ประชาธิปัตย์ ขยับขั้ว มรสุมดีลทักษิณ เพิ่มดีกรีแตกหัก 4 หัวหน้าปะทะ 22 ส.ส.อำนาจใหม่

ผลการเลือกตั้งทุบสถิติในทุกดัชนี พรรคประชาธิปัตย์ยุคหลังเลือกตั้ง 2566 นับว่าเหลือแต่ “ซาก” เท่านั้น

มี ส.ส.จำนวนต่ำสุด 25 คน มีคนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ทั้งประเทศได้เพียง 9.2 แสนเสียง ส.ส. 25 คน ถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี

แพ้การเลือกตั้งใหญ่ต่อเนื่อง 8 ครั้ง ในรอบ 31 ปี แถมสูญพันธุ์ในพื้นที่เมืองหลวงติดต่อกันถึง 2 ฤดูการเลือกตั้ง

ไม่นับรวมทักษะการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่ประชาธิปัตย์ไม่เคยได้รับตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนาน 14 ปี

การเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคครั้งใหม่ จึงอยู่ในภาวะต่อสู้กันทุกรูปแบบ ชิงไหวชิงพริบกันทุกจังหวะก้าว เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กับกลุ่มอำนาจใหม่ ในพรรคที่อนุรักษนิยมสุดขั้ว

 

กลุ่มอำนาจใหม่ มีเดิมพันเป็นฝ่ายรัฐบาล และเก้าอี้รัฐมนตรี มีแกนนำคือ อดีตเลขาธิการพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน จับมือกับอดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ที่มั่นหมายตำแหน่งหัวหน้า-เลขาธิการพรรคคนใหม่ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา ผู้มีบารมีเหนือ ส.ส. 21 คน

กลุ่มอำนาจเก่า มีเดิมพันในการรักษา “หัว-แบรนด์” ประชาธิปัตย์ไว้ และสถาปนากลุ่มอำนาจเก่าใน “หัวใหม่” ภายใต้การนำทางจิตวิญญาณของอดีตหัวหน้าพรรค 4 ราย ที่ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ทั้ง 2 ขั้วอำนาจในพรรค เซ็ตเกมมาตั้งแต่วันที่ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไม่เป็นทางการ กลางดึกวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

โดยกลุ่มอำนาจใหม่เปิดบ้านซ่องสุมกำลัง ทั้งกลุ่มนักการเมืองบ้านใหญ่ ส.ส.เก่า และโหวตเตอร์ ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ นับว่าได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ

วางแผนชิงหัวหน้าพรรคคนใหม่ ให้นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคสายเหนือ ล็อกมือ ส.ส.ไว้ในมือ 21 คน นำโดย ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ และนายประมวล พงศ์ถาวราเดช รั้งตำแหน่งประธาน ส.ส. ที่อยู่ในเงาของเฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

ขั้วอำนาจใหม่ ยืนยันด้วยจำนวน ส.ส.เขต แบบตัวเป็นๆ 21 คน ดังนี้

1.น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง 2.นายกาญจน์ ตั้งปอง ส.ส.ตรัง 3.นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ 4.นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ 5.นายราชิต สุดพุ่ม ส.ส.นครศรีธรรมราช 6.นายทรงศักดิ์ มุสิกอง ส.ส.นครศรีธรรมราช

7.นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช 8.ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ ส.ส.นครศรีธรรมราช 9.นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช 10.นางอวยพรศรี เชาวลิต ส.ส.นครศรีธรรมราช 11.นายชาตรี หล้าพรหม ส.ส.สกลนคร 12.นายสมยศ พลายด้วง ส.ส.สงขลา

13.นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา 14.น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ส.ส.สงขลา 15.พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา 16.นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา 17.นายยูนัยดี วาบา ส.ส.ปัตตานี 18.นางสุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง 19.นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง 20.นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี 21.นายสมบัติ ยะสินธุ์ ส.ส.แม่ฮ่องสอน

ทั้งหมดเห็นพ้องต้องตามหัวหน้ามุ้ง คือปักธงเข้าขั้วรัฐบาล แม้ต้องรุกรบแบบแตกหักกับกลุ่มของอดีตหัวหน้าพรรคคนแก่-คนเก๋าเกมการเมือง ที่ยืนตระหง่านอยู่ทั้งข้างหน้า-ข้างหลังพรรค ท่ามกลางกระแสข่าวแกนนำปีกขั้วอำนาจใหม่บินไปเจรจาดีลลับกับทักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกง ปูทางเข้าร่วมรัฐบาล

 

หัวขบวนสายอนุรักษนิยม คุมเชิงทุกชั้นแบบเรียบเนียน นำโดย 3 อดีตหัวหน้า สนธิกำลังกับ 1 อดีตหัวหน้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกชูขึ้นชิงหัวหน้าพรรคคนที่ 9

24 ชั่วโมงก่อนวันดีเดย์ เกมปั่นจากสายอีสาน ปรากฏตัวขึ้น ในนามกลุ่มตัวแทนสาขาและเขตเลือกตั้งพรรค ภาคอีสานประกาศสนับสนุนอุดมการณ์และจุดยืนของกลุ่มอำนาจเก่า ฝ่าย 4 อดีตหัวหน้าพรรค และผู้อาวุโสของพรรค

พร้อมแถลงการณ์ “คัดค้านการเข้าร่วมรัฐบาล” เพราะจะทำให้เกียรติภูมิของพรรคตกต่ำลง แต่สนับสนุนให้ทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน” หรือฝ่ายตรวจสอบ เพื่อสร้างเกียรติภูมิของพรรคให้กลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาชน

แผนการของฝ่ายท้าชิง ถูกตระเตรียมอย่างละเอียด ทั้งก่อนถึงวันอีเวนต์เลือกหัวหน้า และวันหน้างาน เริ่มตั้งแต่การจัดระบบ-ระเบียบเก้าอี้-ปักธงทำเล แถวที่นั่งในห้องประชุม

หน้างานวันประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่สอง ชิงเหลี่ยมทุกดอก เมื่อฝ่ายกลุ่มอำนาจใหม่ มาร์กจุดนั่งให้แถวแรกของห้องประชุมเป็นที่นั่งของ 25 ส.ส.ปัจจุบัน ส่วนแถวที่สอง เป็นที่นั่งของอดีต กก.บห.พรรค แถวที่สาม ที่นั่งของอดีต ส.ส.

แถวที่สี่ ที่นั่งของอดีตรัฐมนตรี ส่วนแถวถัดๆ ไปเป็นที่นั่งของตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและสาขาพรรค จากเดิมที่จัดที่นั่งไว้เพียง ส.ส.ปัจจุบันเท่านั้น องค์ประชุมส่วนที่เหลือนั่งได้เป็นอิสระ

สัญลักษณ์ของกลุ่มโหวตเตอร์ ที่สนับสนุนให้อดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 7 ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 9 กระจายกันนั่งทั่วห้องประชุม ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจใหม่ ที่มีเสียงเกือบ 70% ของโหวตเตอร์ทั้งหมด

เมื่อการประชุมเริ่มต้น วาระระทึก โหวตเตอร์ทั้งห้องประชุมแทบหยุดหายใจ รอส่งสัญญาณจากหัวขบวนทั้ง 2 ขั้วอำนาจ

กลุ่มอำนาจใหม่ได้กำลังเสริมจาก จิตภัสร์ กฤดากร เป็นแนวร่วม

ส่วนกลุ่มอำนาจเก่า มีคนการเมืองเก๋าเกมระดับอดีตรัฐมนตรี กระจายตัวอยู่ทั่วห้องประชุม ตั้งแต่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สาทิต ปิตุเตชะ และกลุ่มเพื่อนมาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค

 

ที่สุดเมื่อถึงนาทีเด็ดขาด โหวตเตอร์ไม่ครบองค์ประชุม มีผู้มาประชุมเพียง 210 คน ไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ที่กำหนดให้มีองค์ประชุม 250 คนขึ้นไป

เกมจึงตกอยู่ในฝ่ายของกลุ่มอำนาจเก่า “เลื่อนการประชุม” อย่างไม่มีกำหนด เพื่อยื้อเกมจัดตั้งรัฐบาล ดึงรั้งไม่ให้ 21 ส.ส.จับมือกรรมการบริหารพรรคใหม่ ย้ายพวกเข้าสมทบกับขั้วรัฐบาลเพื่อไทย

อำนาจกลับคืนสู่กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ ประกอบด้วย นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรค นายเฉลิมชัย เลขาธิการพรรค

รองหัวหน้าพรรค 11 คน ได้แก่ นายนราพัฒน์ แก้วทอง นายไชยยศ จิรเมธากร นายสาธิต ปิตุเตชะ นายเดชอิศม์ ขาวทอง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายอลงกรณ์ พลบุตร นายสรรเสริญ สมะลาภา และนายอัศวิน วิภูศิริ

รองเลขาธิการพรรค 4 คน ได้แก่ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร นายอิสะ เสรีวัฒนวุฒิ นายชัยชนะ เดชเดโช นายธนา ชีรวินิจ นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ เหรัญญิกพรรค นายวิรัช ร่มเย็น นายทะเบียนสมาชิกพรรค นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค

กรรมการบริหารพรรค ได้แก่ นางขนิษฐา นิภาเกษม นางกษมา วงศ์ศิริ นายชวลิต รัตนสุทธิกุล นายถนอมศักดิ์ แป๊ะเส้ง นายทวีโชค อ๊อกกังวาล นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ นางสุพัชรี ธรรมเพชร น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ นายบัญญัติ เจตนจันทร์ และนายชนินทร์ รุ่งแสง

จากนี้ไปจนกว่าจะมีการจัดประชุมวิสามัญครั้งใหม่ เกมยังอยู่ในแดนของขั้วอำนาจเก่า ฝ่ายหนุนนายอภิสิทธิ์ ยังกระจายหาเสียงอยู่ทั่วทั้งพรรค

เกือบ 100 วันหลังแพ้เลือกตั้งอย่างย่อยยับ พรรคประชาธิปัตย์เดินมาถึงจุดที่จบเกมอำนาจไม่ลง ท่ามกลางข่าวที่สะพัดแรงราวกับมรสุมฤดูฝน เรื่องการดีลข้ามขั้ว ขยับตัวไปใกล้ชิด-เจรจากับฝ่ายศัตรูเก่าอย่าง “ทักษิณและพวก” ยิ่งทำให้ดีกรีการต่อสู้ของ 2 ขั้วในพรรคยิ่งทวีความรุนแรง