คณะทหารหนุ่ม (52) | การต่ออายุราชการ พล.อ.เปรม

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

อาทิตย์เดินหน้า

ระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2523 ความเห็นคัดค้านการต่ออายุ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นไปอย่างกว้างขวาง พอถึงเดือนกันยายนก็มีการเดินหน้าจากฝ่ายสนับสนุนอย่างจริงจังโดยนายทหารกลุ่มหนึ่งออกล่าลายเซ็นสนับสนุนการต่ออายุราชการ ซึ่ง พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ได้เข้าร่วมเซ็นชื่อด้วย พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ว่า

“ทหารนับพันๆ ส่งความเห็นมา ไม่ใช่ผมไปล่าลายเซ็นอย่างที่เข้าใจ ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง มีความสุจริตใจ ไม่เอาการเมืองมาเกี่ยวข้องและไม่ได้คิดเอาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปค้ำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมว่านี่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่ได้กระทำเพื่อให้เป็นอย่างอื่น ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรทั้งนั้น ผมทำก็บอกว่าผมทำ ไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ การต่ออายุผู้บัญชาการทหารบกเป็นเรื่องของขวัญและอำนาจทางการรบของทหาร เป็นเรื่องละเอียด ถ้าเรื่องถึงมือคณะรัฐมนตรีแล้วผมก็หมดหน้าที่”

การล่าลายเซ็นครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ในที่สุด ม.ร.ว.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการ ได้ส่งต่อไปให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยแจ้งว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีจะตัดสิน

คณะทหารหนุ่มแสดงจุดยืนคัดค้านการต่ออายุครั้งนี้

 

คณะทหารหนุ่มสวนทาง

คณะทหารหนุ่มมีความต้องการรักษาภาพพจน์ของกองทัพไว้ เพราะฝังใจจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก่อน 14 ตุลาคม 2516 ที่ภาพพจน์ของผู้นำกองทัพบกตกต่ำเป็นอย่างมากจากการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดและสืบทอดอำนาจจนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างทหารกับประชาชนจนเกิดความรุนแรงทางการเมืองในที่สุด

ระหว่างที่ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก และนายทวี ไกรคุปต์ กำลังเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการต่ออายุราชการ พล.อ.เปรม คณะทหารหนุ่มได้ประกาศจุดยืนชัดเจนเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2528 ในการประชุมสมาชิกใหม่ของคณะทหารหนุ่มโดยมีเจตนาให้ข่าวเผยแพร่ออกไปว่าจะยึด “หลักการ” มากกว่า “ตัวบุคคล” โดยกล่าวถึงการสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตอนหนึ่งว่า

“หลักการที่จะใช้วัดบทบาททางการเมืองของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็คือความสามารถในฐานะผู้นำรัฐบาลว่าจะสนองความต้องการของประชาชนได้ดีมากน้อยเพียงใด ถ้าประชาชนไม่ต้องการ คณะทหารหนุ่มก็เห็นว่าเราก็ไปอุ้มท่านไว้ไม่ได้ และเราก็จะทำตามอุดมการณ์ของเรา คือยึดหลักการมากกว่าตัวบุคคล”

ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ให้ความเห็นไว้ใน “ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย” ว่า คำพูดนี้ชี้ชัดว่า แม้ในขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ คณะทหารหนุ่มก็ตกลงที่จะใช้กำลังทหารทางกองทัพไปเสริมบทบาททางการเมืองของผู้นำกองทัพในระดับหนึ่งเท่านั้น มิใช่สนับสนุนโดยปราศจากหลักการ

 

พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา

พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา เป็นอีกตัวละครสำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เสถียร จันทิมาธร บันทึกใน “เส้นทางสู่อำนาจ มนูญ รูปขจร อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงา เปรม ติณสูลานนท์” ว่า

“การต่ออายุราชการ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกออกไปอีก 1 ปี ถือได้ว่าเป็นจุดหักเลี้ยวที่สำคัญจุดหนึ่งในทางการเมืองและในทางการทหารของไทย

ประการหนึ่ง ยืนยันว่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกทรงความหมายอย่างยิ่ง

ประการหนึ่ง ยืนยันให้เห็นบทบาทของทหารหนุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุราชการ

1 ปีในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.เปรม ติณสูนานนท์ มีรากฐานกำลังที่เป็นจริงและส่งผลสะเทือนมากน้อยเพียงใดในทางการเมือง

ที่น่าสนใจก็คือ ฐานะและตำแหน่งในทางการทหารและทางการเมืองของ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา

ในทางการทหาร พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก

ในทางการเมือง พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้เป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

แม้องค์ประกอบส่วนใหญ่ของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีจะมาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ ‘นิด้า’ เพราะว่า พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา เคยศึกษาระดับปริญญาโทที่สถาบันแห่งนี้ แต่ก็ระดมบุคคลดีเด่นในทางวิชาการจากสถาบันอื่นได้เป็นอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์เสน่ห์ จามริก จากธรรมศาสตร์ หรือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

 

ที่ปรึกษาก็ไม่เห็นด้วย

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร กล่าวถึงทัศนะของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไว้ใน “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ว่า

“ทางยังเติร์กได้เตรียมการไว้ทุกอย่างที่จะให้ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา เป็นผู้บัญชาการทหารบก ผมเชื่อว่าที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทุกคนมีความหวังว่า พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา จะเป็นผู้บัญชาการทหารบก”

เหตุการณ์เกิดขึ้นว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่ออายุราชการ ทางคณะที่ปรึกษาก็ค้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้มอบหมายให้ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ซึ่งเป็นโฆษกรัฐบาลมาชี้แจง ชี้แจงกำๆ กวมๆ ก็โดนคณะที่ปรึกษาเอ็ดตะโร

ทางคณะที่ปรึกษาได้ค้านการต่ออายุราชการอย่างรุนแรงจน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้เกียรติมาชี้แจงแล้วก็บอกว่าเป็นสิ่งจำเป็น ขอให้เห็นใจ

แต่บรรดาคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกลับไม่ทราบว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้พูดคุยกับ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา เรียบร้อยแล้วว่าท่านมีความจำเป็นต้องต่ออายุราชการ เพราะฉะนั้น พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา จะไม่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ขณะเดียวกัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ขอให้ พล.อ.สันห์ จิตรปฏิมา ไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เล่าว่า พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา บอกกับท่านว่า “พี่เปรมไม่ต้องห่วง ผมจะทำงานรับใช้ต่อไป”

ถ้อยความที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ บอกกับ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา และคณะที่ปรึกษาว่า “เป็นสิ่งจำเป็น” นั้น ในที่สุดจะกลายมาเป็นคำแถลงของพรรคประชาธิปัตย์ว่า “ข้อมูลใหม่”

“ข้อมูลใหม่” นี่เอง คือ “สิ่งจำเป็น” ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อ้างว่าต้องต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีก 1 ปี

 

“ข้อมูลใหม่”

“บันทึกวิเคราะห์และวิจารณ์ 16 นายกรัฐมนตรีไทย” ของศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร ได้สรุปความหมายของ “ข้อมูลใหม่” ว่า

“ขณะที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากคุณเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นั้น ท่านดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันเป็นตำแหน่งการเมืองนั้น พอถึง 1 ตุลาคม 2524 ท่านก็อายุครบ 60 ปี จะต้องถูกปลดเกษียณจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอันเป็นตำแหน่งประจำ แต่ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ขณะนั้นมียศพลตรีได้รวบรวมรายชื่อนายทหารจำนวนมากกราบบังคมทูลขอให้มีการต่ออายุผู้บัญชาการทหารบกต่อไปอีก”

“ในขั้นแรกก็มีกระแสคลื่นต้านทานกันมากถึงกับรองนายกฯ 3 คนต้องเข้าเฝ้าฯ ในหลวง ทำให้รองนายกรัฐมนตรีได้ทราบ ‘ข้อมูลใหม่’ ในที่สุดก็มีการแก้กฎหมายเพื่อให้คุณเปรมเป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อไปได้อีก 1 ปี และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคุณเปรมก็ยังเป็นอยู่ต่อมา”

“พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยปักใจว่า ผู้ที่เป็นผู้บัญชาการทหารบกนั้นควรจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง”

“ข้อมูลใหม่” จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับให้มีการต่ออายุราชการ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปอีก 1 ปี