกรม ซึ่งคนเขียนโปรแกรมเนี่ยร้ายแสนร้าย เขียนขึ้นมาเพื่อทำลายความหวังและความฝันของเด็กๆ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสแท้ๆ

ดังนั้น จะให้ชื่อว่าเป็นกรินช์บ็อต ตัวทำลายคริสต์มาส ก็คงไม่แปลกอะไร

 

กรินช์บ็อตได้ชื่อนี้มาเพราะว่าหน้าที่ของซอฟต์แวร์ตัวนี้คือการไล่หาโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษบนเว็บไซต์ขายของออนไลน์ทั้งหลาย โดยจะพุ่งเป้าไปที่ของเล่นสำหรับเด็ก เนื่องจากในช่วงเทศกาลแบบนี้ของเล่นหลากหลายประเภทเป็นสิ่งที่ฮ็อตฮิตอินดีมานด์ที่สุด

เมื่อพบว่าเว็บไซต์ไหนมีของเล่นเจ๋งๆ ราคาพิเศษ เป็นที่ต้องการจากคนหมู่มาก ก็จะเข้าไปกวาดซื้อมาจนเกลี้ยง และไม่ได้กวาดเอามาแจกจ่ายให้เด็กๆ เหมือนกับที่ซานตาคลอสทำนะคะ

แต่เอาไปขายโก่งกำไรต่อบนเว็บไซต์อย่างอีเบย์หรืออเมซอนต่างหาก

กรินช์บ็อตจะคอยไล่ตรวจสอบเว็บไซต์ขายของต่างๆ เพื่อตามหาของเล่นยอดนิยมราคาพิเศษ ซึ่งการตระเวนตรวจสอบแบบนี้สามารถทำได้ในสปีดที่เร็วชนิดที่มนุษย์มิอาจจะเทียบเคียงได้เลย แถมยังสามารถสั่งซื้อได้หลายๆ ออเดอร์พร้อมๆ กันด้วย

บางทีบ็อตก็จะไปฝังตัวอยู่ตามโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์เพื่อคอยหาข้อมูลว่าร้านค้าออนไลน์ไหนประกาศสินค้าลดราคาบ้าง หรือหากเว็บไหนประกาศเวลาเตรียมพร้อมจะเอาสินค้าขึ้นเว็บ บ็อตพวกนี้ก็จะรู้ล่วงหน้าก่อนมนุษย์และพร้อมวางออเดอร์ได้เร็วสายฟ้าแลบ

ทำกันแบบนี้ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือของเล่นยอดฮิตทั้งหลายขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว

และเมื่อถูกนำไปขายต่อบนเว็บไซต์อื่น ราคาของมันก็จะถูกโก่งขึ้นไปหลายเท่าตัวจนแทบไม่น่าเชื่อว่าราคาดั้งเดิมของมันจะแตกต่างกันได้ถึงเพียงนั้น

ตัวอย่างสินค้าที่ถูกกรินช์ฉกไปและนำไปบวกราคาอย่างบ้าคลั่ง ก็อย่างเช่น “ฟิงเกอร์ลิงส์” ตุ๊กตาลิงตัวเล็กๆ ที่ห้อยโหนลงมาจากนิ้วของเด็กๆ ได้ ซึ่งฟิงเกอร์ลิงส์ราคาขายจะอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ หรือประมาณห้าร้อยบาทเท่านั้น แต่ราคาขายต่อนั้นสูงถึงเกือบสี่หมื่นบาทเลยทีเดียว (โอ้โห)

ไม่ใช่แค่ฟิงเกอร์ลิงส์เท่านั้นที่ประสบชะตากรรมแบบนี้ แต่ของเล่นน่าเล่นอื่นๆ อย่างเช่นตุ๊กตา L.O.L. Surprise! ซึ่งเป็นลูกบอลห่อกระดาษสีสันสดใส เด็กๆ จะต้องแกะห่อออกทั้งหมดเจ็ดชั้นและจะพบกับของเล่นชิ้นเล็กๆ ทั้งแอ็กเซสซอรี่ สติ๊กเกอร์ เสื้อผ้าตุ๊กตา และมีตุ๊กตาอยู่ในชั้นสุดท้าย (ซึ่งซู่ชิงดูคลิปวิดีโอแล้วน่ารักน่าเล่นมากๆ) หรือคอนโซลเกม NES Classic Edition ที่นินเท็นโดออกมาวางขายในจำนวนจำกัด

ทั้งหมดนี้ราคาขายตอนแรกไม่ได้แพงอะไรเลย อย่างตุ๊กตา L.O.L Surprise ก็แค่ตัวละสิบดอลลาร์ ในขณะที่คอนโซลเกมนินเท็นโดแค่แปดสิบดอลลาร์เท่านั้น แต่ราคาขายต่อกลับพุ่งไปเป็นหมื่นดอลลาร์อย่างไม่น่าเชื่อ

 

เมื่อปัญหามันโกโซบิ๊กขนาดนี้ก็เลยต้องมีหัวหอกที่ออกมานำขบวนเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องลงมือทำอะไรบางอย่าง มิเช่นนั้นก็จะเหมือนปล่อยให้เดอะกรินช์ขโมยคริสต์มาสไปจากเด็กๆ ที่เฝ้ารอของขวัญอย่างใจจดใจจ่อมาตลอดทั้งปี

หนึ่งในคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนคือ วุฒิสมาชิกนิวยอร์ก ชัค ชูเมอร์ ที่บอกว่านี่มันคือการขโมยเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ชัดๆ

ชนชั้นกลางต่างก็พยายามกระเบียดกระเสียรเก็บหอมรอมริบเงินมาตลอดทั้งปีเพื่อจะได้ซื้อของเล่นดีๆ ให้ลูกตัวเองในช่วงปลายปี แต่ต้องมาเจอกับคนที่ใช้เทคโนโลยีตุกติกแบบนี้

ดังนั้น จึงมีการเรียกร้องให้เว็บไซต์ขายปลีกออนไลน์ทั้งหลายลงมือทำอะไรบางอย่าง บล็อกบ็อตตัวป่วนคริสต์มาสเหล่านี้ไปให้หมดสิ้น

และนำคริสต์มาสกลับคืนมาสู่ประชาชนทุกคน!

จะว่าไปนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้โปรแกรมแบบนี้มาเป็นเครื่องมือในการค้ากำไรเกินควร

เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการทำแบบเดียวกันนี้กับตั๋วละครบรอดเวย์หรือคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ที่คนจำนวนมากอยากดูมาแล้ว

แต่ตอนนี้บรรดาคนที่อยู่เบื้องหลังโปรแกรมเหล่านี้กลับมุ่งเป้าไปที่ของเล่นแทน ซึ่งการแพร่ระบาดของบ็อตพวกนี้นี่แหละที่เป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้เวลาเราเปิดเว็บไซต์หลายๆ เว็บ เรามักจะได้เห็นระบบที่เรียกว่า CAPTCHA ที่จะให้เราพิมพ์ตัวอักษรตามภาพที่เห็น ซึ่งอาจจะเป็นตัวอักษรบิดๆ เบี้ยวๆ มีแบ๊กกราวด์หลากสี

อันนี้เขาใช้เพื่อจะได้แยกคนออกจากโปรแกรมได้นั่นเองค่ะ

หลังๆ ก็พัฒนาไปเป็นภาพที่จะให้เราคลิกตามโจทย์ที่ให้มา อย่างเช่น คลิกว่าในภาพที่แบ่งออกเป็นช่องๆ ช่องไหนมีรถยนต์อยู่ในภาพบ้าง หรือภาพ GIF ไปจนถึงฟังเสียงแล้วพิมพ์ตามก็มี

แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือจะทำให้ลูกค้ารู้สึกรำคาญใจ ฉันจะต้องมาคลิกอะไรมากมายเนี่ย ยิ่งไม่รู้ที่มาที่ไปว่าให้ทำไปเพื่ออะไรก็ยิ่งพาลจะหงุดหงิดไปได้ง่ายๆ

ในระหว่างนี้สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือตรวจสอบราคาสินค้าที่เราอยากซื้อให้ดีๆ เสียก่อน ว่าราคาขายที่แท้จริงมันเท่าไหร่กันแน่ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกรินช์บ็อตที่ไปสอยของราคาไม่แพงมาค้ากำไรเกินควร

แต่ก็มีการคาดการณ์นะคะว่าในอนาคตอันใกล้ ฝั่งลูกค้าก็จะเริ่มตอบโต้บรรดากรินช์บ็อตเหล่านี้ด้วยการเขียนบ็อตของตัวเองขึ้นมาบ้าง แล้วคราวนี้ก็จะมีแต่บ็อตสู้รบปรบมือแย่งชิงโปรโมชัjนสินค้าดีๆ กันเต็มอินเตอร์เน็ตไปหมด

ใครไม่มีเครื่องมือพวกนี้ก็อาจจะทำอะไรไม่ได้ ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ต่อไป

นี่แหละค่ะ เดอะกรินช์แห่งยุคดิจิตอล ก็ต้องทำลายบรรยากาศรื่นเริงด้วยวิธีดิจิตอลๆ แบบนี้แหละ