‘หัว’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกยูงไทย - ในผืนป่าที่ได้รับการปกป้องดูแลอย่างเข้มแข็ง เป็นบ้านที่ดีของเหล่านกยูง พวกมันได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี

พ.ศ.2530

โครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้เกิดความขัดแย้งมากมาย มีทั้งหน่วยงาน และผู้ที่เห็นชอบเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ และผู้ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนด้วยสาเหตุอื่นๆ สิ่งหนึ่งซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกังวล เห็นว่าไม่ควรสร้าง คือ มันเป็นการทำลาย “บ้าน” ของเหล่าสัตว์ป่า บ้านของชีวิตมากมาย

สภาพเหตุการณ์ในช่วงแรก ภาพรวมของการประชาสัมพันธ์ โครงการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะได้รับการอนุมัติจาก ครม.เศรษฐกิจให้สร้าง โครงการเดินหน้าต่อได้

เป็นช่วงเวลาที่ภาพของคนที่คัดค้านการสร้างเขื่อน เพื่อปกป้องบ้านของสัตว์ป่า ถูกบิดเบือน เจ้าหน้าที่ป่าทุ่งใหญ่ คนทำงานในพื้นที่ถูกใส่ร้าย ว่าเป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า ทำแร่เถื่อน มีการนำภาพจากที่อื่นมาออกรายการโทรทัศน์ รวมทั้งการตีพิมพ์เผยแพร่บทความโจมตีผู้คัดค้านต่างๆ นานา

ถูกใส่ร้าย ข้อมูลเป็นเท็จ คนกลุ่มหนึ่งเริ่มทำงานหนักยิ่งขึ้น เพื่อหยุดเขื่อนน้ำโจนให้ได้

คนกลุ่มนี้ นำโดยผู้ชายร่างสูง สวมแว่นตาหนา เสื้อสีกากียับๆ

ผู้ชายคนนี้ชื่อ สืบ นาคะเสถียร

 

พวกเขาใช้สถานที่หนึ่งเป็นที่ทำงาน ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการต่อสู้และทำงานกันหนักยิ่งขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันพิจารณาตัดสินโครงการ

สืบตัดสินใจที่จะนำข้อมูลการอพยพสัตว์ป่า ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน มาสรุป วิเคราะห์ เพื่อใช้เป็นบทเรียน นำเสนอให้คณะกรรมการตัดสินได้เห็น

งานอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ทำให้สืบรู้ดีว่า เหล่าสัตว์ป่าต้องพบกับชะตากรรมอันเลวร้ายอย่างไร

 

เดือนมิถุนายน พ.ศ.2528

เช้าตรู่ เรือหางยาวหลายลำแล่นออกจากฝั่ง เข้าสู่พื้นที่ซึ่งเปลี่ยนสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ งานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่ นำโดย สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้น

พวกเขาใช้เวลาสองปีกับอีกสี่เดือน ช่วยสัตว์ป่าไว้ได้จำนวนหนึ่ง

เป็นเวลาสองปีแห่งความเศร้าระทม ทุกๆ วัน พวกเขาพบกับสภาพอันน่าเวทนา ชะนีติดค้างบนกิ่งไม้แห้งในเกาะเล็กๆ บางทีเป็นซากแห้งกรัง

กวางว่ายน้ำไปอย่างไร้จุดหมาย

พื้นที่เดิมอันเป็นเนินเขา และภูเขาถูกน้ำตัดขาด กลายเป็นเกาะเมื่อปิดกั้นอุโมงค์เพื่อเก็บกักน้ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายเกาะจมน้ำหายไป เกาะที่มีความสูงมากกว่า ค่อยๆ จมหาย สัตว์ป่าที่เคยอาศัยในบริเวณนั้น หนีน้ำออกไปทุกทิศทุกทาง หนีไปอย่างไร้จุดหมาย สัตว์บางชนิดที่มีถิ่นอาศัยอยู่ริมฝั่งคลองและเคยข้ามน้ำไปมาได้ หลงทาง เพราะสภาพพื้นที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน พวกมันส่วนใหญ่ติดอยู่ตามต้นไม้ที่กำลังจะจม

หลายตัวที่ไม่สามารถว่ายน้ำไปไกลๆ ก็จะพากันมารวมกลุ่มตามยอดเกาะที่กำลังจะจม อดอาหาร แย่งที่อยู่ที่มีจำกัด

หลายตัวผอมโซ มีไม่น้อยกลายเป็นซากห้อยอยู่ตามกิ่งไม้กลางน้ำ ไร้ร่มเงา ไม่มีที่อาศัยอีกต่อไป

นกยูงไทย – ในผืนป่าที่ได้รับการปกป้องดูแลอย่างเข้มแข็ง เป็นบ้านที่ดีของเหล่านกยูง พวกมันได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี

เสียงปืนก้องกังวานอยู่ในหุบเขา สัตว์จำนวนมากถูกไล่ล่า ซากสมเสร็จที่ชำแหละแล้วอยู่ใต้ท้องเรือ

สองปีกับงานช่วยเหลือสัตว์ป่า สืบและเพื่อนร่วมงาน ช่วยสัตว์ไว้ได้ 1,364 ตัว

งานนี้เป็นมาตรการสุดท้ายที่จะช่วยสัตว์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ถึงวันนี้ อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน คือ สถานที่ท่องเที่ยว ทิวทัศน์งดงาม

เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวเต็มลำ แล่นไปบนผืนน้ำใส หลายคนไม่รู้ว่า เบื้องล่างมันคือ สุสาน

 

รายงาน “การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน” ที่สืบใช้ประกอบการนำเสนอกับคณะกรรมการ ได้ผล คณะกรรมการเห็นภาพ และสิ้นสงสัยว่าการสร้างเขื่อนมีผลกระทบกับสัตว์ป่าหรือไม่ พวกเขาเห็นด้วยกับการชะลอการสร้างโครงการเขื่อนน้ำโจนไว้ก่อน

“เราชนะแล้ว” เป็นคำพูดสั้นๆ ของสืบ หลังออกจากห้องพิจารณาวันนั้น

 

สืบ นาคะเสถียร จากไปแล้ว 33 ปี ผลจากการใช้ชีวิตตัวเองเป็นเสียงตะโกนบอกความเดือดร้อนของเหล่าสัตว์ป่า มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง สัตว์ป่าเพิ่มจำนวน แหล่งอาศัยของพวกมันได้รับการปกป้องดูแลอย่างเอาจริง

เสียงปืน 11 ม.ม. ที่ดังขึ้นในเช้าตรู่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2533 ไม่เคยจางหาย

คนจำนวนมากมุ่งมั่นกับการทำงานให้พี่สืบ ทั้งในเมืองและในป่าอันเงียบงัน

 

กระนั้นก็เถอะ ถึงปี พ.ศ.2566 นี้แล้ว การดำเนินงานเพื่อสร้างเขื่อนในผืนป่าอนุรักษ์ ไม่เคยจบสิ้น ความขัดแย้งเดิมๆ ระหว่างภาครัฐ ซึ่งเห็นเพียงประโยชน์ กับคนที่เข้าใจและรับรู้ว่า ป่าและสัตว์ป่ามีความสำคัญเช่นไร ยังคงอยู่

เวลาผ่านมานาน บางสิ่งก็ไม่เปลี่ยนแปลง

เหล่าสัตว์ป่าไม่เคยถูกเห็นหัว

ไม่เห็น “หัว” แม้ว่าจะยืนอยู่ในบ้าน ยืนในประเทศของตัวเอง… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ