วิช่วลคัลเจอร์/พิมพ์ดีดกับการพิชิตดินแดน (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

พิมพ์ดีดกับการพิชิตดินแดน (1)

ใน “รัฐกับความเร็ว : การคมนาคมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม” (ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2559) วิภัส เลิศรัตนรังษี ผู้เขียนได้บอกว่า ความหมายดั้งเดิมของคําว่า “คมนาคม” ครอบคลุมทั้งการสื่อสารและการขนส่ง ทั้งรถไฟและโทรเลขเป็น “สิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่ที่กําเนิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจํานวนมากได้ถูกนําไปใช้ทั่วไปทั้งในประเทศอุตสาหกรรม ประเทศเกษตรกรรม และประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม”

ราวปี พ.ศ.2435 พิมพ์ดีด ในฐานะอุปกรณ์คมนาคมแบบหนึ่ง ถูกนำเข้ามาภายหลังจากการวางรางรถไฟและสายโทรเลขไม่นาน

ขณะนั้น สยามกำลังมุ่งไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านระเบียบบริหารแผ่นดิน การติดต่อสื่อสารระหว่างกรุงเทพฯ หรือศูนย์กลางอำนาจแบบใหม่กับมณฑลต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ กลายเป็นหัวใจของระบบนี้

คล้ายตัวพิมพ์ในหนังสือ ตัวพิมพ์ดีดและเอกภาพของอักษรที่จดจารโดยเครื่องจักรยังสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่าลายมือ เอกสารราชการเหล่านี้ไม่เพียงทำให้งานเขียนแลดูดี แต่มีอาญาสิทธิ์เหนือกว่าหนังสือท้องตราหรือใบบอก และประกาศความเหนือกว่าเครือข่ายแบบดั้งเดิม

พิมพ์ดีดได้เสริมความแข็งแกร่งให้แก่เครือข่ายการสื่อสารหรือคมนาคม และเป็น “หน้าตา” ของระบบราชการ หรือระเบียบบริหารแผ่นดินแบบใหม่

สิ่งแรกที่น่าประทับใจ น่าจะเป็นความสวยงามและทันสมัย ตัวพิมพ์ที่จดจารโดยเครื่องจักรนั้น มีความเป็นชุดเดียวกันและเคร่งครัดในมาตรฐานการสะกดมากกว่าลายมือ

แต่ที่สำคัญ คือ การแพร่กระจายไปทั่วราชอาณาจักรอย่างรวดเร็ว ราว พ.ศ.2438 บทความของนิตยสารวชิรญาณ เรื่อง “สนทนากับเสมียนดีดเครื่องไทป์ไรเตอร์” มีเนื้อหาเกี่ยวกับพิมพ์ดีด ผู้เขียนเล่าว่าได้ยินเสียงในห้องข้างๆ แต่แรกเขาคิดว่าเป็นดนตรีหรือเสียง “ดีดหีบเพลงแบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่าเปียนา” จึงเข้าไปพูดคุยกับพนักงานพิมพ์ดีดคนนั้น

ผู้เขียนแสดงความตื่นเต้นกับความรวดเร็วของการผลิตเอกสารด้วยเครื่องจักร นั่นคือราววันละ 80 หน้า และเมื่อต้องพิมพ์ทีละหลายๆ ฉบับ หรือแจกจ่ายไปหลายแห่ง ก็สอดกระดาษก๊อบปี้ในระหว่างการพิมพ์ ซึ่งช่วยให้ทำสำเนาได้ทีละ 4-5 แผ่น ถ้อยคำของเขาคือ “รวดเร็วไม่น่าจะเชื่อ ทั้งตัวหนังสือที่สอาดงดงาม จึงถามว่าพ่อเขียนหนังสือไม่เปนหรือจึงมานั่งดีดเอาดังนี้ เขาตอบว่า เขาเขียนเปนแต่มันช้ากว่าดีด”

และ “ชั่วโมงหนึ่งได้น่าเศษๆ มานึกถึงเราเขียนบรรจงที่ฝีมือเรียบๆ เร็วๆ ชั่วโมงก็ราว 3 น่า ไม่เชื่อ, ไม่เชื่อ, ไม่เชื่อ, แต่จะพูดก็เกรงใจเขา ครั้นจะไม่พูดก็อยากรู้ว่าจะจริงหรือไม่ จึงว่าพ่อขอตีให้ฉันดูสักหน่อย อยากเห็นจริงๆ เอาเถอะ ถึงสักชั่วโมงฉันก็จะนั่งคอยดู เขาก็ตั้งต้นตีแก็กๆ แก็กๆ แก็กๆ แก็กๆ คอยดูว่าเขาดีดนิ้วลงที่ตัวอะไร ดูไม่ทัน ดูมันรัวไปหมด และคอยนับน่าที่เขาตีได้ พอถึงชั่วโมง 15 น่าหย่อนอยู่บันทัดเดียว”

ผู้เขียนบอกว่าถ้ามีงานหนัก พนักงานพิมพ์ดีดและเครื่องจักรชนิดนี้ทำงานได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 10 ชั่วโมง โดยเฉพาะในปี ร.ศ.113 หรือสองสามปีก่อนหน้านั้น ซึ่ง “ไทป์ไรเตอร์ไม่มีเวลางีบสงบเลย”

นั่นคือหลังจากเกิดวิกฤต ร.ศ.112 ซึ่งเป็นกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ทำให้สยามต้องเสียดินแดนเป็นครั้งใหญ่ และนับเป็นการเสียเนื้อที่ครั้งใหญ่ที่สุด สยามต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศส รวมทั้งต้องยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดถึงเกาะแก่งในแม่น้ำโขงทั้งหมด

นอกจากนั้น สยามยังเรียนรู้ความสำคัญของความเร็วจากสงครามอื่นๆ เช่น วิกฤตหัวเมืองและการปราบฮ่อในต้นรัชกาลที่ 5 เพราะความเร็วของรถไฟและโทรเลขทําให้กองทัพที่อยู่ห่างไกลทราบข่าวการกบฏและส่งกองทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้ทันเวลา รวมทั้งทำให้ผู้บัญชาการทหารสามารถออกคําสั่งถึงแนวหน้าทุกหน่วยได้โดยไม่ต้องไปถึงสนามรบ

ความเร็วในการพิมพ์และกระจายเอกสาร ทำให้พิมพ์ดีดมีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้สายโทรเลขหรือหัวรถจักรไอน้ำ นั่นคือทะยานออกไปเพื่อพิชิตดินแดนอันห่างไกล

ผู้ประดิษฐ์พิมพ์ดีดภาษาไทยคือ เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แม็กฟาร์แลนด์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ซึ่งต่อมามีตำแหน่งเป็นเลขานุการส่วนพระองค์ ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

แม็กฟาร์แลนด์ได้ร่วมมือกับบริษัทสมิธ พรีเมียร์ (Smith Premier) ในซีราคิวส์ สหรัฐอเมริกา ผลิตต้นแบบเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น เขาออกแบบและวางตำแหน่งตัวอักษรไทยที่จะใช้บนเครื่องพิมพ์ดีดได้สำเร็จ จากนั้น จึงได้นำเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกเข้ามาถวายรัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นมีการสั่งซื้อมาใช้ในระบบราชการ

น้องชายของ เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แม็กฟาร์แลนด์ ชื่อ จอร์จ แบรดลีย์ แม็กฟาร์แลนด์ แพทย์ใหญ่ของศิริราชพยาบาลคนแรก ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอาจวิทยาคม เป็นเจ้าของคนต่อมา พ.ศ.2441 พระอาจวิทยาคมสั่งเครื่องพิมพ์ดีดไทยเข้ามาวางจำหน่ายที่ห้างสมิธ พรีเมียร์ หลังวังบูรพา ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมากในวงราชการและบริษัทห้างร้าน ไม่นานก็มีการขยายสาขาไปยังมณฑลต่างๆ ของสยาม

บทบาทของพิมพ์ดีดในแง่พิชิตดินแดน จะเห็นได้ชัดจากโฆษณาของสมิธพรีเมียร์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งบอกว่าบริษัทกำลังขยายสาขาและเพิ่มบริการซ่อมไปให้ทั่วทุกมณฑล การใช้แผนที่ในภาพโฆษณา ชี้ว่าผู้ใช้และผู้ขายพิมพ์ดีดรู้ตัวว่าตนอยู่ในกระบวนการขยายพื้นที่