ไม่เชื่อ ‘ประชาชนเปลี่ยนแล้ว’

หากจะบอกว่าการเมืองไทยขณะนี้อยู่ในสภาพที่เรียกว่าโกลาหล คงไม่ห่างจากความเป็นจริงนัก

แม้การจัดตั้งรัฐบาลเหมือนจะวนกลับมาอยู่ที่เป็นรัฐบาลผสม หลายพรรคร่วมจัด ครม.แบ่งโควต้ารัฐมนตรีกันตามจำนวน ส.ส. โดยไม่จำกัดการผสมว่าเป็นพรรคที่มีแนวคิดในทางเดียวกันหรือไม่

ขอเพียงรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภาให้การสนับสนุนเกินกว่าครึ่งในการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นอันใช้ได้

แม้ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งจะพูดไว้อย่างไร มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ร่วมกับประชาชนมาอย่างไร เมื่อถึงวาระต้องรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

พรรคการเมืองมักเชื่อว่าสามารถตัดสินใจโดยไม่ต้องยึดถือสัญญา หรือคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชนได้

เหมือนกับว่าสิทธิในส่วนร่วมของประชาชนต่อการเมือง จบลงแค่การกาบัตรเลือกตั้งเท่านั้น เมื่อเลือกแล้วประชาชนหมดหน้าที่แค่นั้น ที่เหลือเป็นสิทธิของ “นักการเมือง” จะทำอะไรก็ได้

เหมือนจะมีความเชื่อในหมู่นักการเมืองว่า หลังการเลือกตั้งแล้วสามารถใช้ชี้นำความคิดความเชื่อของประชาชนด้วยการใช้สื่อต่างๆ ชักจูงไปตามที่ต้องการให้เป็นได้ โดยไม่เกี่ยวว่าในช่วงหาเสียงจะใช้สัญญา หรือให้ข้อตกลงแบบไหนไว้กับประชาชน

นักการเมืองส่วนใหญ่กำลังทำแบบนั้น ทำเหมือนที่เคยทำมา โดยไม่เชื่อว่าวิธีคิด และความรับรู้ของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว

 

เครื่องมือการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นระหว่างบุคคล กลุ่มหรือสื่อสาธารณะที่ประชาชนเข้าถึง เป็นเจ้าของ และสามารถเป็นผู้ใช้ ผู้กำหนดมากขึ้น ทั้งในฐานะผู้รับสาร และผู้ส่งสาร เป็นการสื่อสารโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสื่อมวลชนที่เป็นสื่อกลางอย่างรวดเร็ว

ได้ปลดประชาชนออกจากการถูกชี้นำไปเรียบร้อย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นโลกการสื่อสารที่เก็บข้อมูลที่เคยส่งถึงกันไว้ให้ย้อนกลับมาทบทวนว่าใครเคยพูดอะไรไว้อย่างไร ได้ง่ายดายแค่ป้อนคำค้นหาง่าย

ความเชื่อของนักการเมืองว่า จะผิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนอย่างไรก็ได้ ด้วยหลังเลือกตั้งสามารถควบคุมสื่อเพื่อชักนำความคิดให้ลบสัญญาและข้อตกลงนั้นไปจากความทรงจำ ให้เหลือเฉพาะที่ต้องการได้

มีความน่าสนใจยิ่งว่าเป็นความเชื่อที่เป็นจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากจะหาคำตอบว่าพฤติกรรมเช่นนี้ของพรรค หรือนักการเมืองส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยเฉพาะที่เป็นฐานคะแนนหรือให้ความนิยมกับพรรคอย่างไร

ภาพสะท้อนจากพรรคประชาธิปัตย์ดูจะชัดเจนที่สุด ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะไม่ทำตามสัญญากับประชาชนไว้ หาข้ออ้างเพื่อเข้าร่วมรัฐบาลกับผู้ที่พรรคประกาศปฏิเสธไว้ในช่วงหาเสียง ทำให้ประชาธิปัตย์ตกต่ำอย่างถึงที่สุดนับแต่ก่อตั้งพรรคมา

ชัดเจนว่าการทำให้ประชาชนสิ้นศรัทธา ไม่ใช่เรื่องที่จะฟื้นคืนได้ง่ายๆ ด้วยอาศัยการโฆษณาชี้นำภายหลัง

ผลที่เกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์จากพรรคที่ยืนอยู่ในสถานะคู่ชิงแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาตลอด กลายเป็นเหลือเพียงสภาพพรรคที่เหลือ ส.ส.เพียง 25 คน ต้องดิ้นรนหาทางร่วมรัฐบาลอยู่อย่างทุลักทุเล

 

ล่าสุดผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ออกมาว่า ผู้ที่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ อันหมายถึงเคยเลือก และครั้งที่ผ่านมาก็ยังเลือกพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อถามถึงบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป ร้อยละ 48.36 ยังเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ร้อยละ 29.51 เลือกนายชวน หลีกภัย

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าที่นำพรรคออกจากสัญญาที่หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งครั้งก่อนนั้นมีความนิยมแค่ร้อยละ 4.10 เท่านั้น

ส่วนคนอื่นแบบไม่ต้องพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อคนใหม่อย่าง นายนราพัฒน์ แก้วทอง ที่ได้ร้อยละ 4.10 เท่ากับนายจุรินทร์

และสำหรับนางมัลลิกา บุญมีตระกูล ที่เสนอตัวเอง หรือกระทั่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่กล่าวขานกันว่าเป็นผู้มีบารมีตัวจริงในพรรค แทบไม่มีความนิยมจากประชาชนอยู่เลย เพราะเป็นแค่ชื่อที่รวมกันในร้อยละ 0.82 กลุ่มชื่ออื่นๆ เท่านั้น

ภาพสะท้อนจากประชาธิปัตย์ที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า การเมืองในภาคประชาชนเปลี่ยนไปแล้วนี้

จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดยิ่งที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อ

และยังโหยหิวอำนาจจนกล้าที่จะหมิ่นแคลนประชาชนโดยไม่ทำตามที่สัญญาตกลงไว้ในช่วงหาเสียง