เถรวาทแบบลังกา อโยธยา เมืองต้นกำเนิดในไทย

ศาสนาพุทธ เถรวาทแบบลังกา แผ่ถึงไทย ระหว่าง 1600-1700

(1.) อโยธยาเมืองต้นกำเนิดเถรวาทแบบลังกา

(2.) เมืองอโยธยาใช้ภาษาไทยแผ่เถรวาทแบบลังกาออกไปถึงเมืองเครือญาติและเครือข่ายการค้า ได้แก่ สุโขทัย (ไม่เป็นลังกาวงศ์แห่งแรกในไทย ตามที่เคยเชื่อมานาน), เวียงจันท์, นครศรีธรรมราช, สองฝั่งโขง เป็นต้น

(3.) เถรวาทแบบลังกา ถูกดัดแปลงเป็นเถรวาทไทย แล้วสืบมรดกตกทอดถึงปัจจุบัน

เถรวาทแบบลังกา บางทีเรียกลังกาวงศ์ หรือลัทธิลังกาวงศ์ พบพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ (เมื่อ 87 ปีที่แล้ว) ในหนังสือ “ตำนานพระพุทธเจดีย์” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2469 ซึ่งข้อมูลหลายอย่างเปลี่ยนไปไม่น้อย แต่จะคัดโดยสรุปมาเพื่อพิจารณาเป็นพื้นฐานร่วมกัน ดังนี้

ศาสนาพุทธ เถรวาท แบบลังกา ในเมืองอโยธยา (ซ้าย) เศียรพระธรรมิกราช สมัยอโยธยา พบที่วัดธรรมิกราช อยุธยา อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ลัทธิลังกาวงศ์

พ.ศ.1696 พระเจ้าปรักกรมพาหุได้ครองราชสมบัติในลังกาทวีป

ทรงอาราธนาให้พระมหาเถรกัสปเถรเป็นประธานทำสังคายนาพระธรรมวินัย (อันนับในตำนานทางฝ่ายใต้ว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ 7) แล้วจัดวางระเบียบข้อวัตรปฏิบัติแห่งสงฆ์นานาสังวาสให้กลับคืนเป็นนิกายอันเดียวกัน เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นในลังกาทวีป

ครั้นกิตติศัพท์นั้นเฟื่องฟุ้งมาถึงประเทศพม่า มอญ ไทย ก็มีพระภิกษุในประเทศเหล่านี้พากันไปสืบสวนยังเมืองลังกา เมื่อไปเห็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ชาวลังกาตามแบบแผนนั้นก็เลื่อมใส ใคร่จะนำกลับมาประดิษฐานในบ้านเมืองของตน

แต่พระสงฆ์ชาวลังการังเกียจว่าสมณวงศ์ในนานาประเทศแตกต่างกันมาเสียช้านานแล้ว จึงเกี่ยงให้พระภิกษุซึ่งไปจากต่างประเทศรับอุปสมบทใหม่แปลงเป็นนิกายลังกาวงศ์อันเดียวกันเสียก่อน

พระภิกษุชาวต่างประเทศก็ยอมกระทำตามวิธีบวชแปลงปรากฏในตำนานพระพุทธศาสนาแต่สมัยนี้เป็นเดิมมา

พระภิกษุชาวต่างประเทศอยู่ศึกษาลัทธิพระธรรมวินัยในลังกาทวีปจนรอบรู้แล้ว แล้วจึงกลับมายังประเทศของตน บางพวกก็พาพระสงฆ์ชาวลังกามาด้วย เมื่อมาถึงบ้านเมืองเดิมผู้คนเห็นว่าพระสงฆ์ลังกาวงศ์ปฏิบัติครัดเคร่งในพระธรรมวินัย ก็พากันเลื่อมใสให้บุตรหลานบวชเรียนในสำนักพระสงฆ์ลังกาวงศ์มากขึ้นโดยลำดับ ทั้งในประเทศพม่ารามัญและประเทศสยาม ตลอดไปจนประเทศลานนา ลานช้างและกัมพูชา เรื่องตำนานพระสงฆ์นิกายลังกาวงศ์มีเนื้อความดังแสดงมา——

วัดอโยธยา (วัดเดิม) องค์เดิมอยู่ข้างในสมัยอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ตั้งแต่ลัทธิลังกาวงศ์มาเจริญขึ้น ลัทธิมหายานก็เสื่อมทรามแล้วเลยสูญไป ในประเทศสยามคงมีแต่พระสงฆ์ถือลัทธิหินยาน แต่ว่าในชั้นแรกต่างกันเป็น 2 นิกาย คือ พระสงฆ์พวกเดิมนิกาย และพระสงฆ์พวกที่อุปสมบทตามลัทธิลังกาวงศ์นิกาย

ในประเทศพม่ารามัญเขมร พระสงฆ์ก็เป็นสองนิกายเช่นนั้นเหมือนกัน ในที่สุดจึงรวมเข้าเป็นนิกายอันเดียวกัน

เรื่องรวมพระสงฆ์นิกายเดิมกับนิกายลังกาวงศ์เข้าเป็นนิกายอันเดียวกัน ที่เมืองมอญถึงพระเจ้าแผ่นดินต้องบังคับ ดังปรากฏอยู่ในจารึกกัลยาณีของพระเจ้ารามาธิบดีศรีปิฎกธรเมืองหงสาวดี แต่ในประเทศสยามนี้รวมกันได้ด้วยปรองดอง

ในศิลาจารึกที่เมืองสุโขทัยก็ดี ที่เมืองเชียงใหม่ก็ดี ปรากฏว่าพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาอยู่วัดในอรัญญิก เมื่อไปตรวจดูถึงท้องที่ทั้ง 2 แห่งนั้นก็เห็นสมจริง ด้วยที่เมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่ บรรดาวัดใหญ่โตอันเป็นเจดียสถานสำคัญของบ้านเมือง เช่น วัดมหาธาตุหรือวัดเจดีย์หลวง เป็นต้น มักสร้างในเมือง

แต่ยังมีวัดอีกชนิดหนึ่งเป็นวัดขนาดย่อมๆ สร้างเรียงรายกันอยู่ในที่ตำบลหนึ่ง ห่างเมืองออกไประยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร วัดที่ปรากฏชื่อว่าเป็นวัดสำคัญของพวกพระสงฆ์ลังกาวงศ์ เช่น วัดสวนมะม่วง อันเป็นที่สถิตของพระมหาสวามีสังฆราชกรุงสุโขทัยก็ดี วัดป่าแดงอันเป็นที่สถิตพระสังฆราชเมืองเชียงใหม่ก็ดี ล้วนสร้างในตำบลที่กล่าวข้างหลัง คือในที่อรัญญิกอันอยู่ห่างหมู่บ้านออกไประยะทางพอพระเดินเข้าไปบิณฑบาตถึงในเมืองได้

ที่เป็นเช่นนั้นพึงเห็นเป็นเค้าว่าพระสงฆ์นิกายเดิมคงอยู่วัดใหญ่ๆ ในบ้านเมือง ส่วนพระสงฆ์ลังกาวงศ์ไม่ชอบอยู่ในละแวกบ้าน เพราะถือความมักน้อยสันโดษเป็นสำคัญ จึงไปอยู่ ณ ที่อรัญญิก คนทั้งหลายที่เลื่อมใสก็ไปสร้างอารามถวายพระสงฆ์ลังกาวงศ์ที่ในอรัญญิกนั้น ครั้นมีกุลบุตรอุปสมบทในนิกายลังกาวงศ์มากขึ้น ก็สร้างวัดเพิ่มเติมขึ้นในอรัญญิก จึงมีวัดเรียงรายต่อกันไปเป็นหลายวัด

อันที่จริงพระสงฆ์นิกายเดิมกับนิกายลังกาวงศ์ก็ถือลัทธิหินยานด้วยกัน แต่เหตุที่ทำให้แตกต่างถึงไม่ร่วมสังฆกรรมกันได้มีอยู่บางอย่าง ว่าแต่เฉพาะข้อสำคัญอันมีเค้าเงื่อนยังทราบได้ในเวลานี้ คือ

พระสงฆ์นิกายเดิม เห็นจะสังวัธยายพระธรรมเป็นภาษาสันสกฤต (มาแต่ครั้งพวกขอมปกครอง) แต่ พวกนิกายลังกาวงศ์ สังวัธยายเป็นภาษามคธ ผิดกันในข้อนี้อย่างหนึ่ง

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง สมัยอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

อีกอย่างหนึ่งพวกลังกาวงศ์รังเกียจสมณวงศ์ในประเทศสยาม ทำนองจะเห็นว่าปะปนกับพวกถือลัทธิมหายานมาเสียช้านานถือว่าเป็นนานาสังวาสไม่ยอมร่วมสังฆกรรม พระสงฆ์จึงแยกกันอยู่เป็น 2 นิกาย ทั้งที่เมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่ เหตุที่จะรวมพระสงฆ์เป็นนิกายอันเดียวกันนั้นสันนิษฐานว่าคงจะเกิดแต่พวกผู้มีบรรดาศักดิ์นิยมบวชเรียนในนิกายลังกาวงศ์มากขึ้นทุกที เมื่อความนิยมแพร่หลายลงไปถึงพลเมือง ก็พากันบวชเรียนในนิกายลังกาวงศ์มากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พระสงฆ์นิกายเดิมน้อยลงเป็นลำดับมา จนที่สุดจึงต้องรวมกับนิกายลังกาวงศ์——-

ตั้งแต่ลัทธิลังกาวงศ์มารุ่งเรืองในประเทศสยาม ไทยก็รับแบบแผนของลังกามาประพฤติในการถือพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า การสร้างพุทธเจดีย์ ก็สร้างตามคติลังกา พระธรรม ก็ทิ้งภาษาสันสกฤตกลับสาธยายเป็นภาษามคธ เป็นเหตุให้การศึกษาภาษามคธเจริญรุ่งเรืองในประเทศสยามแต่นั้นมา

ส่วนพระสงฆ์นั้น ตั้งแต่รวมเป็นนิกายอันเดียวกันแล้ว ก็กำหนดต่างกันแต่โดยสมาทานธุระเป็น 2 พวกตามแบบอย่างในเมืองลังกา (แต่เป็นนิกายอันเดียวกัน) คือ พวกซึ่งสมาทานคันถธุระ เล่าเรียนภาษามคธเพื่อศึกษาพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก มักอยู่วัดในบ้านเมืองอันเป็นสำนักหลักแหล่งที่เล่าเรียนได้ชื่อว่า “พระสงฆ์คามวาสี” พวกซึ่งสมาทานวิปัสสนาธุระ ชอบบำเพ็ญภาวนาหาความวิมุติ มักอยู่วัดในอรัญญิก ได้ชื่อว่า “พระสงฆ์อรัญวาสี”——-

มีการบางอย่างซึ่งไทยรับลัทธิลังกามาแก้ไขใช้ให้เหมาะแก่ความนิยมในภูมิประเทศ เป็นต้นว่า ตัวอักษรซึ่งเขียนพระไตรปิฎก คงใช้ตัวอักษรขอม พุทธเจดีย์บางอย่างก็คิดแบบแผนขึ้นใหม่ ดังเช่นรูปพระเจดีย์สุโขทัย เป็นต้น

พระพุทธศาสนาที่ถือกันในประเทศสยาม ควรนับว่าเกิดเป็นลัทธิสยามวงศ์ จนเมื่อปลายสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่เมืองลังกาเกิดจลาจลหมดสิ้นสมณวงศ์ ได้มาขอคณะสงฆ์ไทยมีพระอุบาลีเป็นประธานออกไปให้อุปสมบท กลับตั้งสมณวงศ์ขึ้นในลังกาทวีป ยังเรียกว่านิกายสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์อยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ