ทักษิณ ชินวัตร (1) | วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราวคนคนหนึ่ง ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษในสังคมไทย ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

เรื่องราวของเขา ต้องเท้าความไปยังช่วงเวลาเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างพุ่งแรง ผ่านปรากฏการณ์ตลาดหุ้นไทยคึกคักที่สุด กับปรากฏโฉมพวก “หน้าใหม่” ในบทบาทซึ่งสั่นสะเทือนสังคมไทยวงกว้างในเวลาต่อมา

ทักษิณ ชินวัตร ในเวลาผ่านไปหลายทศวรรษ กับบทอรรถาธิบายอันตื่นเต้นเกี่ยวข้องที่สำคัญในบางช่วงบางตอน ดูเลือนๆ ไปไม่น้อย

ในช่วงทศวรรษนั้น (2530-2540) เครือธุรกิจใหม่เกิดขึ้นและเติบโตอย่างน่าทึ่ง ใช้เวลาสั้นกว่ามากในการสะสมความมั่งคั่งโดยเปรียบเทียบกับเครือข่ายดั้งเดิม โดยเฉพาะกับธุรกิจครอบครัวซึ่งเกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พวก “หน้าใหม่” มาแรง มาจากปัจจัยคล้ายๆ กัน 2-3 ประการ

หนึ่ง-โอกาสจากสัมปทานแบบใหม่ เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคม ซึ่งซุกซ่อนไว้โดยที่รัฐและกลุ่มธุรกิจเก่าไม่รู้ หรือไม่สนใจมาก่อน

สอง-เป็นตัวแทน หรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงของโลกตะวันตก หรืออยู่ในห่วงโซ่สำคัญเครือข่ายธุรกิจระดับโลก

สาม-ที่สำคัญมากๆ สามารถระดมทุนจากตลาดทุนซึ่งเปิดกว้างกว่าช่วงใดๆ ทั้งมีกระแสเงินทุนท่วมท้นจากโลกตะวันตก

 

ผมเองเคยเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงสังคมธุรกิจไทย อ้างอิงเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิม กับธุรกิจธนาคารเป็นฐานอันมั่นคงในการสะสมความมั่งคั่ง จำกัดวงไว้เฉพาะเครือข่ายตนเอง โดยมีรัฐคอยปกป้อง ช่วงหนึ่งเมื่อเผชิญความท้าทาย (ปี 2520-2525) รัฐจำเป็นต้องเปิดสถาบันการเงินชั่วคราวให้กับกลุ่มใหม่ เพื่อระดมเงินจากสาธารณชน อยู่เพียงช่วงสั้นๆ เมื่อเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่เครือข่ายธุรกิจของธนาคารสามารถเอาตัวรอด

มาถึงอีกช่วงเวลา (2535-2540) ภายใต้สถานการณ์ใหม่ ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างมากกับการเปิดให้กระแสเงินจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น จึงปรากฏเครือข่ายธุรกิจใหม่แทรกตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่น ขณะเครือข่ายธุรกิจเดิมที่มีธนาคารเป็นแกน อิทธิพลได้ลดลงไปพอสมควร

ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายตำรวจ ส่วนใหญ่ทำงานในเมืองหลวง มีโอกาสผ่านการศึกษาการสืบสวนสอบสวนสมัยใหม่ในสหรัฐ ช่วงคาบเกี่ยวหลังสงครามเวียดนาม ในจังหวะเทคโนโลยีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พัฒนาขึ้นมาก เมื่อเขาข้ามผ่านชีวิตราชการ มาสู่การสร้างธุรกิจตนเอง จึงนำประสบการณ์สองด้านมาใช้ด้วย ทั้งความสัมพันธ์กับผู้คนในแวดวงอำนาจ กับความรู้เทคโนโลยี

ว่าไปแล้ว เขาเป็นเพียงตัวละครเล็กๆ ในภาพใหญ่ เริ่มต้นในฐานะห่วงโซ่ธุรกิจระดับโลก เชื่อมกับตลาดท้องถิ่น เจาะจงกับแวดวงราชการ ค่อยๆ เรียนรู้ เห็นช่องทาง เข้าสู่ระบบสัมปทานรัฐไทย ในรูปแบบที่แตกต่างจากอดีต เป็นธุรกิจใหม่มากๆ โดยช่วงแรกๆ ผู้คนให้ความสนใจและประเมินไว้ไม่มากนัก

เริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ไม่มีฐานการเงินมั่นคงเช่นเครือข่ายธุรกิจเก่า ขณะแผนการสร้างเครือข่ายบริการสื่อสาร พื้นฐานความแข็งแกร่งทางธุรกิจ จำเป็นต้องลงทุนจำนวนพอสมควร ทางออก-ทางรอดของเขา เริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์บางระดับกับธนาคาร จนมาในช่วงเวลาเหมาะสม การเติบโตของตลาดหุ้น (ต่อมารวมทั้งตลาดเงินระดับโลกด้วย) การระดมทุนจากที่นั่นในทศวรรษที่อ้างถึงตอนต้น ถือว่าเป็นไปด้วยดี ในฐานะเครือข่ายธุรกิจใหม่ มีถึง 4 บริษัท เข้าระดมทุนจากตลาดหุ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างฐานธุรกิจ

 

ในภาพใหญ่ช่วงทศวรรษนั้น มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด เริ่มต้นจากระบบสื่อสารโลก เพื่อตอบสนองโลกาภิวัตน์ ได้สร้างโอกาสใหม่อย่างกว้างขวางให้กับธุรกิจระดับโลก และห่างโซ่อุปทานเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจย่อยๆ รวมถึงประเทศไทย

ประเทศไทยที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง มีความสัมพันธ์กับโลกาภิวัตน์อย่างแน่นแฟ้น

หนึ่ง-ฐานะแหล่งสำคัญ ในการส่งออกสินค้าพื้นฐาน เครือข่ายโรงงานโลก โดยเฉพาะกับแหล่งประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทอรนิกส์

สอง-กรุงเทพฯ กับหัวเมือง และชนบทในประเทศไทย มีความสัมพันธ์มากขึ้นๆ กระแสการพัฒนาตามโมเดลกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างกระชั้น ความสามารถและความสะดวกในการเคลื่อนย้าย และสื่อสารระหว่างกัน พัฒนาการขึ้นตามลำดับ

แม้ว่าหลายคนเชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร คือคนได้ประโยชน์มหาศาลจากระบบสัมปทานสื่อสารยุคใหม่ในช่วงนั้น (ปี 2533-2534) มีสัมปทานทั้งสิ้น 8 โครงการ แต่ที่สร้างรายได้ได้ดี มีเพียงธุรกิจสื่อสารไร้สาย กับดาวเทียม นอกนั้นทั้งล้าสมัย ขาดทุน และต่อมาได้ขายให้รายอื่น

อย่างไรก็ดี โมเดลทักษิณ ชินวัตร เป็นกระแสแห่งปรากฏการณ์ ตามมาเป็นระลอก ทั้งมี “หน้าใหม่” และเครือข่ายธุรกิจเดิม

 

โครงการดาวเทียม เป็นผลงานชิ้นสำคัญในช่วงปี 2534 สื่อในเครือข่ายตะวันตกอย่าง The Asian Wall street Journal ยกย่องทักษิณ ชินวัตร เป็นดาวรุ่งของสังคมธุรกิจไทย

ถือว่าเป็นช่วงสำคัญและจุดตั้งต้น สังคมไทยโฟกัสมาที่เขา ติดกระแสลมบนอีกขั้น เมื่อทักษิณ ชินวัตร ชิมลางทางการเมือง (รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ 4 เดือน ปี 2537-2538 และรองนายกรัฐมนตรี 3 เดือน ปี 2540) ถือเป็นทางเชื่อมสำคัญในฐานะ “คนนอก” ซึ่งพยายามสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐ สู่วงใน มีส่วนกำกับกลไก และนโยบายของรัฐ แม้ช่วงสั้นๆ แต่ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในระยะเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ เมื่อสังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (ปี 2540)

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย มีอิทธิพลลุกลามไปในระดับภูมิภาคและระดับโลกในเวลาต่อมาด้วย

มองกว้างๆ ไปที่ตลาดหุ้นไทย ได้เข้าสู่แดนสนธยาถึง 4 ปีเต็ม (2542-2546) ส่วนภาวะที่เป็นไป ร้ายแรงทีเดียว คลื่นลมลูกแรก-สถาบันการเงินจำนวนมากถูกปิดกิจการ ตามมาด้วยคลื่นลมที่สอง-ธนาคารขนาดกลางมีอันเป็นไป สะท้อนภาวะเลวร้ายเป็นวงกว้าง

ในคลื่นลมถัดไป ภาวะทำลายล้างขยายวงสู่เครือข่ายธุรกิจหลากหลาย ทั้งพวก “หน้าใหม่” และเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิม

เป็นช่วงเวลาผู้คนวงในของสังคม จับตาทักษิณ ชินวัตร อย่างจริงจังมากขึ้น มีสมมุติฐานต่างๆ นานา ด้วยเครือข่ายุรกิจของเขาสามารถก้าวข้ามวิกฤตมาได้

 

อันที่จริงมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับบางกรณีซึ่งผู้คนอ้างอิง กรณีที่มีจุดจบแตกต่างไป โดยเฉพาะ ปิ่น จักกะพาก กับเครือขายธุรกิจการเงิน ผมเองเคยอรรถาธิบายไว้เช่นกัน กรณีทักษิณ ชินวัตร กับเครือข่ายธุรกิจของเขา มีความความสัมพันธ์กับความอ่อนไหวอันเปราะบาง เชื่อมโยงกับตลาดหุ้นไม่มากนัก ขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับลูกค้าฐานกว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย นั่นคือระบบสมาชิกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ใช้บริการสื่อสารไร้สาย

ธุรกิจโทรศัพท์ไร้สาย เติบโตที่สุด ท่ามกลางช่วงคาบเกี่ยวต่อเนื่องวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ราวๆ ปี 2548 เฉพาะในเครือข่ายธุรกิจของเขา มีผู้ใช้บริการเกิน 10 ล้านคนแล้ว ที่น่าสนใจให้ผู้คนเชื่อมโยง เป็นช่วงคาบเกี่ยวช่วงเวลา ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (2544-2549)

ช่วงต้นปี 2549 คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อย่างแท้จริง มองผ่านมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ภายในวันเดียว กว่า 94,062 ล้านบาท

เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจยิ่ง ว่าด้วยความสัมพันธ์กับกระบวนการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรในกิจการสื่อสารที่อยู่ในตลาดหุ้นให้กับนักลงทุนที่มีความเชื่อมโยงกับ Singtel แห่งสิงคโปร์ นอกจากเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นในเวลานั้นแล้ว ถือเป็นดัชนีความสามารถในการสะสมความมั่งคั่ง โดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียวเท่านั้นเอง •