มุกดา สุวรรณชาติ : เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อครองอำนาจ วงจรอุบาทว์เกิดซ้ำซาก (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

10 ธันวาคม 2560 ครบรอบ 85 ปี วันรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุด เขียนตามความต้องการของผู้มีอำนาจแต่ละยุค ในยุคที่ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ล้วนอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ปกครองทั้งสิ้น ในยุคที่ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น กฎหมายก็จะต้องเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่

ใครเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญ

85 ปี หลังการปฏิวัติ 2475 เรามีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ ส่วนใหญ่เพื่อให้อำนาจตกเป็นของคณะบุคคล และสืบทอดต่อไป

 

รัฐธรรมนูญยุคแรก
ร่างขึ้นมาเพื่อรองรับ
การเปลี่ยนแปลงระบบปกครอง

24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายปฏิวัติได้นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามมาใช้ประมาณ 5 เดือน

เจตนารมณ์ของคณะราษฎรถูกประกาศไว้ในธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ในมาตรา 1 ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และมาตรา 2 ก็ได้ระบุว่า ผู้ที่จะใช้อำนาจแทนราษฎรคือ 1.กษัตริย์ 2.สภาผู้แทนราษฎร 3.คณะกรรมการราษฎร 4.ศาล

จากนั้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งมีชื่อว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 เพราะมีการประกาศใช้ครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 นี่คือที่มาของวันรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจนี้สามทาง คือ อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านสภา อำนาจบริหาร ผ่านคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการ ผ่านศาล

ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีมาตราใดกำหนดให้มีการยุบสภา หมายความว่าทั้งพระมหากษัตริย์และรัฐบาลไม่มีอำนาจยุบสภา สภาผู้แทนฯ จะสิ้นไปตามวาระ

ช่วงเวลา 15 ปีของการเริ่มต้น มีการเลือกตั้ง 5 ครั้ง มีการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กับคณะราษฎร ทั้งปิดสภา ยึดอำนาจคืน เปิดสภา เกิดกบฏบวรเดช และการชิงการนำในคณะราษฎรเอง

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อยู่ได้ยาวนาน 13 ปีกับ 5 เดือน เป็นรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่มีอายุยาวนานมากที่สุด และไม่ได้ถูกฉีกโดยการรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกเลิกเพราะมีการแก้ไขปรับปรุง เราจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2489

นี่เป็นการเริ่มพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสากล โดยเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้ง ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ…

แต่ใช้ได้เพียงปีครึ่งก็ถูกฉีกทิ้ง

 

รัฐประหาร 2490…ตำนานวงจรอุบาทว์

ช่วงเวลาพัฒนาประชาธิปไตย ถูกแทรกด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยตกอยู่ในกลุ่มของผู้แพ้สงครามด้วย เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี นำประเทศไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น (จึงหลุดจากตำแหน่ง)

แต่ประเทศไทยก็มีขบวนการเสรีไทยซึ่งนำโดย อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งพอจะสามารถใช้เป็นข้อต่อรองกับฝ่ายพันธมิตรที่ชนะสงคราม ทำให้ไทยได้รับความเสียหายน้อยลงโดยเฉพาะปัญหาเอกราช

อ.ปรีดีจึงสนับสนุน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นคนในขบวนการเสรีไทยให้ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาก็เกิดความขัดแย้งระหว่างหม่อมเสนีย์กับนายปรีดี สภาพทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็น 3 ก๊ก

1. กลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งต่อมารวมกันตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี นายควง อภัยวงศ์ หม่อมเสนีย์ หม่อมคึกฤทธิ์ เป็นแกนนำ

2. กลุ่มอาจารย์ปรีดี ต่อมาก็รวมเป็นพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนฯ จากภาคอีสาน กลุ่มเสรีไทยเดิม กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาธรรมศาสตร์และการเมือง

3. กลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีการจัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์โดยหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้าพรรค แต่กำลังที่แท้จริงอยู่ในกลุ่มทหารบกทั้งนอกและในราชการ

การปะทะกันของตาอินกับตานา เริ่มจากวันนั้น นายกรัฐมนตรี หม่อมเสนีย์ได้ยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489

นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลก็มีอายุอยู่ได้เพียงเดือนเศษ ก็ต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากแพ้มติ “พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว”

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนตามมติของที่ประชุมสภา และตามประกาศพระบรมราชโองการ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2489 หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489

โดยเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้ง ภายหลังการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมคณะรัฐมนตรีลาออก 1 มิถุนายน พ.ศ.2489 จากนั้นมีการเปิดประชุมสภาทั้งสองอีกครั้งเพื่อจะได้ดำเนินการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐสภาได้เลือกนายปรีดีกลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2489

แต่ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 รัฐบาลยังไม่ได้เข้ามาบริหารประเทศก็ได้เกิดเหตุการณ์ การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นายปรีดี พนมยงค์ จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2489 แต่รัฐบาลยังคงถูกโจมตีอย่างหนัก ทั้งบนดินและใต้ดิน นายปรีดี พนมยงค์ จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2489

23 สิงหาคม 2489 สภามีมติให้ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกฯ แทน ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน การต่อสู้ของพรรคตาอินกับพรรคตานา ยืดเยื้อต่อมา จนถึงการรัฐประหาร 2490

 

รัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร 2490
ต้นแบบเผด็จการ+รัฐสภา

ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ก็เกิดการรัฐประหารขึ้น โดยกลุ่มของตาอยู่ซึ่งมีทั้งนายทหารนอกประจำการซึ่งนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลโทผิน ชุณหะวัณ และทหารนอกประจำการอีก 10 คน ส่วนทหารที่คุมกำลังอยู่คือ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พันโทถนอม กิตติขจร พันโทประภาส จารุเสถียร ร้อยเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และนายทหารอีกประมาณ 40 คน (เห็นชื่อแล้วคงนึกออกว่าทำไมประเทศไทยจึงมีคนต่อคิวยึดอำนาจยาวนานมาก)

ทำให้ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหนีออกนอกประเทศ คณะรัฐประหารได้เชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าคณะ

ซึ่งจอมพล ป. ได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่าไม่ต้องการอำนาจจึงเชิญ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกฯ

หลังรัฐประหาร 2490 มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2489 แล้วใช้ฉบับชั่วคราว 2490 มีสาระสำคัญทางอำนาจคือ รัฐสภามี ส.ส. และ ส.ว. จำนวนเท่ากัน ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง ข้าราชการทหาร พลเรือน มาเป็นข้าราชการการเมืองก็ได้ นี่คือต้นแบบที่จะนำมาใช้อีกหลายครั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลชั่วคราวและอยู่ต่อจนมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมกราคม 2491 นายควงได้เป็นนายกฯ อีกสมัย หลังจากการเลือกตั้งได้ไม่ถึง 3 เดือนก็ถูกกลุ่มทหารซึ่งเป็นผู้ควบคุมอำนาจตัวจริงบังคับให้ลาออก และจอมพล ป. ก็เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนโดยการเลือกของ ส.ส. และ ส.ว. ที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องให้ประชาชนเลือก

แม้นายปรีดีและคนสำคัญต่างๆ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ แต่จอมพล ป. บริหารแบบไม่สบายมากนัก ก็เพราะประชาธิปัตย์มี ส.ส. เกินครึ่ง จอมพล ป. ต้องใช้ ส.ว. สนับสนุนรัฐบาล

แต่ประชาธิปัตย์พยายามผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2492 ขึ้นมาแทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 เพื่อลดอำนาจฝ่ายทหาร

โดยให้อำนาจ…การเลือกและแต่งตั้ง ส.ว. เป็นของพระมหากษัตริย์ และให้กำลังทหารเป็นของชาติอยู่ในบังคับบัญชาสูงสุดของพระมหากษัตริย์

 

วงจรอุบาทว์ เริ่มปรากฏ

จอมพล ป. อดทนปกครองอยู่จนถึงปี 2494 ช่วงเวลาจาก 2491-2494 มีคนพยายามจะรัฐประหาร 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือกบฏแมนฮัตตันเดือนมิถุนายน 2494 ซึ่งก็ไม่สำเร็จ

พอถึงพฤศจิกายน 2494 จอมพล ป. ทำรัฐประหารตนเอง ยุบสภา ฉีกรัฐธรรมนูญ 2492 นำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้โดยแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับ 2475

เพื่อให้มี ส.ส. ประเภท 2 (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้ง มีจำนวนเท่ากับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ข้าราชการประจำเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ ดังนั้น รัฐมนตรี และ ส.ว.แต่งตั้งจึงเต็มไปด้วยทหาร ตำรวจ เล่นการเมืองไปด้วย คุมกำลังทหารไปด้วย

แต่ก็ยังมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2495 โดยผู้สมัคร ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค แล้วก็ไปรวบรวม ส.ส. มาสนับสนุนรัฐบาลซึ่งได้ถึง 85 เสียงจาก 123 เสียง วิธีการนี้จึงเกิดความมั่นคง

นี่คือการร่างรัฐธรรมนูญหลังการยึดอำนาจแบบตามใจปรารถนาครั้งที่ 2 ทำให้มี ส.ว. ที่แต่งตั้งเอง มี ส.ส. ที่รวบรวมมาหนุน จึงอยู่ต่อได้จนครบ 4 ปี แม้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 และจอมพล ป. ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็มีการกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งและจบลงด้วยการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ และอำนาจของจอมพล ป. ก็จบลงแค่นั้น แต่วงจรอุบาทว์ปรากฏชัดเจน

เริ่มจากการรัฐประหารด้วยกำลัง >> ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ >> เลือกตั้งแบบได้เปรียบ >> มีรัฐสภา ปกครองต่อ จนความขัดแย้งขยาย >> ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำรัฐประหาร >> แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กว่าขึ้นมาอีก…เป็นแบบนี้ซ้ำซาก จาก พ.ศ 2490-2560 นาน 70 ปีมาแล้ว

การสร้างคณาธิปไตย โดยวิธีการใช้กำลังทหาร, สร้างรัฐธรรมนูญใหม่, ตั้ง ส.ว. และรวบรวม ส.ส. เพื่อเป็นฐานการปกครองและสืบทอดอำนาจ กลายเป็นรูปแบบยอดนิยมที่จะใช้ครองอำนาจ ดังนั้น วงจรอุบาทว์จึงหมุนวนอีกหลายรอบ จนถึงปัจจุบัน นี่จึงเป็นระบบเผด็จการ+รัฐสภา อย่างแท้จริง แต่การสืบทอดอำนาจยุคใหม่จำเป็นต้องมีลูกเล่นมากกว่า

…(ต่อฉบับหน้า)