ผลประโยชน์กัมพูชา ในฐานทัพเรือ เรียม (Ream) | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

พอผมเริ่มต้นด้วยผลประโยชน์กัมพูชาในฐานทัพเรือเรียม (Ream) หลายคนคงหัวเราะว่า เขียนไปทำไม ฐานทัพเรือเรียม เป็นของกัมพูชา อยู่ในประเทศกัมพูชา กัมพูชาย่อมมีผลประโยชน์แน่นอน

อาจจริงครับ แต่การรับรู้ของคนจำนวนมากทั้งไทยและเทศกำลังจมอยู่ในข้อถกเถียงเรื่อง ฐานทัพเรือเรียมในกรอบของการแข่งขันทางการเมืองระหว่างประเทศระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

นี่ก็เป็นความจริงอีกชุดหนึ่ง แต่ผมจะลองเน้นไปที่ผลประโยชน์ของกัมพูชา

กัมพูชาเป็นชาติเล็กที่แนวคิดและนโยบายของชนชั้นนำไม่เล็กอย่างที่ใครๆ เข้าใจ

 

ข้อถกเถียง

ถ้าเป็นเรื่องฐานทัพเรือเรียม ส่วนใหญ่มุ่งไปที่มิตรภาพกัมพูชากับจีน

ข่าวการให้เงินอุดหนุน การปรับปรุงฐานทัพเรือเรียม ซึ่งอยู่ทางใต้ของกัมพูชา มีการนำเสนอว่าเป็นท่าเรือน้ำลึก มีฐานทัพเรือ มีศักยภาพในการใช้เป็นอู่เรือบรรทุกเครื่องบินและเรือชนิดต่างๆ ของกองทัพเรือจีน ที่ท้าทายการมีอยู่ของกองเรือสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้1

ดังจะเห็นรายงานข่าวของสื่อสำคัญ มีการรายงานถึงฐานทัพจีนในกัมพูชา มีการมองการพัฒนาฐานทัพผ่านการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ประเมินให้เห็นว่า กัมพูชาเสี่ยงการขาดความเป็นอิสระทางนโยบายต่างประเทศ

มีการตั้งข้อสังเกตถึงรัฐบาลกัมพูชาโจมตีซ้ำๆ ต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย อันแสดงถึงภาพของความพยายามลดการพึ่งพาอิทธิพลจีนและปรับปรุงความสัมพันธ์ของกัมพูชาต่อชาติตะวันตก

แต่สิ่งที่ขาดหายไปมากของการถกเถียงเรื่องฐานทัพเรือเรียมคือ ผลประโยชน์แห่งชาติของรัฐบาลกัมพูชา

โดยเฉพาะความปรารถนาให้ได้มาซึ่งความสามารถและอุปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพเรือกัมพูชาและบริบทที่กว้างไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชา

 

ผลประโยชน์ของกัมพูชา

การพัฒนาฐานทัพเรือเรียมสัมผัสได้กับความสำคัญอันดับแรกในแผนป้องกันประเทศกัมพูชา (National Defense Policy) 20222 คือการป้องกันชายแดน (Border Defense)

ในช่วง 2008-2011 ความขัดแย้งเขาพระวิหารกับไทย ทำให้กองทัพกัมพูชาดำเนินการครั้งใหญ่ในการปฏิรูปกองทัพ มีเป้าหมายปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนกัมพูชา

โดยเกิดขึ้นทันทีหลังเกิดการปะทะกับไทยเรื่องเขาพระวิหารในปี ค.ศ.2008 รัฐบาลกัมพูชาประกาศเพิ่มงบประมาณการทหารเป็น 2 เท่า แม้ว่ามีความช่วยเหลือทางทหารของจีน เงินกู้และการฝึกฝนจากทางจีน

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงกับรัฐบาลกัมพูชา การขยายความร่วมมือทางทหารต่อมาได้เพิ่มความแน่นแฟ้นต่อกันภายใต้ MOU ว่าด้วยการจัดเป็นประจำการประชุมทางการเมืองและทางทหารญี่ปุ่น-กัมพูชา (Japan-Cambodia Politico-Military Dialogue)

ปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติเงินกู้ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อใช้ก่อสร้างเทอร์มินอลเพิ่มเติมของท่าเรือสีหนุวิลล์ การพัฒนานี้หาทางเพิ่มความสามารถการส่งออกสู่นานาชาติของกัมพูชา ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ

กองเรือจากกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล (Japan Maritime Self Defense Force) เยือนท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์เป็นเวลา 3 วันในเดือนมีนาคม 2023 ในปี 2022 เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่ท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์ได้รับเชิญให้เยือนฐานทัพเรือเรียม และทางรัฐบาลญี่ปุ่นยังลงทุนอย่างสำคัญในท่าเรือพาณิชย์ที่ไม่ได้เป็นท่าเรือน้ำลึก ที่มีโอกาสและมีศักยภาพใช้แบบที่มีการเพิ่มบทบาทของจีนในฐานทัพเรือเรียมด้วย

ด้วยเหตุผลหลักทางเศรษฐกิจ ท่าเรือสีหนุวิลล์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาตกลงข้อเสนอก่อสร้างการขนส่งทางน้ำ (transportation waterway) ระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลจังหวัดแก๊บ (Kep) นับเป็นครั้งแรกที่เรือจะสามารถเข้าสู่ทะเลโดยตรงจากแม่น้ำโขง

เราไม่ควรประเมินต่ำเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ด้วยมากกว่า 70% การนำเข้าและส่งออกทำผ่านท่าเรือสีหนุวิลล์ ซึ่งตอนนี้สามารถเข้าถึงทางน้ำได้จากเมืองพนมเปญเลย เพื่อกระจายโอกาสการส่งออก นอกจากสีหนุวิลล์และท่าเรือต่างๆ ในไทย เวียดนาม ท่าเรือนานาชาติกำลังก่อสร้างที่จังหวัดเกาะกง (Koh Kong) ของกัมพูชา

โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ จากยุทธศาสตร์การทูตเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy Strategy) 2021-20233 ซึ่งรายการต่างๆ ในการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศเป็นจุดเน้นใหญ่อันดับ 2 ในแนวทางนี้ ฐานทัพเรือคือ 1 ในการพัฒนาใหญ่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งกัมพูชา และเป็นส่วนใหญ่กว่าของแนวทางระดับชาติเพื่อกระฉับความสามารถและอิสระของรัฐเล็ก (Small State) กับประเทศเพื่อนบ้านและเศรษฐกิจโลก

 

มิติความมั่นคงชายแดนและนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้อยู่ภายในบริบทของความมั่นคงทางชายแดน ที่ยังเป็นความกังวลสูงสุดด้านการป้องกันประเทศ แม้มีความก้าวหน้าสำคัญด้านการปักปัน (demarcation) เขตแดนกัมพูชาทางพื้นดินและชายแดนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดยังคงไม่สมบูรณ์

ปีที่แล้ว กัมพูชาได้เจรจาเรื่องบริเวณชายแดน ยังคงมีการปักปันเขตแดนกับเวียดนาม (90% สมบูรณ์แล้ว) และกับไทย ควรบันทึกด้วยว่า การเจรจากับไทย รวมทั้งกลับมาเจรจากันภายใต้ MOU 2001 การพัฒนาที่เรียกว่า พื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย มีพื้นที่ราว 26,000 ตารางกิโลเมตร MOU 2001 ถูกทำให้เป็นโมฆะระหว่างเกิดวิกฤตการณ์เขาพระวิหารปี 2009

ในปี 1997 ไทยและเวียดนามบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์อ้างพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกันในอ่าวไทยที่มั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในการเจรจาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ใบอนุญาตการสำรวจและผลิต (Exploration and Produce) ในอ่าวไทยแก่บริษัท Chevron ในปี 2017 รัฐบาลกัมพูชาลงนามครั้งแรกในข้อตกลงกับบริษัทสิงคโปร์เพื่อสำรวจและผลิตน้ำมัน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทัพเรือไทยและเวียดนามได้ร่วมจัดกองเรือร่วมในอ่าวไทย

กัมพูชาและไทยตกลงเหมือนกัน จัดกองกำลังร่วมพรมแดนพื้นดินระหว่างวิกฤตเขาพระวิหาร

กัมพูชาและเวียดนามมีการใช้กองเรือร่วมเป็นประจำ ด้วยผลประโยชน์ที่ค้นพบใหม่ในการนำทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย และความขัดแยกชัดเจนทางทะเล กลไกความร่วมมือทางทะเลจะมีความสำคัญมากเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพภูมิภาค

แต่ด้วยความสามารถที่จำกัดของกองทัพเรือกัมพูชา การพัฒนาอีกฐานทัพเรือหนึ่งคือ ฐานทัพเรือเรียม มีอุปกรณ์ทางทหารเพิ่มขึ้นในการแสดงถึงทั้งต่อความมั่นคงดั้งเดิม (Traditional Security) และความมั่นคงใหม่ (Non-Traditional Security) ในอ่าวไทย

ในแง่นี้ เมืองเรียมตั้งอยู่ในการปฏิบัติการร่วมของกองกำลังผสมที่ทำหน้าที่ความมั่นคงทางทะเล ผ่านคณะกรรมาธิการแห่งชาติว่าด้วยความมั่นคงทางทะล (National Committee on Maritime Security)

นี่เองเป็นการปรับปรุงอย่างสำคัญต่อการขาดหน่วยงานร่วมมือภายในช่วงก่อนหน้านั้น อีกทั้งยังเป็นแสดงว่า รัฐบาลกัมพูชาทำงานเพื่อกระฉับความสามารถทางทะเลของตนมามากกว่าทศวรรษอีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่า ความมั่นคงทางทะเลและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับบทบาท อิทธิพลและผลประโยชน์ของจีนที่ฐานทัพเรือเรียม แต่เราควรใช้เรื่องฐานทัพเรือนี้เป็นการกระทำของรัฐเล็กที่ไม่ควรลดความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจด้วย

มีข้อน่าสนใจอย่างน้อยอีกคือ ฐานทัพเรือเรียม สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับวิสัยทัศน์ของชนชั้นนำทางนโยบายกัมพูชาเรื่องความมั่นคงด้านชายแดน ที่ยังเป็นที่กังวลต่อเนื่องยาวนานและแก้ไม่ตก แล้วยังถูกกระตุ้นด้วยความขัดแย้งและเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ตลอดเวลาประวัติศาสตร์

ฐานทัพเรือเป็นทั้งการเสริมสร้างสมรรถนะด้านความมั่นคงทางทหาร เป็นการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เป็นการขยายสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในแง่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการพัฒนาเศรษฐกิจการนำเข้าและการส่งออกในแง่เป็นท่าเรือเพื่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการ

โดยมีสิ่งที่ฝังตัวอยู่ด้วยคือ ความมั่นคงทางชายแดนทั้งทางทะเลรวมทั้งทางบกอีกด้วย ซึ่งชนชั้นนำกัมพูชายังรู้สึกไม่มั่นคง (Insecurity) เลย

ไม่ว่ามองในแง่ไหน ฐานทัพเรือ การปฏิรูปกองทัพ โลกทัศน์อันไม่มั่นคงของกัมพูชา มีความสำคัญต่อไทย แล้วอะไรคือโลกทัศน์และนโยบายความั่นคงไทย ในยุคผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงครองเมือง

 


1Jack Detsch, “US. Look to Check Chinese Advances at Cambodian Naval Base” Foreign Policy, 5 December 2022.

2Chanrambath Bong, “Unpacking Cambodia’s 2022 Defence White Paper” Fulcrum, ISEAS, Singapore 20 June 2022.

3Economic Diplomacy Strategy 2021-2023, Ministry of Foreign Affairs and International Cooperation, Cambodia, 13 January 2021