กรองกระแส / มูลฐาน ความเชื่อ สภาวะ “ขาลง” ของรัฐบาล เกิดขึ้นได้อย่างไร

กรองกระแส

มูลฐาน ความเชื่อ สภาวะ “ขาลง” ของรัฐบาล เกิดขึ้นได้อย่างไร

คําว่า “ขาลง” ที่นำมาต่อท้ายกับรัฐบาลอันมีพื้นฐานมาจาก คสช. อันมีพื้นฐานมาจากขบวนการรัฐประหาร สะท้อนถึงสภาพการณ์ที่แปลกอย่างประหลาดยิ่งในทางการเมือง

เป็นไปได้อย่างไร

การยกตัวอย่างที่มีความขัดแย้งภายในซึ่งปะทุออกโดยการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอาจเป็นตัวอย่าง 1

เป็นตัวอย่างที่นำไปสู่การปรับ ครม.

ขณะเดียวกัน กระบวนการปรับ ครม. นั้นเองที่ทำให้ข้อสงสัยว่าเป็นช่วงขาลงของรัฐบาลนั่นก็เห็นได้จากแทนที่จะเป็นการปรับเล็กเพียง 1 ตำแหน่ง นั่นก็คือกระทรวงแรงงาน หากแต่เป็นการปรับอย่างขนานใหญ่โดยพุ่งเป้าไปยังกระทรวงในทางเศรษฐกิจ

นั่นก็เท่ากับยอมรับในความล้มเหลวของการบริหารจัดการต่อปัญหาในทางเศรษฐกิจอันเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

จากปัญหา “ภายใน” เช่นนี้เองที่นำไปสู่ปัญหาต่อ “ภายนอก”

จากกรณี น้องเมย

ไปยัง ริชาร์ด มิลล์

มีความเห็นร่วมกันว่ากรณีการเสียชีวิตอย่างมากด้วยเงื่อนงำของ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหาร สะท้อนถึงสถานะและความนิยมของ คสช. และรัฐบาล

พลันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความเห็น

การให้ความเห็นของ 2 ท่านนี้เป็นความเห็นอันแสดงความคิดโดยทั่วไปของคนในแวดวงทหาร ซึ่งหากเป็นในห้วงเวลาปกติก็จะไม่กลายเป็นปัญหา แต่ในสถานการณ์อันถือว่าเป็นขาลงของ คสช. และของรัฐบาลกลับสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างสูง

กระทั่งทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องออกมาแสดงความเสียใจ

และเมื่อผู้นำ คสช. ผู้นำรัฐบาล เดินทางไปประชุม ครม.สัญจรทางภาคใต้โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคะแนนและความนิยมในพื้นที่ แต่เมื่อปรากฏเสียงตวาดดังขึ้นกลางตลาดปลา ปัตตานี และเกิดความพยายามในการสลายการเดินเท้าของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แยกสำโรง สงขลา

เรื่องก็บานปลายออกไปอีกเมื่อมีการให้ร้ายป้ายสีการหายตัวไปของ “แบมุส” แกนนำ

จึงไม่แปลกที่จะทำให้ประกายแห่งเพชรและการปรากฏขึ้นของนาฬิกาหรูยี่ห้อริชาร์ด มิลล์ ระหว่างการถ่ายรูปบริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จะเป็นเรื่องใหญ่โต

ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก”

อาวุธสงคราม

กับพรรคการเมือง

การตรวจจับอาวุธสงครามและวัตถุระเบิดที่หนองกลางทุ่ง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา อาจเป็นเหตุผลเสริมอย่างหนึ่งของการยืดเวลาประกาศปลดล็อกพรรคการเมืองด้วยความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง

อันเท่ากับ คสช. และรัฐบาลเปิดเกมรุกโดยการ “ยืด” เวลาเลือกตั้งให้ยาวนานออกไปอีก

กระทั่งเกิดความคิดไม่เพียงแต่ไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปในเดือนพฤศจิกายน 2561 หากแม้ความเชื่อที่ว่าอาจเป็นต้นปี 2562 ก็กลายเป็นเรื่องเลื่อนลอย

เลื่อนลอยกระทั่งคิดไปไกลว่าอาจไม่มีการเลือกตั้งในระยะอันใกล้

สภาพการณ์ในทางการเมืองเช่นนี้เท่ากับสะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็งเป็นอย่างสูงของ คสช. และของรัฐบาล ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอ เปราะบาง ปวกเปียกอย่างยิ่งของฝ่ายที่เรียกร้องต้องการการเลือกตั้ง

ปรากฏการณ์อย่างที่เรียกว่า “ขาลง” ของรัฐบาลและของ คสช. จึงเป็นปรากฏการณ์ในความแปลกเป็นอย่างยิ่งของการเมืองไทย

เพราะว่าความอ่อนแอ เปราะบาง ปวกเปียก และความไม่เป็นเอกภาพของกลุ่มและพรรคการเมืองต่างๆ น่าจะเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับ คสช. และสำหรับรัฐบาลที่จะเปิดเกมรุกไม่ว่าจะในเรื่องการสร้างผลงานความสำเร็จอันรวมถึงยืดเวลาของการเลือกตั้งให้ทอดยาวออกไปอย่างไรก็ได้

ทั้งๆ ที่อำนาจทุกอย่างล้วนอยู่ในมือของ คสช. และของรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ

อนาคต ไม่แน่นอน

โรดแม็ป เลือกตั้ง

แม้จะมีเสียงสำทับจากสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนตุลาคมต้องการความแน่นอนในเรื่องการเลือกตั้ง ตามมาด้วยเสียงสำทับจากสหภาพยุโรปในเดือนธันวาคมที่ต้องการความแน่นอนในเรื่องการเลือกตั้ง

แต่ “โรดแม็ป” ของ “การเลือกตั้ง” ก็ยังวางบนความไม่แน่นอน

เป็นความไม่แน่นอนทั้งที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้หลักประกันการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. อย่างเต็มเปี่ยม

เป็นความไม่แน่นอนทั้งๆ ที่อำนาจอยู่ในมือของ คสช. อย่างเด่นชัด

เป็นความไม่แน่นอนที่นับวันแสดงให้เห็นเป็นลำดับว่า ตลอด 3 ปีกว่าภายใต้การบริหารของ คสช. และรัฐบาลยังไม่มีอะไรเป็นความสำเร็จกระทั่งมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าหากเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้วจะสามารถเป็นหลักประกันแห่งชัยชนะได้อย่างเต็มเปี่ยม

ความไม่มั่นใจต่อชัยชนะในการเลือกตั้งนั้นเองที่บั่นทอนและก่อสภาพให้เกิดปรากฏการณ์อันนำไปสู่ลักษณะขาลงในทางการเมือง