ตัวตนของ ‘ไมเคิล เซร่า’ ผู้รับบท ‘อัลลัน’ ใน ‘Barbie’

คนมองหนัง

“อัลลัน” คือตัวละครที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในภาพยนตร์ทำเงินประจำปีนี้เรื่อง “Barbie”

ทั้งๆ ที่ในอดีต “อัลลัน” คือ สินค้า-ของเล่นตัวประกอบที่มียอดขายล้มเหลว “ไม่ได้ไปต่อ”

ทว่า ปัจจุบัน เขากลับกลายเป็น “ตัวละครสามัญ” ที่น่าหลงใหลที่สุดในหนังดังแห่งปี 2023

ขณะที่ “บาร์บี้” และ “เคน” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถูกเสียดสีหรือนำเสนอภาพว่าเป็นสินค้าที่ถูก “ผลิตซ้ำ” ในปริมาณเกลื่อนกล่นมหาศาล ดังนั้น แม้พวกเขาและเธอจะมีภาพลักษณ์แตกต่างหลากหลาย แต่ “บรรดาบาร์บี้” และ “บรรดาเคน” ก็โดนมัดรวมด้วยอุดมการณ์-แนวคิดชุดใดชุดหนึ่ง จนมีสภาพเป็นเหมือนลัทธิหรือกระแสบ้าเห่ออะไรบางอย่าง

แต่ “อัลลัน” ในหนังมีอยู่แค่คนเดียว

ขณะที่ เหล่า “บาร์บี้” และ “เคน” คือตุ๊กตา/มนุษย์ที่โดนตีกรอบ จนต้องพยายามไขว่คว้าหาอิสรภาพในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง และมีช่วงเวลาที่พลัดตกลงไปในหลุมพรางของการมีวิธีคิดสุดโต่ง

“อัลลัน” กลับเป็นตัวของตัวเองมาตั้งแต่ต้น เขารู้ว่าตนเองเป็นใคร รู้ว่าตนเองควรทำอะไร รู้ว่าตนเองควรมีจุดยืนต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร และไม่โอนเอนไหวอ่อนตามเกมการเมืองหรือกระแสความคิดความเชื่อที่เหวี่ยงไปมาใน “บาร์บี้แลนด์”

ระหว่างที่ “พวกเคน” กำลังต่อสู้วิวาทกันเอง “อัลลัน” กลับเป็นผู้ชายที่ไปช่วยเหลือ “บรรดาบาร์บี้” ในการประกอบภารกิจสำคัญ ระหว่างที่ “พวกเคน” กำลังเห่อคลั่งแนวคิด “ปิตาธิปไตย” อย่างล้นเกิน ก็เป็นผู้ชายทวนกระแสอย่าง “อัลลัน” ที่ไปรวมทีมกับ “เหล่าบาร์บี้” เพื่อหยุดยั้งวิกฤตการณ์ดังกล่าว

“อัลลัน” กลายเป็นตัวละครที่คนดูหลงรัก เพราะเขาเป็นมิตรสหายที่ดี และมีจิตใจที่เป็นอิสระ

 

ผู้รับบทเป็น “อัลลัน” ในภาพยนตร์เรื่อง “Barbie” คือ “ไมเคิล เซร่า” นักแสดงชายวัย 35 ปี ชาวแคนาดา

เซร่าเติบโตที่ย่านชานเมืองของมหานครโทรอนโต เขาเริ่มเรียนการแสดงแบบเล่นๆ ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่เด็กๆ ก่อนจะรู้สึกสนุกกับมัน เพราะพบว่านั่นคือหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่ตนเองทำได้ดี

จากนั้น ครูสอนการแสดงจึงแนะนำงานแสดงในหนังโฆษณาและรายการโทรทัศน์สำหรับเยาวชนให้แก่เซร่า แต่เขาก็ยังมองงานเหล่านี้เป็นเพียงงานอดิเรก มากกว่าจะเป็นวิชาชีพ แม้กระทั่งเมื่อเขาได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Confessions of a Dangerous Mind” ของ “จอร์จ คลูนีย์”

แล้วพอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เซร่าก็มีโอกาสได้เดินทางข้ามมาใช้ชีวิตและรับงานแสดงจริงจังในสหรัฐอเมริกา

โดยเขาเริ่มถูกจับตามองในฐานะนักแสดงอนาคตไกล จากการแสดงภาพยนตร์เรื่อง “Superbad” และ “Juno” ที่ออกฉายเมื่อปี 2007 พร้อมๆ กัน

‘ไมเคิล เซร่า’ ผู้รับบท ‘อัลลัน’ ใน ‘Barbie’

ในแง่ทัศนคติและการดำเนินชีวิต เซร่าก็มีความเป็นตัวของตัวเองไม่ต่างจากตัวละคร “อัลลัน”

เรื่องหนึ่งที่ยืนยันคำกล่าวนี้ คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเซร่าน่าจะเป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลหรือคนเจนวายส่วนน้อยมากๆ ที่ไม่ใช้สมาร์ตโฟน

ไม่นานมานี้ เขาเพิ่งถูกผู้สื่อข่าวจากเดอะการ์เดียนตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือ

เมื่อถูกถามว่าเขาสามารถเดินทางโดยไม่เปิด “กูเกิล แม็ปส์” ได้อย่างไร?

เซร่าตอบว่า นี่เป็นคำถามที่ทุกคนชอบถามเขา ซึ่งเขาก็ให้คำตอบไปง่ายๆ ว่า ตัวเองแค่ต้องวางแผนการเดินทางล่วงหน้า และอาจวาดแผนที่ติดตัวไปในบางครั้ง

เซร่ายังเป็นมนุษย์ในโลกร่วมสมัยที่ไม่เปิดบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเอง

เมื่อถามว่า เวลาไปไหนมาไหน เขาไม่ชอบถ่ายรูปนู่นนี่ เหมือนที่คนพกสมาร์ตโฟนมักทำกันเป็นประจำบ้างเหรอ?

นักแสดงวัย 30 กลางๆ เล่าว่า เขาซื้อกล้องถ่ายรูปมาระหว่างที่ภรรยาตั้งท้อง แล้วก็ค่อยๆ ฝึกฝนทักษะการใช้กล้องด้วยตนเอง จนตอนนี้ การถ่ายรูปด้วยกล้อง (ไม่ใช่ด้วยโทรศัพท์) ถือเป็นงานอดิเรกที่เขารักไปแล้วเรียบร้อย

พอถามว่า ถ้าต้องอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเป็นเวลานาน 30 วินาที เขาจะไม่มีอาการเบื่อหน่ายถึงขีดสุดหรอกหรือ?

เซร่าหัวเราะพร้อมตอบว่า “ไม่รู้สิ บางครั้งผมก็แค่รู้สึกเบื่อ” แถมยังบอกว่า การมีอารมณ์เบื่อนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร มิหนำซ้ำ การได้นั่งเฉยๆ ยังช่วยเปิดพื้นที่ว่างให้เรามีโอกาสคิดไตร่ตรองสิ่งต่างๆ มากขึ้น

เมื่อตั้งคำถามปกติๆ ว่าเขาเช็กอีเมลอย่างไร?

นักแสดงผู้นี้ตอบว่า เขามีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้านเพื่อเอาไว้ใช้สำหรับการอ่านและตอบเมล

“แล้วผมก็เสียเวลาไปเยอะกับการเล่นเกมหมากรุก มันทำให้หัวสมองแล่นไปไหนต่อไหนได้เรื่อยๆ แต่อย่างน้อยที่สุด ผมก็จะทิ้งเรื่องพวกนั้นเอาไว้ที่บ้าน”

 

เมื่อตั้งคำถามว่า เขารู้สึกอย่างไรที่ได้พบเห็นผู้คนรอบกายต่างพกพาโทรศัพท์มือถือติดตัวกันหมด?

เซร่าบอกว่า “ผมรู้สึกสงสารลูกชายของตัวเอง (วัยเกือบสองขวบ) และรู้สึกเสียใจกับโลกใบนี้ ที่นับวันเราจะยิ่งโดดเดี่ยวกันมากขึ้น”

ก่อนจะเล่าว่า บางคราว ระหว่างรอขึ้นรถไฟใต้ดิน เขามักชอบแอบนับจำนวนผู้คนที่กำลังก้มหน้ามองจอสมาร์ตโฟนกันอยู่

“นั่นยิ่งทำให้ผมรู้สึกโดดเดี่ยว กระทั่งเวลาอยู่กับเพื่อนฝูงหรือครอบครัว อยู่กับใครบางคนที่คุณรัก และไม่ได้พบเจอพวกเขามาสักระยะ หลายๆ คนก็ยังคงหมกมุ่นอยู่กับสมาร์ตโฟนของตัวเอง มันเหมือนพวกคุณกำลังใจลอยออกจากผู้คนที่แวดล้อมคุณอยู่ กล่าวโดยสัตย์จริง มันทำให้คนจำนวนไม่น้อยเศร้าสร้อยกันมากขึ้น ผมรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยวเหงาที่คืบคลานเข้ามา”

สำหรับนักแสดงผู้รับบทเป็น “อัลลัน” ในหนังเรื่อง “Barbie” เผลอๆ มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของสมาร์ตโฟนจำนวนมากมายในโลกความจริงก็ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำที่ใหญ่โตมหาศาล ไม่ต่างอะไรกับชีวิตพลาสติกของเหล่าตุ๊กตา “บาร์บี้-เคน” ที่ถูกสร้างขึ้นโดยบรรษัทผู้ผลิตของเล่นยักษ์ใหญ่อย่าง “แมทเทล”

“นี่เป็นชัยชนะของบริษัทแอปเปิล พวกเขาประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้คนต่างรู้สึกว่าพวกตนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หากปราศจากสินค้าของแอปเปิล” •

 

ข้อมูลจาก

https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2023/jul/17/fame-makes-you-paranoid-michael-cera-on-barbie-drunk-fans-and-not-owning-a-smartphone

https://www.kqed.org/arts/13933527/sandra-guzman-poems-by-latin-american-women-multilingual-daughters

 

| คนมองหนัง