ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ตั้งแต่คนไทยอดทนรอคอยกระทั่งออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง จนถึงวันนี้ ก็เข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว ยังไม่มีวี่แววประเทศไทยจะได้รัฐบาลใหม่
ทั้งที่ยุบสภาตั้งแต่มีนาคม เลือกตั้งกลางเดือนพฤษภาคม จนสร้างประว้ติศาสตร์ลงมติโหวตนายกฯ ไม่ได้ติดต่อกันยาวนาน ผลพวงจากผลไม้พิษ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 (ฉบับมรดก คสช.หรือฉบับใครรณรงค์โหวตโนถูกจับ)
การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลวันนี้เดินมาถึงการที่พรรคเพื่อไทย ไม่แคร์เสียงประชาชน แกนนำของพรรคประสานเสียงให้สัมภาษณ์ยอมกลืนเลือด
ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เป็นการเดินเกมที่ถูกตั้งคำถามจากประชาชนมาตั้งแต่การสกัดพรรคก้าวไกลจากเก้าอี้ประธานสภา กระทั่งลีลาจัดตั้งรัฐบาล ดึงพรรคขั้วรัฐบาลเดิมมาร่วมขบวนสร้างเหตุผลฉีกทิ้งเอ็มโอยูกับพรรคก้าวไกลซึ่งชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 กระเด็นไปเป็นว่าที่ฝ่ายค้านสำเร็จ
ทั้งหมดอยู่ในสายตาคนจำนวนมาก ที่ออกมาเดาทาง “ถูกหมด”
การกลืนเลือด ก็ด้วยความหวังของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐ คว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้าให้ได้ก่อน เชื่อว่า เมื่อได้อำนาจรัฐมาแล้ว จะเนรมิตสิ่งที่เป็นคุณต่อประชาชนได้ จึงเป็นที่มาของ วาทกรรม รัฐบาลแห่งชาติชุดพิเศษ ที่จะมา “สลายขั้วความขัดแย้ง” มิใช่ “รัฐบาลข้ามขั้ว” แบบที่ถูกวิจารณ์
อีกความหวังที่ถูกตั้งคำถามและตั้งข้อสงสัยคือเป็นการจะเข้าไปครองอำนาจรัฐให้ได้เพื่อรองรับ “คนสำคัญ” ที่กำลังจะเดินทางกลับประเทศ หลังต้องประกาศเลื่อนการเดินทางมาแล้วหลายครั้ง เพราะปัญหาการเจรจายังไม่ลงตัว
เพื่อไทยจึงถูกวิจารณ์ (กระทั่งด่าทอ) อย่างหนัก ตลอดเดือนที่ผ่านมาทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ว่าตระบัดสัตย์ หลายเรื่องที่คนดักคอไว้ ก็เกิดขึ้นจริงตามไทม์ไลน์แทบหมด สารพัดม็อบวนไประบายอารมณ์ใส่ถึงหน้าพรรคตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยหลายคนถูกวิพากษ์ว่าเสียเครดิต เสียผู้เสียคนจากประวัติการต่อสู้ที่เคยใช้ชีวิตเข้าแลกเพื่อความเป็นธรรม แกนนำนักยุทธศาสตร์การเลือกตั้งและการเจรจาตั้งรัฐบาลของพรรค รวมถึงแกนนำผู้บริหารพรรคถูกนำถ้อยคำหาเสียงมา “อำ” อย่างหนักว่าเสียสัจจะ ก่อนเลือกตั้งพูดอย่าง หลังเลือกตั้งพูดอีกอย่าง
แต่ก็จำเป็นต้องยอมกลืนเลือด รู้ทั้งรู้ว่าต้องเสียต้นทุนนี้
กลางพายุโหมกระหน่ำ เพื่อไทยเดินหน้าต่อขุดขุนพลอย่าง พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ กลับมาโลดแล่นหน้าสื่อ
สั่งจัดทัพให้คนรุ่นกลางเกาะเนื้อหาด้านเศรษฐกิจและนโยบายเป็นจุดขาย
จัดทีมคนรุ่นใหม่อุดช่องว่างโซเชียล
หน้าฉากสร้างประเด็นใหม่ ประชาสัมพันธ์นโยบายหากเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะทำอะไรบ้าง หลังฉากก็จัดทัพตอบโต้การวิจารณ์ประเด็นร้อนการเมืองอย่างรวดเร็ว
แต่คนที่สนับสนุนและทำงานให้พรรคจำนวนไม่น้อยก็ประกาศทิ้งเพื่อไทย เช่น อ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ที่เคยช่วยงานกฎหมายมานานก็ประกาศลาออก คนรุ่นใหม่อย่าง แชม์ ราชบุรี บัณฑิตรัฐศาสตร์ มธ. ที่โด่งดังจากการชุมนุมปี 2563 มีบทบาทมากในการหาเสียงที่ผ่าน ก็ลาออกเมื่อสัปดาห์ก่อน
นั่นคือวิบากกรรมเพื่อไทยในระดับโครงสร้างพรรค
วันนี้แสงไฟส่องไปที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ว่าจะสามารถเข้าไปนั่งเก้าอี้นายกฯ ในตึกไทยคู่ฟ้าได้หรือไม่? โดยมีการนัดลงมติโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับกรณีการลงมติเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทำให้การโหวตนายกฯ คนใหม่แทนนายพิธาเดินหน้า
ช่วงที่ผ่านมา นายเศรษฐาโชว์ภาพการนำพรรคอย่างแข็งขันสไตล์ซีอีโอ ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง ล่าสุด คือการประกาศตั้งรัฐบาล ก็เปิดฉากประกาศจุดยืนการรวมรัฐบาลกับพรรคขั้วอำนาจเก่าจะไม่ให้แต่ละพรรคดูแลกระทรวงเดิม เช่นเดียวกับภูมิธรรม เวชยชัย ระบุต้องโหวตให้ก่อนจึงจะตกลงเก้าอี้กระทรวงต่างๆ
แต่ก็ต้องถอยหลัง เมื่อเจอขั้วพรรครัฐบาลเดิมที่ประสานเสียงโต้กลับเช่นกัน พร้อมส่งเสียงขู่กดดันว่าต้องมีการ “แบ่งเค้ก” จัดสรรโควต้ารัฐมนตรีพรรคต่างๆ ก่อนจึงจะโหวตให้
นี่คือความเชี่ยวกรากทางการเมืองการต่อรองที่เพื่อไทยเจอดอกแรก
ฝ่ายอำนาจเก่ายังไม่ยอมง่ายๆ จากการขยับสู้ของพรรคพลังประชารัฐ ที่พยายามดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประวิตร มีกลุ่มก้อน ส.ว.จำนวนไม่น้อยที่เลือกมากับมือเป็นกองหนุน บางส่วนออกปากดันให้เป็นนายกฯ ให้ได้
เกมล่าสุดจึงขยับมาถึงการต่อรองขอให้เพื่อไทยเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ จากนายเศรษฐา เป็นอุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้ไม่พอใจกับคำพูดเรื่องคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีต้องไม่นั่งเก้าอี้ซ้ำ
ขณะที่ภูมิใจไทยก็ขยับต่อรองหนักด้วยมี ส.ส.อยู่ในมือมากกว่า 70 คน มากกว่าการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ร่วมกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เสียอีก ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติก็แต่งตัวเรียบร้อย พร้อมเข้าร่วมรัฐบาลขั้วใหม่พร้อมคำเตือน ให้ระบุกระทรวงมาเลยแล้วจะโหวตให้
ฝั่ง ส.ว.ตัวตึงได้ทียิ่งเขย่าหนัก ออกมาบอกยังไม่มั่นใจจะโหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ หรือไม่ อ้างว่าต้องดูก่อนว่าจะอธิบายข้อสงสัยทางสังคมต่างๆ อย่างไร ทั้งยังกดดันให้มาแสดงวิสัยทัศน์ที่สภาในวันโหวต บางคนเสนออยากจะโหวตให้ นส.แพทองธารมากกว่า
นั่นคืออาการขยับของขั้วอำนาจเก่าพลังอนุรักษนิยม ต่อรองทุกเม็ด เสิร์ฟเมนู “ช็อกนิด” ให้ เสี่ยนิด เศรษฐา ทวีสิน ที่มานั่งโต๊ะอาหารร่วมกันรับประทานในรอบนี้ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจว่าอาจเผชิญเกมเตะตัดขาในรัฐสภาได้
อาการขยับของว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลที่มาจากขั้วอำนาจเก่าเป็นสัญญาณสะท้อนว่าว่าที่รัฐบาลใหม่ที่นำโดยเพื่อไทย ไม่ราบรื่นแน่นับจากนี้ไม่ว่าถึงที่สุดจะตั้งได้จริงหรือไม่ ประสานกับการกดดันของกลไกมรดก คสช.อย่าง สว. ยิ่งสะท้อนนโยบายของเพื่อไทยจะทำไม่ได้ง่ายๆ
อาจจะต้องลืมภาพที่เคยเกิดขึ้นกับไทยรักไทย และพลังประชาชน ว่าที่รัฐบาลใหม่ไม่แข็งแรง ทำอะไรไม่ได้ง่ายแบบนั้นแน่
แม้แต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก็จะถูก ส.ว.ที่ตั้งเป้าไว้แล้ว เตรียมเตะสกัด การแก้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องอยู่ในลู่ทาง อย่างน้อยต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เป็นต้น
นโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ไม่ใช่ว่าทำง่าย จะมีปัญหาด้านการแบ่งเค้กทรัพยากรอำนาจ-กระทรวง ไปยันงบประมาณ เกิดการต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหนัก
เศรษฐายังต้องเจอกับการกดดันจากในพรรคเพื่อไทยเองอีก ซึ่งขณะนี้หลายมุ้งเริ่มต่อรองเอากระทรวงสำคัญ เริ่มโชว์พลังรวมเสียงมาเป็นกลุ่มต่างๆ มีการนัดรวมตัวรื้อฟื้นมุ้งต่างๆ กันแล้ว
ที่กล่าวมาแค่อาการ “ป่วน” จากพื้นที่ทางการเมืองในระบบ เศรษฐายังต้องเจอกับการกดดันการตั้งคำถาม และการไม่ยอมรับจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชน
ยังไม่ทันโหวตนายกฯ ก็เจอ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉการใช้นอมินีซื้อที่ดินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่นายเศรษฐาเคยบริหาร จังหวะการแฉของเสี่ยอ่างช่างเหมาะเจาะกับการเลือกนายกฯ หวังเตะสกัดกันชัดๆ “ช็อกนิด” ไปอีกดอก และต้องรีบแก้เกมให้บริษัทตอบโต้ข้อมูลว่าไม่ใช่เรื่องจริง และนายเศรษฐาให้ทนายเดินหน้าฟ้องร้องนายชูวิทย์
หนักที่สุดที่เศรษฐาต้องเจอคือ การไม่ยอมรับจากประชาชน ทั้งคนที่เคยเลือกเพื่อไทย และก้าวไกล วันนี้เพื่อไทยโดนม็อบตามประท้วงถึงที่ทำการพรรคตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในโลกโซเชียลคำพูดของอุ๊งอิ๊ง ที่บอกจะปิดสวิตช์ 3 ป. ปิดสวิตช์ ส.ว. คนไทยต้องมีกินมีใช้มีศักดิ์ศรี ถูกนำมาล้อเลียนหนักมากในโลกโซเชียล
เช่นเดียวกับคำพูดของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หมอมิ้ง ว่าจะไม่ร่วมพรรค 2 ลุง บนเวทีหาเสียงถูกขุดขึ้นมาทำมีม
นี่คือต้นทุนความชอบธรรมที่ต้องสูญเสียไป
การยอมกลืนเลือดของเพื่อไทยวันนี้แลกมากับการจับมือพรรคขั้วอำนาจเก่า พรรคขั้วรัฐบาลเดิม การเดินตามเกมฝ่ายอนุรักษนิยม หันมาหาประชาชนก็ยังถูกถล่มใส่ย่อยยับ
การจะเข้าไปมีอำนาจรัฐ เพื่อหวังทำนโยบายให้สำเร็จ เพื่อกู้ศรัทธาและสร้างความชอบธรรมทางการเมืองคืนมา ที่จริงแล้วไม่ง่ายขนาดนั้นในธรรมชาติการเมืองไทยวันนี้ โดยเฉพาะการไปหวังกับนโยบายเศรษฐกิจปากท้อง
อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ใช้นโยบายประชานิยมไปไม่น้อย หลายครั้งแจกหนักกว่าไทยรักไทยเดิม คนก็ยังไม่เลือก
ส่วนเรื่องการเมือง อย่าคิดว่าฝ่ายอำนาจนิยม-อนุรักษนิยมไทยเขาฉลาดน้อย จะยอมให้แก้ง่ายๆ
ยังไม่ทันตั้งรัฐบาลสำเร็จ ก็เห็นสภาพการต่อรองที่เกิดขึ้นอยู่ว่าเป็นยังไง เศรษฐา ต้องเจอเครื่องดื่มสูตร “ช็อกนิด” อีกหลายรอบ รัฐบาลเพื่อไทย ต้องเจอ “ขั้วลุง” ชิงเค้ก อีกหลายหน
คนเพื่อไทย ต้อง “กลืนเลือด” อีกหลายอึกเลยทีเดียว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022