ผ่าแกน ‘ตลาดคอนโดไทย’ พึ่งพา ‘ต่างชาติ’ กำลังซื้อหลัก ‘จีน’ ยืนหนึ่ง ‘พม่า’ ดาวรุ่ง อาเซียนจ่อแซง

ท่ามกลางกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง ติดหล่มมรสุมหลายด้านรุมเร้าเข้ามาเขย่าตลาดคอนโดมิเนียมไทยให้ซวนเซ ไม่ว่าหนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันยอดรีเจ็กต์เรตพุ่งกระฉูด 40-50% ทำให้เทรนด์คอนโดมิเนียมราคาต่ำ 3 ล้านบาท เคยเป็นสินค้ายอดนิยม กลายเป็นตลาดซื้อไม่ง่าย ขายไม่คล่อง เหมือนเมื่อก่อน

ทางรอดหนึ่งที่บรรดาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างช่วงชิง เพื่อประคับประคองยอดขาย นั่นคือ การดึงลูกค้าต่างชาติที่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สอง เข้ามาทดแทนกำลังซื้อในประเทศที่แผ่วลง

แม้ลูกค้าจากประเทศจีนยังไม่คัมแบ๊ก แต่ยังมีลูกค้าจากสัญชาติอื่นๆ ทดแทน ไมว่าจะเป็นรัสเซีย เมียนมา กัมพูชา แม้ปริมาณการซื้อยังไม่มากเท่ากับลูกค้าจีนที่เป็นตลาดหลักของคอนโดมิเนียมไทยก็ตาม

 

สอดคล้องกับข้อมูลของ “วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC ที่เปิดยอดการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวน 3,775 หน่วย เพิ่มขึ้น 79.2% และมีมูลค่า 17,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยจีนยังคงเป็นประเทศที่มีการโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด 1,747 หน่วย คิดเป็น 46% มูลค่า 8,191 ล้านบาท คิดเป็น 48% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของต่างชาติทั้งหมด

รองลงมารัสเซีย 387 หน่วย มูลค่า 1,364 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 156 หน่วย มูลค่า 653 ล้านบาท สหราชอาณาจักร 146 หน่วย มูลค่า 703 ล้านบาท เยอรมัน 131 หน่วย มูลค่า 611 ล้านบาท ฝรั่งเศส 130 หน่วย มูลค่า 606 ล้านบาท ไต้หวัน 94 หน่วย มูลค่า 468 ล้านบาท เมียนมา 76 หน่วย มูลค่า 497 ล้านบาท ออสเตรเลีย 71 หน่วย มูลค่า 310 ล้านบาท และญี่ปุ่น 63 หน่วย มูลค่า 278 ล้านบาท

ด้าน “โสภณ พรโชคชัย” ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA กางข้อมูลการซื้อที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติในปี 2566 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 9,600 หน่วย เป็นห้องชุด 7,700 หน่วย และมีคนจีนซื้อราว 5,400 หน่วย หรือ 56.3% ส่วนระดับประเทศจาก 220,000 หน่วย ถูกต่างชาติซื้อไปแล้ว 13,200 หน่วย และซื้อโดยคนจีนราว 53.3%

 

ฝั่งผู้ประกอบการ “ธงชัย บุศราพันธ์” รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ออกมาตอกย้ำว่าขณะนี้ดีมานด์ต่างชาติเริ่มกลับมาแล้วหลังวิกฤตโควิด โดยปีนี้โนเบิลตั้งเป้ายอดขายต่างชาติอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ผ่านมา 6 เดือนมียอดขายต่างชาติแล้วร่วม 5,000 ล้านบาท นับเป็นยอดขายที่สูงขึ้นมาก เพราะเท่ากับยอดขายปี 2565 ตลอดทั้งปี โดยลูกค้าหลักมาจากหลายสัญชาติ ไม่ว่าฮ่องกง ไต้หวัน เมียนมา ส่วนใหญ่ซื้อในทำเลย่านสุขุมวิท รัชดา พระราม 9 ขณะที่ลูกค้าจีนยังเข้ามาไม่มาก ต้องรอลุ้นในครึ่งปีหลังนี้

ขณะที่ “ศานิต อรรถญาณสกุล” ซีอีโอบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ระบุว่าตลาดคอนโดมิเนียมยังมีดีมานด์จากต่างชาติ ล่าสุดปิดดีลซื้อขายบิ๊กล็อตโครงการไฮด์ สุขุมวิท 11 ให้ต่างชาติแล้วกว่า 100 ยูนิต ราคาเฉลี่ยยูนิตละ 7-8 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าร่วม 800 ล้านบาท โดยปีนี้ปิดดีลการขายแล้วจำนวน 40-50 ยูนิต มูลค่า 400 ล้านบาท รอโอนกรรมสิทธิ์ในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนที่เหลืออีก 40-50 ยูนิต มูลค่า 400 ล้านบาท จะปิดจ๊อบในปี 2567

พร้อมกับเผยอีกว่า ลูกค้าที่มาซื้อเป็นบริษัทโบรกเกอร์จากประเทศฮ่องกงที่มีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง เพื่อไปทำการตลาดขายให้กับนักลงทุนเป็นลูกค้าต่างชาติชาวไต้หวัน ฮ่องกง และจีน ทั้งปล่อยเช่าหรือซื้ออยู่อาศัยเอง

 

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกค่ายที่ได้แรงหนุนจากลูกค้าต่างชาติไม่แพ้กัน โดย “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ซีอีโอสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฉายภาพตลาดคอนโดมิเนียมปีนี้ยังขมุกขมัว โดยเฉพาะตลาดระดับกลาง-ล่างราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทที่ค่อนข้างแย่ เป็นผลจากภาวะหนี้ครัวเรือนเรื้อรัง ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้แบงก์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อ โดยในส่วนของผู้ซื้อมียอดกู้ไม่ผ่านสูงถึง 40-50% ทำให้กำลังซื้อในประเทศไม่ค่อยดี แต่กำลังซื้อต่างชาติยังมีดีมานด์เข้ามาต่อเนื่อง

ดูจากยอดขายอนันดาในครึ่งปีแรกของปี 2566 มียอดขายกลุ่มคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 9,700 ล้านบาท โดยได้ยอดขายจากลูกค้าต่างชาติสูงถึง 40% มาจากหลายสัญชาติ เช่น จีน สิงคโปร์ เมียนมา ขณะที่ครึ่งปีหลัง ยังต้องรอลุ้นลูกค้าต่างชาติที่เป็นดีมานด์ใหม่ที่จะเข้ามา โดยเฉพาะจีนยังคงเป็นลูกค้าหลักของตลาด

ซึ่งอนันดามีสินค้าพร้อมโอนมูลค่ารวม 35,000 ล้านบาท สำหรับให้นักลงทุนและผู้อยู่อาศัย

 

ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการรายอื่น เริ่มเปิดเกมบุกตลาดต่างชาติมากขึ้น ล่าสุด “ปิยะ ประยงค์” ซีอีโอค่ายพฤกษา เรียลเอสเตท แย้มว่าในปี 2566 พฤกษาจะรุกทำตลาดต่างชาติมากขึ้น ทั้งเพื่อการลงทุนและอยู่อาศัยเอง นอกจากประเทศจีน ไต้หวัน ยังศึกษาเข้าไปบุกตลาดประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม ล่าสุดร่วมกับเอเยนต์นำคอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดขายปีนี้ ไปโรดโชว์ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เจาะกลุ่มคนชั้นกลางของเมียนมาที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย

ไม่ว่าโครงการพลัมคอนโด นิวเวสต์ บางใหญ่ สูง 33 ชั้น จำนวน 1,124 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 1.59 ล้านบาท โครงการเดอะ ไพรเวซี่ พาร์ค เตาปูน ราคาเริ่มต้น 2.19 ล้านบาท และโครงการแชปเตอร์วัน จรัญ-บางพลัด ใกล้รถไฟฟ้า MRT สถานีบางพลัด สูง 26 ชั้น จำนวน 1,533 ยูนิต มูลค่าโครงการ 3,300 ล้านบาท เตรียมเปิดขายเดือนตุลาคมนี้ ราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 70,000-80,000 บาท

มีเสียงเฟิร์มจาก “วิทย์ กุลธนวิภาส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แคปปิตอล วัน เรียลเอสเตท จำกัด และเคลเลอร์ วิลเลี่ยม ไทยแลนด์ บริษัทตัวแทนขายและที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ออกมาตอกย้ำอีกแรงว่า ตลาดต่างชาติที่เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย กลุ่มลูกค้าเอเชียยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา เนื่องจากคุ้นเคยกับประเทศไทย

พร้อมคาดว่าไม่เกิน 2 ปีนับจากนี้ ผู้ซื้อจากประเทศเมียนมาจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้น ส่วนประเทศอินเดียจะเป็นอีกกลุ่มที่เติบโต แต่ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพราะยังไม่คุ้นเคยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเพื่อการลงทุนมากนัก โดยทำเลที่ต่างชาตินิยมอยู่อาศัยจะเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ เช่น สุขุมวิท สีลม สาทร แต่เพราะราคาที่ดินแพง ทำให้โครงการใหม่ราคาแพง ทำให้มีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมมือสองมากขึ้นในปัจจุบัน

เมื่อประเทศไทยกลายเป็นเซฟโซนของนานาชาติ ไม่ว่าจะหนีหนาวหรือสงคราม นอกจากวิลล่าเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่ขายดีแล้ว “คอนโดมิเนียม” ก็ฮอตไม่แพ้กัน