ไท-ในภู แขก-มอญ-เขมร; มองโกล-จีน-ลาว

บทความพิเศษ

 

ไท-ในภู

แขก-มอญ-เขมร; มองโกล-จีน-ลาว

 

เมื่อประมาณปี 2540 ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง ได้มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมีชื่อในสหรัฐอเมริกา มาขอเข้าพบและสอบถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย เพื่อเขาจะจัดทำวิทยานิพนธ์เรื่องดังกล่าว

เมื่อได้รับคำถามแสดงความต้องการว่าเขาต้องการศึกษาถึงวัฒนธรรมไทย จึงบอกให้เขาไปศึกษาวัฒนธรรมอินเดียกับจีนก่อน เพราะวัฒนธรรมของชาติทั้งสองเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมประเทศในเขตเอเชียอาคเนย์ หรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นวัฒนธรรมแม่สี หรือวัฒนธรรมของแม่น้ำใหญ่อินเดียกับวัฒนธรรมแม่น้ำใหญ่ของจีน ไหลมาบรรจบกันในอาณาบริเวณที่เป็นเอเชียอาคเนย์ก็ว่าได้

ฝรั่งนักวิชาการ 2-3 คนแสนน่ารัก 6 เดือนให้หลังได้กลับมาพบผมใหม่ หลังจากได้ทำการบ้านเสร็จแล้ว คือไปอินเดียและจีนกลับมา แล้วมาเล่าให้ฟังว่าได้พบอะไรบ้าง มีอีกท่านหนึ่งเปิดเผยว่า หากไม่ได้รับคำแนะนำจากผม ให้ไปดูวัฒนธรรมอินเดียกับจีนก่อน ได้มาพูดจากัน เขาคงจะไม่หูกว้างตาสว่างเพียงนี้

สมัยผมเป็นเด็กชั้นประถม เคยถามคำถามประเภทนี้กับคุณพ่อ ท่านสาธยายให้ฟังอย่างละเอียด เกี่ยวกับวัฒนธรรมแม่สีและวัฒนธรรมสีผสม จึงทำให้ผมองอาจเสนอแนะให้ฝรั่งมังค่าทำตามโดยไม่รู้สึกเกรงขามเลยแม้แต่น้อย ทำให้แขกผู้มาเยือนเชื่อถือและปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อแม้

ครั้นอายุมากขึ้นด้วยความอยากรู้กว้างและลึกเพิ่มขึ้น จึงถือโอกาสศึกษาและไปดูด้วยตนเอง ให้เห็นจริง เพื่อจะได้ตอบคำถามของลูกๆ และอนุชนรุ่นหลังได้ชัดเจนและมีหลักการ

ผมจะเริ่มจากแขกมอญและเขมรก่อน ว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร

 

โปรดกรุณาอย่าลืมว่ามนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ ต่างหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีการหรือระบบหาอยู่หากินกันทั้งนั้น (Hunting Gathering) ผู้ชายล่าสัตว์หาปลา ผู้หญิงเก็บเกี่ยวผักผลไม้ อีกทั้งเห็ดนานาชนิดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ พร้อมหาฟืนหาไม้ในป่ามาก่อไฟหุงต้มอาหารบริโภค ผู้ที่อยู่ตามทะเลทรายก็ล่าสัตว์ทะเลทรายมาประกอบอาหารเลี้ยงชีพเป็นระยะเวลายาวนานเป็นร้อยๆ พันๆ ปี

ต่อมามีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำสำคัญของโลก อาทิ แม่น้ำไนล์ แม่น้ำยูเฟรติส-ไทกรีส แม่น้ำเหลือง แม่น้ำสินธุ ได้รู้จักการปลูกพืชผักไว้กิน มีการนำสัตว์มาเลี้ยงเพื่อบริโภคเป็นอาหารแทนการออกไปล่าสัตว์ จึงเกิดสังคม เกษตรกรรม หรือสังคมอารยะขึ้นครั้งแรกในโลก

ประมาณ 5000 กว่าปีมาแล้ว เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น ทำให้หิมะบนยอดเขาอันเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญของโลก คือ ยูเฟรติส ในบริเวณเทือกเขาและที่ราบสูงเตอรกี ละลายหมด ทำให้แม่น้ำยูเฟรติสขาดน้ำหล่อเลี้ยงและเหือดแห้งในที่สุด เหมือนดังที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ดินแดนอารยะ (Civilization) ที่อยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ที่เรียกว่าเมโสโปเตเมีย เกิดภาวะแห้งแล้งขาดน้ำเพื่อการปลูกอยู่ปลูกกิน เลี้ยงอยู่เลี้ยงกิน พลเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ต่างก็สอบถามเสาะแสวงหาแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์เพื่อการเกษตรกรรม ได้รับคำตอบจากชาวอาหรับเพื่อนบ้าน ว่าแม่น้ำหรือจะสู้มัวซิม (Mausim)

ชาวอารยันที่เป็นเพื่อนบ้านเมื่อได้ยินได้ฟังเช่นนั้น ต่างก็ลงมือค้นคว้าหาว่ามัวซิมอยู่ที่ไหน ได้ความว่าอยู่ข้ามเทือกเขาคิชฌกูฏไปก็จะพบดินแดนอุดมสมบูรณ์ของมัวซิม บางส่วนของชาวอารยันจึงออกเดินทางด้วยพลเดินเท้า อีกทั้งรถม้า ม้าเป็นพาหนะ ผ่านช่องแคบที่เรียกว่าช่องแคบไคเบอร์ (Khyber) เมื่อข้ามปากช่องไป จึงพบความอุดมสมบูรณ์ของลมประหลาดที่เรียกว่ามัวซิม และได้พบแหล่งศิวิไลซ์ริมแม่น้ำสินธุ มีการปลูกอยู่ปลูกกิน เลี้ยงอยู่เลี้ยงกินอย่างที่ตนเคยทำในแถบเมโสโปเตเมีย จึงยึดหลักปักฐานที่นั่นอันเป็นดินแดนของอินเดียโบราณ

เมื่อ 2,500 ปี ก่อนคริสตกาล คนพื้นเมืองที่อยู่ ณ บริเวณนั้น เรียกตัวเองว่า ฮารับปัน

ชาวอินเดียโบราณนี้ เรียกตัวเองว่าทมิฬ อังกฤษเรียกว่าดราวิเดียน (Dravidian)

เมื่อ 2,000 ปีก่อนพุทธกาล ชาวอารยันจากเมโสโปเตเมียได้หากันเข้ามาในอินเดียเป็นหลายระลอก ได้ทำลายอารยธรรมฮาริปันโบราณแล้วสร้างอารยธรรมใหม่ คืออารยธรรมพระเวท ต่อมากลายเป็นศาสนาฮินดู-พราหม์ในที่สุด

การสู้รบระหว่างเจ้าของถิ่น คือ แขกกาลิงคะกับแขกอารยันผู้มาใหม่ ได้ดำเนินการไปหลายระลอกถึงกับมีการแต่งเป็นนิยายเรื่องรามายณะ หรือที่เมืองไทยเรียกรามเกียรติ์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของแขกอารยะ จนในที่สุดเจ้าของถิ่นได้ล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ที่เหลือได้อพยพลี้ภัยไปทั้งทางบกและทางเรือ

กลายเป็นพลเมืองประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ อาทิ มอญ เขมร ตลอดจนชนชาติจามของมลายู อินโดนีเซีย และศรีลังกา เป็นต้น

 

อีกส่วนหนึ่งทางด้านเหนือชาวมองโกลเรืองอำนาจ ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในจีนทั้งตอนบนและตอนใต้

จีนตอนใต้เป็นที่อยู่ของอาณาจักรอ้ายลาว (Ailao) โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาอ้ายลาวที่ยังให้เห็นในปัจจุบันนี้ เรียกว่าอ้ายลาวฉาน (Ailao Shan) กองทัพมองโกลสมัยกุบไลข่าน ได้เข้าตีพื้นที่ของอาณาจักรอ้ายลาว ที่เรียกว่าเมืองยืนนาน (ยูนนาน-Yunnan) เมืองหลวงชื่อขุนเมือง (คุนหมิง-Khunming) กองทัพอ้ายลาวพ่ายแพ้แก่กองทัพของมองโกล จึงแตกกระจายออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนใหญ่เดินข้ามพรมแดนจีนเข้าพม่า เดิมเรียกตัวเองว่าอ้ายลาวฉาน ต่อมาเรียกสั้นหรือย่อเข้าเป็นฉาน อันเป็นภาษาจีนแปลว่าภูเขา เป็นลาวกลุ่มใหญ่หรือไทใหญ่

ส่วนที่ 2 อพยพเข้าสู่ประเทศใกล้เคียง คือมณฑลอัสสัมของอินเดีย เป็นไทอาหมหรือลาวอาหม

ส่วนที่ 3 เป็นส่วนน้อยหรือไทน้อย ได้อพยพมาตามลำน้ำล้านช้างหรือแม่น้ำของ กลายมาเป็นบรรพชนของอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรล้านนา และอยุธยาบางส่วน

บริเวณพื้นที่ภาคกลางอันเป็นที่ราบลุ่ม คนลาวเรียกว่าล้านเพีย ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับชาวมอญ/เขมร โดยชาวลาวอยู่ด้านฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา คือ บริเวณเมืองสุพรรณบุรี ส่วนชาวมอญ/เขมร อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเมืองละโว้ ลพบุรี

กรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นจากการสถาปนาของคนสองเผ่า คือเผ่าลาวจากสุพรรณบุรี และมอญ/เขมร จากลพบุรี

เมื่อคราวใดที่ลาวเป็นผู้มีอำนาจ ก็ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาราชการ เมื่อฝ่ายมอญ/เขมรมีอำนาจก็ใช้ภาษามอญ/เขมรเป็นภาษาราชการ

 

คนลาวที่สุพรรณบุรีหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกคนมอญ/เขมรฝั่งตะวันออกว่า ไทมอญ ไทเขมร ซึ่งแปลว่า คนมอญ คนเขมร เพราะคำในภาษาลาวไทแปลว่าคนหรือกลุ่มคน แม้คนลาวเองก็เรียกกันเองว่าไทนั่นไทนี่ สมัยผมเด็กๆ จะเล่นฟุตบอลเราก็จัดไทกันก่อน ว่าใครอยู่ไทไหนหรือทีมไหน ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ยังคงดำเนินการอยู่ในประเทศลาวปัจจุบัน คนเวียงจันทน์ไม่เคยเรียกตนเองว่าลาวเวียงจันทน์ แต่เรียกตนเองว่าไทเวียงจันทน์ หรือไทหลวงพระบาง เป็นต้น

ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกันในอยุธยาโบราณ ก็ต้องเอาภาษาของลาวมาผสมกับภาษามอญ/เขมร เพื่อให้เข้าใจได้ทั้งสองฝ่าย เรียกว่าคำกล้ำ เช่น ภูเขา( ภู-ภาษาลาว เขา-ภาษามอญ/เขมร) ฟ้อนรำ (ฟ้อน-ภาษาลาว รำ-ภาษามอญ/เขมร) ถนนหนทาง (ถนน-ภาษามอญ/เขมร หนทาง-ภาษาลาว)

ภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันเป็นภาษาผสมระหว่างมอญ/เขมร บวกกับลาว การนับ 1-10 นับเหมือนกันหมด เวลาพูดคุยกับชาวไทลื้อ (ลาวลื้อในสิบสองปันนา) คนไทยขณะนี้จึงเข้าใจได้ไม่ครบถ้วน เข้าใจได้เฉพาะคำลาว ส่วนคำเขมร/มอญบางครั้งก็ไม่เข้าใจ บางคนถึงกับทึกทักเอาว่าภาษาไทยเรามีคำบาลีสันสกฤตเข้ามาผสมมากขึ้น จึงทำให้ไม่เข้าใจภาษาของชาวลื้อหรือชาวจ้วงในเมืองจีน ได้ฟังเขาพูดเขานับ 1-10 ก็นึกว่าเป็นคนไทยแล้ว แต่ถามลึกๆ แล้วแม้กระทั่งอวัยวะต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน ชาวลาวเรียกจมูกว่าดัง คำว่าจมูกเป็นภาษาเขมร ลาวเรียกกิ่งไม้ว่า หง่าไม้ ส่วนเขมรเรียกว่ากิ่งไม้ เป็นต้น

ที่ผู้เขียนต้องเขียนเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เกิดความสับสน ไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความแตกแยกใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะการเข้าใจถูกต้อง (Right Understanding) เป็นปัญญา หรือซี่กงจักรหนึ่งในแปดซี่

การที่จะเจรจากันระหว่างชนเผ่า ระหว่างชนชาติ เชื้อชาติ จะได้เกิดความถูกต้องชอบธรรม เป็นบรรทัดฐานให้อนุชนรุ่นหลังได้เข้าใจถูกต้อง

 

การที่บรรพบุรุษของเราจะมาจากไหนไม่ใช่เรื่องน่าอับอายหรือหน้าปกปิดใดๆ ทั้งสิ้น อย่าลืมว่า ชาวมอญ/เขมร บรรพชนเขาเป็นคนที่ศิวิไลซ์ มีอารยธรรมฮาราปันอันสูงส่งจากลุ่มแม่น้ำสินธุ ไม่แพ้ชาวอารยันผู้รุกรานแม้แต่น้อย ควรจะได้เกิดความภาคภูมิใจในบรรพชนของตนได้ถูกต้อง อย่าลืมว่า ถ้าบรรพชนท่านมาจากอินเดีย ท่านจะภาคภูมิใจมากกว่า เพราะบรรพชนของท่านเป็นผู้มีความศิวิไลซ์ เป็นอารยชนยาวนานก่อนคนลาว ในประเทศจีนตอนใต้เสียด้วยซ้ำ ท่านควรจะถามหาค้นคว้าหารากของท่านให้พบ เพราะต้นไม้จะยืนหยัดอยู่ได้เพราะมีรากที่แข็งแรง

อย่าได้หลงทางตามผู้นำเผด็จการบางยุคบางสมัยของท่าน ที่หลงผิดเป็นถูกถึงกับเปลี่ยนชื่อประเทศของตนในปี 2482 เลยครับ

ยุคนี้วิทยาการเจริญก้าวหน้ามาก ไม่ต้องไปพิสูจน์ทราบด้วยถ้อยคำหรือภาษาเหมือนสมัยโบราณ หากแต่เขาใช้การพิสูจน์ DNA ว่าใครมาจากกลุ่มไหน เผ่าไหน เป็นที่น่าเชื่อถือมากกว่า แม้ชาวอินเดียเองเขาก็พิสูจน์ดีเอ็นเอของเขาว่าเป็น DNA เดียวกับชาวอารยันในเปอร์เซียหรืออิหร่านหรือไม่

นี่คือคำตอบที่จะได้เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด