มหา’ลัยเอาจริง…ฟันวินัยร้ายแรง ไล่ออก ‘อาจารย์’ ช้อปงานวิจัย!!

เรียกว่าเกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งแวดวงการวิจัย ภายหลังมีการแฉพฤติกรรมการ “ช้อปปิ้ง” ผลงานวิจัย หรือการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กระทั่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เต้นเป็นเจ้าเข้า ลุกขึ้นมาจี้ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เร่งตรวจสอบอาจารย์ หรือนักวิจัยในสังกัด ว่าเข้าข่าย “ผิดจรรยาบรรณ” การเผยแพร่ผลงานจากการซื้อไปตีพิมพ์หรือไม่

ทั้งนี้ ข้อมูลการซื้อขายผลงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศส่งให้ อว.พบว่า มีนักวิจัย หรือนักวิชาการ 109 คน ในมหาวิทยาลัย 33 แห่ง มีพฤติกรรมเข้าข่ายซื้อขายผลงานวิจัย

โดยมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นสังกัด ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้ที่กระทำผิดแล้ว 9 ราย ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา 21 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 44 ราย และไม่ได้เป็นบุคลากรของสถาบันแล้ว 8 คน

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊กของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ Chulabhorn Royal Academy ได้โพสต์แจ้งความคืบหน้าเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม กรณีมีบุคลากรในสังกัดรายหนึ่ง มีพฤติการณ์ว่ามีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีความผิดปกติ จนเกิดความเสียหายต่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ตรวจสอบจนเป็นที่ยุติ พบว่าบุคลากรรายดังกล่าว มีพฤติการณ์กระทำความผิดวินัยร้ายแรงอันเกี่ยวเนื่องจากพฤติการณ์ที่ผิดปกติของการตีพิมพ์ผลงานวิจัย

ได้ลงโทษทางวินัยร้ายแรง และพ้นจากการเป็นบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว…

 

ขณะที่ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ระบุว่า มข.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจารย์ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้หลายราย พบว่าเข้าข่ายซื้อผลงานวิจัยจริง และได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว 3 ราย ต้องรอข้อสรุป แต่หากผิดจริงจะถูกลงโทษ

อย่างไรก็ตาม อธิการบดี มข.ยอมรับว่าปัญหาอาจารย์ซื้อขายงานวิจัย ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัย ทำให้สังคมสงสัย และไม่เชื่อมั่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณวิจัยที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชน ในอนาคต

พร้อมย้ำว่า มข.มีอาจารย์ และนักวิจัยกว่า 2 พันคน แต่มีไม่กี่คนที่มีพฤติกรรมผิดจรรยาบรรณ ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยจะเข้มงวดมาตรการตรวจสอบผลงานวิจัยมากขึ้น และหาว่ามี “ปัจจัย” อะไรที่ “เปิดช่อง” ให้เกิดการซื้อขายงานวิจัย

รวมถึงจะทบทวนการให้รางวัลจูงใจให้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาทุจริตซื้อขายผลงานวิจัยอีก

 

ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ก็อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง และมีอาจารย์ 1 รายอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ และสืบหาข้อเท็จจริง รวมทั้งพิจารณาวิธีลงโทษทางวินัย เพราะ มก.ต้องให้โอกาสอาจารย์ที่ถูกกล่าวหา ว่ามีเหตุผลอย่างไร แต่คาดว่าเร็วๆ นี้จะได้ผลสรุป

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มก.กล่าวว่า ถ้าพบอาจารย์ มก.คนใดลอกผลงาน หรือซื้อขายงานวิจัย ทางมหาวิทยาลัยคงไม่ปล่อยไว้ เพราะสิ่งนี้คือจรรยาบรรณของอาจารย์ และนักวิจัย ถ้ายังซื้อผลงานวิจัย ก็เหมือนส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา ทุจริตทางอ้อม และหากพบหลักฐานชัดเจนว่าอาจารย์ซื้อผลงานวิจัย คงต้องรับโทษที่ร้ายแรง

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการช้อปปิ้งผลงานวิจัยถี่ขึ้นนั้น อธิการบดี มก.มองว่า ปัญหาเพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา เพราะสมัยก่อนการให้ความสำคัญกับการตีพิมพ์ หรือใช้แข่งขัน เพื่อให้ได้รับรางวัล หรือสร้างความโดดเด่น ยังมีไม่มากเหมือนในยุคนี้

บวกกับความเข้มข้นในการตีพิมพ์ในวารสารที่มีมาตรฐานสูงสุด จึงทำให้ทุกคนอยากตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ขณะที่มหาวิทยาลัยพยายามสร้างแรงจูงใจ ให้ค่าตอบแทน และสนับสนุนงบวิจัยในอนาคต จึงทำให้อาจารย์อยากมีชื่อเสียง และเร่งผลิตผลงานออกมาเยอะขึ้น เพื่อชื่อเสียง และเงินทอง

สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ก็มีความคืบหน้าในการสอบสวนนักวิจัยที่เข้าข่ายซื้อขายผลงานวิจัย และลงโทษไล่ออกแล้ว 1 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนอีก 2 ราย

ซึ่ง ศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช.และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระบุว่า อีก 2 รายที่กำลังสอบสวนวินัย ถ้าพบว่าผิดจริง จะลงโทษเด็ดขาดเช่นกัน

 

เพื่อแก้ไขปัญหาการช้อปปิ้งผลงานวิจัย มหาวิทยาลัย 36 แห่ง ที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม ทปอ.ได้หารือในเรื่องนี้ และประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้

1. ไม่ยอมรับการกระทำผิดจริยธรรม และจรรยาบรรณการวิจัยดังกล่าว และจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิก ทปอ.กระทำความผิดจริยธรรม และจรรยาบรรณการวิจัยจริง จะถือว่ามีความผิด และลงโทษต่อไป

และ 2. มอบหมายให้คณะกรรมการวิจัย ทปอ.หาวิธีส่งเสริมให้บุคลากรยึดมั่นในจริยธรรม และจรรยาบรรณการวิจัย และกำหนดแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด

ประธาน ทปอ.ระบุว่า ต้องยอมรับว่าการทำผิดจริยธรรม และจรรยาบรรณการวิจัย เป็นเรื่องร้ายแรง เพราะมีผู้ทำผิดเพียงคนเดียว จะทำให้เกิดความเสียหายไปทั้งหมด เหมือนปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง เชื่อว่ามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ และตระหนักในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะผลงานวิจัยถือว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ จะต้องเป็นผลงานที่ผลิตออกมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจริง ไม่ใช่การคัดลอก หรือซื้อผลงานของผู้อื่น

ด้าน นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.กล่าวว่า ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมในการซื้อผลงานวิจัยของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง เรื่องนี้ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงทางจริยธรรมการวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดย อว.ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง ตรวจสอบว่ามีอาจารย์ หรือนักวิจัยที่กระทำผิดหรือไม่

นอกจากปัญหาการซื้อขายผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์เป็นผลงานของตัวเองแล้ว ปลัด อว.ยังมองว่ามีอีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมในการวิจัย คือการ “รับจ้าง” ทำวิทยานิพนธ์ หรือรับจ้างทำงานวิจัย ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรง และถูกดำเนินคดีไปแล้ว 9 ราย

โดย อว.ได้แจ้งมหาวิทยาลัยให้กวดขัน เพื่อไม่ให้อาจารย์ พนักงาน นิสิต หรือนักศึกษา มีส่วนร่วมรับจ้างเขียนงานวิจัย หรือรับจ้างเขียนวิทยานิพนธ์

 

ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.กล่าวว่า กรณีมหาวิทยาลัยตรวจสอบผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายซื้อขายงานวิจัย 109 คน ใน 33 มหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างสอบสวนวินัยผู้กระทำความผิด 9 คน ไม่พบความผิด 21 คน อยู่ระหว่างตรวจสอบ 44 คน และไม่ได้เป็นบุคลากรของสถาบันแล้ว 8 คนนั้น กรณีที่ลาออก หรือไม่ได้เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย สำนักงานปลัด อว.จะติดตามต่อไป รวมถึงคนที่เป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกจากต่างประเทศ แต่ตรวจสอบพบความผิดปกติ มหาวิทยาลัยจะไม่ต่อสัญญาจ้าง นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัย 8 แห่งไม่ส่งข้อมูล ซึ่งคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ขอให้สำนักงานปลัด อว.ติดตามให้ทุกแห่งเร่งดำเนินการ หากผิดจริงให้ลงโทษ

นอกจากนี้ สำนักงานปลัด อว.ยังแจ้งความเพจเฟซบุ๊กที่รับจ้างทำวิจัย และวิทยานิพนธ์ 5 เพจ โดยฝ่ายกฎหมายได้รวบรวมหลักฐานการกระทำความผิดที่ชัดเจนของเพจแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

อย่างไรก็ตาม รองปลัด อว.ทิ้งท้ายว่า ที่น่าตกใจคือตัวเลขผู้กระทำความผิดกว่า 109 คน ที่สำคัญส่วนใหญ่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยรัฐ หรือมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ที่มีนักวิจัยค่อนข้างมาก และใช้ผลงานวิจัยเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินผลงานด้วย

หลังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทยอย “เชือดไก่ให้ลิงดู” บ้างแล้ว

ก็ต้องจับตาว่า “อว.” และ “มหาวิทยาลัย” จะจัดการอาจารย์ หรือนักวิจัย ที่ช้อปปิ้งผลงานวิจัย หรือรับจ้างทำวิจัย และวิทยานิพนธ์ อย่างไร…

ก่อนที่จะเกิดวิกฤตศรัทธา และความเชื่อมั่น ต่อสถาบันอุดมศึกษาไทย ไปมากกว่านี้!! •

 

| การศึกษา