เผด็จการแอบแฝง หรืออคติแอบแฝง

คำ ผกา

 

เผด็จการแอบแฝง

หรืออคติแอบแฝง

 

ก่อนอื่นฉันไม่ปฏิเสธว่าผลการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล และ ครม.ชุดใหม่ทำให้คนจำนวนมากผิดหวัง

โดยเฉพาะคนที่เลือกพรรคก้าวไกล และคนเลือกเพื่อไทยที่ตั้งความหวังเอาไว้ว่า พรรคเพื่อไปจะไม่จับมือกับพรรค “สองลุง” ตั้งรัฐบาล

และทำให้เกิดความโกรธเกลียดชิงชังว่า “ถ้าบอกตั้งแต่ตอนหาเสียงว่าจะจับมือกับสองลุงจะได้ไม่เลือก”

ฉันคิดว่าเรื่องนี้มีสิทธิโกรธ แต่ไม่ว่าเราจะโกรธแค่ไหน เราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับที่วันที่ 14 พฤษภาคม ได้อีกครั้ง

ชีวิตมนุษย์มีแต่จะต้องมูฟออนไปข้างหน้า ไม่ใช่มูฟออนเป็นวงกลม เรากลับไปแก้ไขหรือยกเลิกการตัดสินของเราในวันที่ 14 พฤษภาคม ไม่ได้

ก็จงเก็บจงจำความโกรธนั้นไว้ แล้วไปเช็กบิลพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

วิถีของประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นเช่นนี้ และหากรักจะอยู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย พึงทำใจล่วงหน้าไว้เลยว่า เราจะต้องผิดหวังและอกหักกับพรรคการเมืองที่เราเลือกได้อีกเรื่อยๆ

แต่ข้อดีของมันคือ อำนาจการเมืองยังเป็นของเรา และเราจะได้อำนาจนั้นคืนมาในทุกๆ 4 ปีเพื่อเลือกใหม่ (และมีแนวโน้มจะผิดหวังได้อีก มีแค่ผิดหวังมากหรือน้อยเท่านั้นเอง)

 

ท่ามกลางความผิดหวังนี้นักรัฐศาสตร์หลายท่านหยิบยกเรื่อง Electoral Authoritarian น่าจะแปลเป็นไทยว่า “เผด็จการ/อำนาจนิยม โดยการเลือกตั้ง” เพื่อเปิดญาณปัญญาของชาวไทยที่ไร้เดียงสาทางการเมืองว่า อย่าได้ดีใจไปนะ รัฐบาลผสมนำโดยพรรคเพื่อไทยนี้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยสักนิด แต่เป็นเผด็จการซ่อนรูป ฝังเนื้อฝังตัวมาในกติกาการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ วางหมากกลให้เผด็จการได้ครองอำนาจต่อ แล้วคราวนี้ยืมมือพรรคเพื่อไทยเป็นนั่งร้านให้เผด็จการอยู่ในอำนาจต่อ

ฉันคิดว่าข้อทักท้วงนี้น่าฟัง แต่ก็ต้องฟังด้วยความระมัดระวัง

สำหรับฉัน เผด็จการอำนาจนิยมที่ไม่ต้องใช้การรัฐประหาร แต่ทำผ่านการเลือกตั้งที่อยู่ยั้งยืนยงมายาวนานน่าจะเป็นสิงคโปร์

บางคนก็เรียกว่าเป็นเผด็จการโดยพลเรือน นั่นคือมีการเลือกตั้ง ประเทศเป็นทุนนิยม เป็นเมืองท่า มีเสรีภาพทุกอย่าง ยกเว้นห้ามวิจารณ์รัฐบาล และทำงานแบบไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีคู่แข่ง

ที่หนักกว่าสิงคโปร์ คือกัมพูชา เพราะใช้วิธียุบพรรคฝ่ายค้าน ล่าสุดคือ ไม่ให้พรรคฝ่ายค้านจดทะเบียนพรรคการเมือง ทำให้พรรครัฐบาลลงเลือกตั้งพรรคเดียว ไร้คู่แข่ง จัดโผ ครม.แบบไม่ต้องลุ้น เพราะเป็นอำนาจที่ไม่ต้องดีล ไม่ต้องเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนประเทศไทยเข้าข่าย electoral authoritarian หรือไม่?

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 วางค่ายกลไว้หนักหนาสาหัสมาก ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยเสียง ส.ว.ถึงหนึ่งในสาม แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ แม้จะทำประชามติว่าประชาชนอยากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เราก็ยังต้องใช้เสียง ส.ว. 84 คน และฝ่ายค้านอีกร้อยละ 20 ในการแก้ไข

เพราะฉะนั้น ด้วยตัวรัฐธรรมนูญเองมันถูกออกแบบมาให้องคาพยพของอำนาจที่มาจากการรัฐประหารได้อยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ และมีความชอบธรรมโดยผ่านการเลือกตั้ง

แต่ถามว่ารู้ทั้งรู้ พรรคการเมืองที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งขององคาพยพนั้น เช่น ก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ มีทางเลือกอื่นๆ ในการเข้าสู่อำนาจรัฐ ที่ไม่ใช่การเลือกตั้งภายใต้กติกานี้หรือไม่?

คำตอบคือ “ไม่มี”

เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น ทางที่ดีที่สุดของ

พรรคฝั่งนี้คือ “ต้องชนะให้ได้ในกติกาของเขา”

นั่นคือเหตุที่พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าแลนด์สไลด์ เพราะมันต้องชนะในระดับ 300 เสียงบวกๆ เท่านั้นถึงจะหลุดจากค่ายกลของรัฐธรรมนูญได้

พรรคก้าวไกลก็รู้ว่ากติกานี้เขียนเพื่อการสืบทอดอำนาจ แต่พรรคก้าวไกลก็ลงแข่งขันด้วยสโลแกนจงเลือกด้วยความหวัง อย่าเลือกด้วยความกลัว

 

ผลการเลือกตั้งออกมา พรรคก้าวไกลได้ 151 พรรคเพื่อได้ได้ 141 ล้มเหลวที่จะแลนด์สไลด์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ

1. สนับสนุนพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลบอกว่าไม่ต้องไปเอาเสียง ส.ส.ที่ไหนเพิ่ม มัดด้วยกัน 312 เสียง แล้วไปขอเสียง ส.ว.

2. พรรคก้าวไกลมั่นใจว่า ส.ว.สนับสนุนเกินร้อย

คำถามที่พวกเราทุกคนควรมีในหัวสมองคือ ถ้า ส.ว.คือเสาค้ำยันอำนาจ “ฝั่งโน้น” ทำไมเราถึงหวังว่า ส.ว.จะโหวตให้พรรคฝั่งนี้?

และหากเราดันทุรังมัดติดกันไปเรื่อยๆ อีก 10 เดือน จะเกิดอะไรขึ้น?

มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า electoral authoritarian ขึ้นมาจริงๆ นั่นคือ กลไกลของตุลาภิวัฒน์ จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ นั่นคือฝ่าย 188 เสียงจะตั้งรัฐบาล แล้วยืมมือองค์กรอิสระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นก้าวไกล หรือเพื่อไทย เพื่อให้มี ส.ส.ไหลมาอยู่ในฝั่ง 188 เสียงจนกลายเป็นเสียงข้างมากในสภาได้

พรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยกลายเป็นฝ่ายค้าน หรือวุ่นวายกับการตั้งพรรคใหม่ รัฐบาลใหม่หน้าตาไม่ต่างจากรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขั้วฝ่ายค้านเดิมยังเป็นฝ่ายค้าน ขั้วรัฐบาลเดิมยังเป็นรัฐบาล เพิ่มเติมคือเขาอ้างความชอบธรรมว่า มาจากการเลือกตั้ง และพรรคอันดับหนึ่งและสอง เลือกไปเป็นฝ่ายค้านเอง (เพราะไม่ต้องการสมสู่กับใครอื่น)

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พรรคเพื่อไทยไม่ยอมทิ้งตัวไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ต่อรองกับทุกพรรคและยอมผิดคำพูดตอนหาเสียงเรื่องไม่รวมพรรค “สองลุง”

เรียกว่ายอมโดนด่าเรื่องนี้ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเป็นนายกฯ และเพื่อให้ได้ทำงานมากที่สุดเท่าที่จะต่อรองมาได้

มองในแง่นี้ฉันกลับคิดว่านี่เป็นการรุกคืบของฝั่ง “ฝ่ายค้านเดิม” คือ เพื่อไทย และประชาชาติ ในการไปชิงอำนาจรัฐมาได้ในกรอบกติกาที่ตัวเองเสียเปรียบอย่างที่สุด แต่ต้องแลกมาโดยอนุญาตให้ “ขั้วอำนาจเก่า” ได้แชร์อำนาจรัฐนี้ด้วย

 

สิ่งที่พรรคขั้วฝ่ายค้านเดิมยกเว้นพรรคก้าวไกลได้คือ นายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย และสัดส่วนรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยจะได้ในสัดส่วนที่มากกว่าพรรคอื่นตามสัดส่วนของ ส.ส.

ถ้ามองตามข้อจำกัดว่า พรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ และลงแข่งในกติกาของ “เขา” แต่ยังได้เป็นทั้งแกนนำตั้งรัฐบาลและได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สำหรับฉันนี่คือการรุกคืบเข้าไปในแดนของฝั่งขั้วอำนาจเก่าได้มากจนต้องดีใจ

และสิ่งนี้จะเป็นไปไม่ได้ หากเพื่อไทยไม่ยอม “แชร์” อำนาจนี้กับขั้วอำนาจเก่าโดยสิ้นเชิง

ซึ่งก็เป็นราคาที่พรรคเพื่อไทยต้องจ่ายสำหรับการถูกมองว่าไป “จูบปาก” เผด็จการและนั่งร้านเผด็จการ

ฉันไม่เถียงว่าเพื่อไทยจะทำงานยากเพราะต้องต่อรองอำนาจและผลประโยชน์กับหลายฝักหลายฝ่าย หน้าตา ครม. ไม่ใช่ ครม.ในฝัน

ฉันจะไม่เถียงว่าพรรคเพื่อไทยผิดคำ ผิดสัญญา ผิดคำโฆษณาที่พูดตอนหาเสียง

 

แต่ถ้าบอกว่า รัฐบาลนี้เป็น electoral authoritarian ก็ต้องมาเช็กลิสต์กันหน่อยว่า เป็นตรงไหน? เพราะ

1. นายกฯ มาจากพรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันคือ 141 เสียง

2. ไม่มีการยุบพรรคคู่แข่งก่อนเลือกตั้งโดยพรรคที่กุมอำนาจรัฐอยู่เดิม

3. ไม่มีการตัดสิทธิ์ ยุบพรรค หลังเลือกตั้ง เพื่อขัดขวางกระบวนการตั้งรัฐบาล

4. พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ มี ส.ส.มาในจำนวนที่เป็นตัวแปรในการตั้งรัฐบาลได้ และเราคงไม่สามารถปฏิเสธว่าเสียงเหล่านี้ไม่ใช่เสียงประชาชน

สิ่งเดียวที่ไม่เป็นประชาธิปไตยคือ รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเราไม่เอากฎนี้ ก็คือเราควรปฏิเสธไม่ลงเลือกตั้งตั้งแต่แรก รวมทั้งไม่หวังพึ่งเสียง ส.ว.ตั้งแต่แรกด้วย

ย้ำว่าเรามีทุกสิทธิ์ทุกความชอบธรรมที่จะไม่ชอบรัฐบาลนี้ ไม่ชอบ ครม.ชุดนี้ แต่เราต้องไม่ชอบมันด้วยความซื่อสัตย์ต่อตนเอง เช่น ไม่ชอบเพราะฉันคิดว่าพรรคก้าวไกลดีกว่าเหมาะสมกว่า

ไม่ชอบเพราะเกลียดขี้หน้า ไม่ถูกชะตา

ไม่ชอบเพราะไม่ต้องรสนิยม

ไม่ชอบเพราะเพื่อไทยทิ้งก้าวไกล

ไม่ชอบเพราะทำใจเห็นคนที่เราเกลียดมีอำนาจ ไม่ชอบเพราะเราอยากได้ ครม.ที่ดูเป็นคนดี มีความรู้ จบมาตรงสายงานของกระทรวงที่จะทำงาน

ไม่ชอบเพราะธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นคนไม่ดี ประวัติไม่ดี อะไรก็ว่าไป

การไม่ชอบรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลจากพรรคที่เราไม่เลือกเป็นเรื่องธรรมดา แต่พื้นฐานหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานต้องไม่ถูกบิดพลิ้ว ไม่ชอบรัฐบาลนี้ ไม่ชอบ ครม.นี้ แต่จะบอกว่าเขาไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ไม่ได้

เพราะ ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดนั้นมาจากการเลือกตั้ง