จีนไม่โตเหมือนเดิม : มองมุมอาจารย์เซินลี่ผิง (3) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ศูนย์เศรษฐศาสตร์มหภาคและเศรษฐมิติประยุกต์แห่งธนาคารกลางสหรัฐสาขานิวยอร์กได้จัดทำดัชนีแรงกดดันของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain Pressure Index – GSCPI) ขึ้นมาจากข้อมูลปัจจัยตัวแปรต่างๆ 27 ตัวเกี่ยวกับค่าขนส่งทางทะเลและทางอากาศรวมทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (Purchasing Managers Index – PMI) ของ 7 ประเทศ (ได้แก่ จีน, เขตเงินสกุลยูโร, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา)

สำหรับชั่งวัดระดับความปั่นป่วนเสียกระบวนที่อาจเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานโลกว่า เพิ่มขึ้น/ลดลงจากระดับค่าเฉลี่ยทางประวัติศาสตร์มากน้อยเช่นใด เพื่อประเมินผลกระทบของมันต่อราคาและอุปทานของสินค้าต่างๆ ในตลาดโลก

ดัชนีแรงกดดันของห่วงโซ่อุปทานโลก, 1997-ปัจจุบัน, Federal Reserve Bank of New York, USA, https://www.newyorkfed.org/research/policy/gscpi#/interactive

จีนในฐานะศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานโลกช่วง 30 ปีที่ผ่านมาย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโล, 6 January 2023

ดังจะเห็นจากกราฟด้านบนได้ว่าภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในเขตโทโฮคุของญี่ปุ่นกับมหาอุทกภัยในภาคกลางและกรุงเทพฯ ของไทยเมื่อปี 2011 ก็ตาม, ความขัดแย้งและมาตรการลงโทษทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเมื่อปี 2018 และต่อมาก็ตาม, ผลกระทบจากโควิดระบาดสองระลอกเมื่อปี 2020 และ 2022 อันทำให้จีนปิดประเทศก็ตาม, สงครามรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปี 2022 ก็ตาม, ล้วนทำให้ดัชนี GSCPI พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงดังกล่าว

สะท้อนความปั่นป่วนเสียกระบวนซึ่งเกิดแก่อุปทานสินค้าที่บีบรัด จำกัดตัว ระดับราคาที่เฟ้อขึ้นและผลกระทบต่อการค้าโลกที่ตามมา

 

และกลับกันเช่นกัน (vice versa) ดังที่ เซินลี่ผิง ศาสตราจารย์สังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซินหัวของจีนวิเคราะห์ไว้ในคำบรรยายแก่ที่ประชุมสุดยอดผู้ประ-กอบการเชียนไห่ปี 2023 ณ นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันที่ 20-21 เมษายนศกนี้ ในหัวข้อ กระบวนการ “ถอดรื้อใหญ่” (大拆解 ต้าไชเจี๋ย) ของห่วงโซ่อุตสาหกรรมโลก ว่า :

“สาเหตุประการที่สองซึ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวในจีนก็คือสภาพแวดล้อมโลกที่ยากลำบากขึ้นทุกที”

ประเทศพัฒนาแล้วทั้งปวงล้วนมาจากสภาพยากไร้ขัดสนแต่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าประเทศหนึ่งไม่มีสงคราม และไม่รบราฆ่าฟันกันในประเทศ มันก็อาจเติบโตสู่สภาพค่อนข้างเจริญรุ่งเรืองได้ในระยะ 30 ปี อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนั้นมันก็จะโตจรดเพดาน ผมรู้สึกว่านี่คือจุดที่จีนขึ้นไปถึงตอนนี้

ถ้าหากสภาพแวดล้อมสากลเป็นมิตรกับจีนกว่านี้ เช่น มีความร่วมมือทางเทคโนโลยีมากกว่านี้และมีคำสั่งซื้อสินค้าออกมากกว่านี้ ปัญหาที่จีนกำลังเผชิญก็คงน่ากังวลน้อยลง แต่สภาพแวดล้อมสากลได้เปลี่ยนไปอย่างถึงรากถึงโคนแล้ว ผมเรียกมันว่ากระบวนการ “ถอดรื้อใหญ่” (大拆解 ต้าไชเจี๋ย)

 

ผู้คนมักใช้ศัพท์คำว่า “แยกคู่” มาบรรยายเศรษฐกิจระหว่างจีนกับตะวันตก สำหรับผมแล้ว คำว่า “แยกคู่” เป็นแนวคิดระดับภูมิภาคและในเชิงเทคโนโลยี ส่วน “กระบวนการถอดรื้อใหญ่” เป็นแนวคิดที่ดีกว่า เนื่องจากมันเป็นแนวคิดระดับโลกในทางยุทธศาสตร์

เรากำลังเผชิญหน้ากับกระบวนการถอดรื้อใหญ่และปฏิสังขรณ์ใหม่หลังจีนได้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในกระบวนการโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจโลก

กระบวนการถอดรื้อใหญ่นี้มีแนวคิดหลักที่ร้อยประกอบมันขึ้นมาสามประการ ได้แก่

1) การที่ยุโรปพึ่งพาพลังงานและทรัพยากรของรัสเซีย

2) การที่สหรัฐพึ่งพาห่วงโซอุปทานด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีน

และ 3) การที่จีนกับรัสเซียพึ่งพาอุปกรณ์ก้าวหน้าไฮเทคและการเงินของตะวันตก

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งที่โลกทำคือถอดรื้อการพึ่งพาที่ว่านี้ทิ้ง ตอนนี้การถอดรื้อการพึ่งพาทางพลังงานเสร็จสมบูรณ์แล้วโดยพื้นฐาน

 

เมื่อแรกเริ่มสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น รัสเซียบอกว่ายุโรปอยู่ไม่ได้หรอกโดยไม่มีน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย แต่แล้วตอนนี้ล่ะเป็นไง?

เยอรมนีอันเป็นประเทศยุโรปที่พึ่งพาพลังงานของรัสเซียมากที่สุด ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 ว่าจะหยุดนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย เศรษฐกิจยุโรปเมื่อปีที่แล้วก็จัดได้ว่าไม่เลว และปีนี้อาจดีขึ้นด้วยซ้ำ

ตำนานที่ว่ามิอาจถอดรื้อการพึ่งพาทิ้งนั้นถูกยกเลิกเพิกถอนใช้ไม่ได้ไปเสียแล้ว เราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้หนักหนาสาหัสเพียงใด มาตอนนี้การถอดรื้อการพึ่งพาที่สอง (พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีน) และการพึ่งพาที่สาม (พึ่งพาเทคโนโลยีก้าวหน้าของตะวันตก) ก็กำลังเกิดขึ้น

การถอดรื้อห่วงโซ่อุปทานตรงเป้าเข้าเรื่องกับอุตสาหกรรมการผลิตในจีนที่สุด มันมีจุดพลิกเปลี่ยนที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานเร่งรีบเคลื่อนย้ายออกจากจีนเร็วขึ้น บริษัทหนึ่งๆ อาจพบว่าการเคลื่อนย้ายออกจากจีนเป็นเรื่องยากลำบากก่อนถึงจุดพลิกเปลี่ยนที่ว่านั้น

ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าอุตสาหกรรมผลิตไฟแช็กต้องใช้ส่วนประกอบ 25 ชิ้น ถ้าหากเราสามารถหาส่วนประกอบทั้ง 25 ชิ้นมาได้ภายในระยะรัศมีไม่เกินรถวิ่งครึ่งชั่วโมงจากโรงงานประกอบไฟแช็ก ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่มันสมเหตุสมผลที่จะคงห่วงโซ่อุปทานเอาไว้ด้วยกันในเมืองจีน

แต่ถ้าเราสามารถหาส่วนประกอบดังกล่าว 20 ชิ้นได้ที่อื่นนอกเมืองจีน และสามารถจ่ายราคาเพิ่มนิดหน่อยเพื่อให้ได้ส่วนประกอบอื่นอีก 5 ชิ้นนั้นมา อีกทั้งประเทศอื่นๆ ก็เสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่การลงทุนต่างชาติมากกว่า

ถึงตอนนั้นก็กล่าวได้ว่าธุรกิจสายการผลิตนี้ได้ผ่านพ้นจุดพลิกเปลี่ยนแล้วและง่ายที่บริษัทหนึ่งๆ จะเคลื่อนย้ายออกจากจีนไป

 

ยังมีเหตุผลทางอัตวิสัยอีกประการหนึ่งที่จะทำให้เป็นเช่นนี้ บริษัทมากหลายโดยเฉพาะที่มีขนาดเล็กไม่มีปัญญาและไม่ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดทั่วถึงด้วยตัวเองหรอก ฉะนั้น ถ้าหากมีกระแสแนวโน้มการเคลื่อนย้ายออกจากจีนแล้ว พวกเขาก็จะเฮโลตามกันไปแค่นั้นเอง

สองปีหลังมานี้ บริษัทใหญ่แต่ละแห่งที่ได้เคลื่อนย้ายออกจากจีนกลายเป็นแรงกดดันทดสอบสำหรับจีน ก็ไหนบอกว่าบริษัททั้งหลายต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่ก่อตั้งขึ้นแล้วในจีนและเคลื่อนย้ายออกไปไหนไม่ได้มิใช่หรือ?

ปรากฏว่าพวกนั้นย้ายออกไปแล้ว จะว่าไงล่ะทีนี้?

ทุกวันนี้บริษัทต่างชาติบางแห่งกำลังเสียงแข็งขึ้นเวลาเจรจาต้าอ่วยกับจีน เพราะพวกเขาพบว่าการพึ่งพาจีนใช่ว่าจะเป็นเรื่องขาดเสียมิได้อย่างที่คิด

เมื่อพวกเขาย้ายไปประเทศอื่น แรกทีเดียวมันอาจไม่ดีเท่าตอนที่เคยอยู่ในจีน แต่พวกเขาก็พอเอาตัวรอดได้และจะดีขึ้นในอนาคต

การถอดรื้อใหญ่ก่อประเด็นปัญหาแตกต่างกันไปแก่ประเทศต่างๆ บรรดาประเทศตะวันตกต้องรับมือปัญหาอุปทานขณะที่ในจีนมันกลับเป็นปัญหาอุปสงค์

สงครามรัสเซีย-ยูเครนแสดงความข้อนี้ให้เห็นชัดเจน ตะวันตกไม่มีสต๊อกหรือสมรรถภาพการผลิตเพียงพอแม้กระทั่งสำหรับปืนใหญ่บางชนิด มิพักต้องพูดถึงอาวุธไฮเทคทั้งหลาย พวกเขายินดีจ่ายเงินซื้อหามันมาจากตลาดสากล

สิ่งที่เกิดกับหน้ากากอนามัยและเครื่องช่วยหายใจระหว่างโควิดระบาดก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน

นักวิเคราะห์สังกัดธนาคารเครดิต สวิส (ซึ่งเพิ่งประสบวิกฤตและถูกซื้อกิจการไปเมื่อเดือนมีนาคมศกนี้) บอกว่าในอนาคต ตะวันตกจะต้องทำอุตสาหกรรมการผลิตข้าวของมากหลายขึ้นมาในประเทศตัวเอง นี่ก็คือปัญหาอุปทานที่ตะวันตกเผชิญ

อย่างไรก็ตาม จีนกลับเป็นตรงกันข้าม กล่าวคือ จีนเผชิญปัญหาอุปสงค์ ปัญหาไม่ใช่เรื่องที่ว่าประชาชนจีนมีอำนาจซื้อพอเพียงไหม แต่เป็นว่าการดำเนินงานอุตสาหกรรมการผลิตของจีนนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนองผลผลิตให้ทั้งโลกต่างหาก

ตัวอย่างเช่น จีนผลิตรองเท้าปีละ 10.6 พันล้านคู่ โดยเฉลี่ยคนคนหนึ่งจะเปลี่ยนรองเท้าใหม่ปีละสองคู่ นั่นหมายความว่าประชากรจีนกว่า 1 พันล้านคนสามารถบริโภครองเท้าได้ปีละแค่กว่า 2 พันล้านคู่เท่านั้น มันต้องอาศัยคนทั้งโลกกว่า 7 พันล้านคนถึงจะบริโภครองเท้า 10 กว่าล้านคู่ที่จีนผลิตทุกวันนี้ได้หมด

ฉะนั้นระหว่างเกิดกระบวนการถอดรื้อห่วงโซ่อุปทาน ประเด็นปัญหาแรกที่จีนเผชิญก็คือสมรรถภาพการผลิตล้นเกินนั่นเอง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)