ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2566 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
ในที่สุดเพื่อไทยก็ไล่ก้าวไกลออกจากรัฐบาลอย่างที่ทุกคนคาดกัน
และในที่สุดเพื่อไทยก็เดินหน้าสู่การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่ประชาชนรังเกียจที่สุด
เส้นทางที่เพื่อไทยเลือกเป็นเส้นทางใหม่ที่พรรคร่วมรัฐบาลเป็นได้ทั้งภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ ซึ่งไม่มีใครต้องการ
ทันทีที่เพื่อไทยไล่พรรคก้าวไกลพร้อมกับถอนตัวจากข้อตกลงร่วมระหว่าง 8 พรรค เพื่อไทยได้ทำให้การเมืองลงต่ำสู่มาตรฐานที่กระทั่งข้อตกลงซึ่งลงนามไว้ก็ลบด้วยเท้าได้ ยิ่งกว่านั้นคือการไล่ก้าวไกลในวันที่ 2 สิงหาคม ตามมาด้วยการเปิดตัวพรรครัฐบาลใหม่ในวันที่ 3 สิงหาคม ซึ่งไม่มีทางเกิดถ้าไม่มีดีลกันเลย
ที่ผ่านมานั้นเพื่อไทยถูกโจมตีเรื่อง “ดีลลับ” และความไม่ชัดเจนเรื่องปิดสวิตช์ 3 ป. และด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่เพื่อไทยไล่ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อไทยคงไม่มีโอกาสจะแก้ตัวเรื่อง “ดีลลับ” ได้อีกแล้ว
จะมีก็แต่การตีมึนเพิกเฉยกับเรื่องนี้แล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไปเลย
ด้วยการตั้งรัฐบาลแบบเพื่อไทย อำนาจรัฐที่ควรอยู่ในมือฝ่ายประชาธิปไตยตามคะแนนที่เลือกก้าวไกลสูงสุด 14.5 ล้าน และเพื่อไทย 10 ล้านก็ถูกจัดสรรให้พรรคซึ่งมีจุดยืนขัดขวางประชาธิปไตย ชัยชนะของประชาชนวันที่ 14 พฤษภาคม จึงหายไปพร้อมกับการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของเพื่อไทยทันที
เมื่อเพื่อไทยไล่ก้าวไกลพ้นรัฐบาล คณะรัฐมนตรีที่ควรเป็นคนรุ่นใหม่จากก้าวไกลก็หายไป 14-15 ที่นั่ง
และไม่ว่าเพื่อไทยจะร่วมรัฐบาลกับใครระหว่างภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ รัฐบาลเพื่อไทยจะมีรัฐมนตรีครึ่งหนึ่งมาจากรัฐบาลคุณประยุทธ์
การโหวตนายกฯ วันที่ 4 สิงหาคม หากเกิดขึ้นก็คงไม่มีตรงไหนให้เชื่อว่าจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่งามสง่าในสายตาประชาชน
และถึงแม้นักการเมืองจะโกหกว่าการโหวตนายกฯ ไม่ใช่การจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่มีพรรคไหนโหวตนายกฯ โดยไม่ต้องการเป็นรัฐบาลด้วย เว้นแต่จะมีอุดมคติอย่างแรงกล้าจริงๆ
ตรงข้ามกับพรรคก้าวไกลที่เจรจาตั้งรัฐบาลโดยทำทุกอย่างโปร่งใสตั้งแต่เจรจา 8 พรรคและลงนามใน MOU ว่าจะทำอะไร
กระบวนการโหวตนายกฯ ถึงตอนนี้เต็มไปด้วยการหมกเม็ด, ไม่โปร่งใส, ไม่บอกว่ามีพรรคไหนร่วมโหวตนายกฯ ด้วยตั้งแต่ต้น และไม่ได้บอกเลยว่าจะทำอะไรเพื่อประชาชน
ขณะที่ผลเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม สะท้อนว่าคนไทยต้องการการเมืองใหม่ที่โปร่งใส, ไม่มีนอกไม่มีใน และตรงไปตรงมา
ปฏิบัติการไล่พรรคอันดับ 1 เพื่อตั้งรัฐบาลเองกลับเป็นหลักฐานของ “ดีลลับ” และการต่อรองของนักการเมือง, ทหาร, อดีตนายกฯ, คนชั้นสูง, เจ้าสัว และผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐธรรมนูญ
การเมืองแบบประชาธิปไตยมุ่งทำให้ “อำนาจ” อยู่ในสายตาประชาชนจนประชาชน “ตรวจสอบ” อำนาจได้ตลอดเวลา เมื่อใดที่การเมืองเป็นเรื่องของ “ดีลลับ” เมื่อนั้นสังคมก็จะอยู่ใต้อำนาจรัฐที่มีลับลมคมในซึ่งผู้ใช้อำนาจแบ่งอำนาจกันแบบลับลวงพรางจนประชาชนควบคุมอำนาจไม่ได้เลย
สื่อสายเลียบางคนบอกว่าประชาชนไม่ต้องสนใจว่าพรรคการเมืองทำอะไร เลือกตั้งจบก็จบ พรรคการเมืองจะใช้อำนาจรัฐบาลอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ ถ้าไม่พอใจก็ไปรอเลือกตั้งใหม่ ลงคะแนนครั้งหน้าก็ไม่ต้องเลือก หรือพูดง่ายๆ เลือกตั้งจบแล้วเชิญพรรคการเมืองปู้ยี่ปู้ยำประเทศตามสบาย
อำนาจรัฐหมายถึงอำนาจกำหนดนโยบาย, คุมงบประมาณ และตั้งข้าราชการซึ่งมีผลต่อประชาชนมหาศาลหลายปี ความคิดเรื่องรัฐบาลทำอะไรได้ตามใจจึงหมายถึงการปล่อยให้รัฐบาลทำนโยบายเฮงซวย, ใช้งบประมาณแบบห่วยๆ เหมือนกับยกประเทศให้รัฐบาลโดยประชาชนไม่ต้องพูดอะไร
ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่คนทั้งโลกต้องการที่สุดเพราะอยู่บนหลักการว่าอำนาจเป็นของประชาชน การเลือกตั้งคือการออกแบบระบบให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจจริงๆ ไม่ใช่คำโฆษณาชวนเชื่อ
ขณะที่ “ดีลลับ” กดประชาชนเป็นแค่คนดูเพื่อรอส่วนบุญว่าผู้มีอำนาจจะตกลงอะไรกัน
ถ้าอำนาจรัฐเริ่มต้นจากดีลลับระหว่างพรรคการเมือง, ทหาร, เจ้าสัว, ชนชั้นสูง, อดีตนายก และผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐธรรมนูญ รัฐบาลที่ได้ก็เป็นรัฐบาลที่เกิดจากการฮั้วกันของพรรคการเมืองที่ทรยศประชาชนกับชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ที่ยอมให้พรรคการเมืองนั้นมีอำนาจเท่านั้นเอง
เมื่อเทียบกับการโหวตนายกฯ ปี 2562 ซึ่งประชาชนรู้ว่าแต่ละพรรคจะโหวตแบบไหนและคิดอะไร การโหวตนายกฯ ปี 2566 เต็มไปด้วยความลึกลับราวหนังฆาตกรรมที่ต้องลุ้นว่าใครคือหัวโจกของความเลวร้ายทั้งหมด เพียงแต่ผู้ร้ายในการโหวตนายกฯ คราวนี้ชัดเจนคนดูรู้โดยไม่ต้องลุ้นว่าคือใคร
ขณะที่พรรคชนะอันดับ 1 ดำเนินการตั้งรัฐบาลโดยโปร่งใสและมี MOU ให้ประชาชนรู้ว่าจะทำอะไร ความพยายามตั้งรัฐบาลหลังจากนั้นมีแต่การหมกเม็ด, เรียกร้องให้พรรคอันดับ 1 โกหกประชาชนโดยเลิกนโยบายต่างๆ รวมทั้งฉีกข้อตกลงที่ทุกพรรคเซ็นชื่อว่าจะทำต่อประชาชน
กรณี 112 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของอำนาจรัฐที่ได้มาด้วยการโกหกประชาชน เพราะขณะที่ก้าวไกลเสนอแก้ 112 ตามคำพูดที่หาเสียง ทุกพรรคที่ต้องการเป็นรัฐบาลต่อจากก้าวไกลกลับเรียกร้องให้ก้าวไกลผิดคำพูดโดยเลิกแนวคิดนี้ ซ้ำบางพรรคก็กลับคำพูดที่เคยพูดเรื่องนี้ด้วยจริงๆ
ประชาชนต้องการพรรคการเมืองที่หลังเลือกตั้งกับก่อนเลือกตั้งไม่ต่างกัน และเมื่อใดที่นักการเมืองก่อนกับหลังเลือกตั้งต่างกัน การเลือกตั้งย่อมเชื่อไม่ได้ คนลวงโลกมีโอกาสใช้การเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจ เช่นเดียวกับ “ดีลลับ” เป็นช่องทางเกิดนายกฯ และรัฐบาลซึ่งไม่ตรงความต้องการประชาชน
ฉันทานุมัติของการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม คือความไม่ต้องการให้คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคฝ่ายคุณประยุทธ์เป็นรัฐบาล
ผลลงคะแนนที่เลือกพรรคฝ่ายค้าน 27 ล้านเสียง แต่เลือกพรรคฝ่ายคุณประยุทธ์ 5 ล้านเสียงจึงเป็นสัญลักษณ์ว่าการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วคือเรื่องซึ่งคนจำนวนมากไม่มีทางยอมรับได้เลย
ไม่ว่าจะในโพลหรือชีวิตประจำวัน “รัฐบาลข้ามขั้ว” คือสูตรรัฐบาลที่ประชาชนไม่เห็นด้วยที่สุด แต่พรรคใหญ่แทบทุกพรรคกลับแสดงออกถึงความต้องการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจนตัวสั่น ไม่ว่าโดย ส.ส., สื่อสายเลีย หรือมวลชนในสังกัด จะยกเว้นก็แต่พรรคก้าวไกลที่ยืนยันไม่เอารัฐบาลข้ามขั้วจริงๆ
เมื่อคำนึงถึงการกลับคำพูดเพื่อได้อำนาจรัฐราวกับการจัดตั้งรัฐบาลคือการประกวดความหลอกลวง เส้นทางสู่การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วคือเส้นทางที่อำนาจรัฐมาจาก “ดีลลับๆ” ซึ่งไม่เห็นหัวประชาชนแทบทั้งหมด แต่คิดง่ายๆ ว่าขอให้ได้เป็นรัฐบาลแล้วทำผลงานให้ดีๆ ก็จะเป็นที่ยอมรับของประชาชน
เพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่คงต้องดูกันต่อไป แต่ภายใต้การไล่พรรคอันดับ 1 ซึ่งมีคนเลือกถึง 14.5 ล้านและดึงพรรคฝ่ายคุณประยุทธ์ที่มีคนเลือกน้อยกว่าหลายเท่ามาแทนที่ เพื่อไทยกำลังตั้งรัฐบาลด้วยต้นทุนที่ติดลบ
และจะติดลบยิ่งขึ้นหากเปิดคณะรัฐมนตรีที่ครึ่งหนึ่งมาจากรัฐบาลเดิม
ความเป็นพรรคประชาธิปไตยเป็นต้นทุนการเมืองสำคัญของเพื่อไทย แต่ด้วยการแยกทางจากพรรคที่จุดยืนประชาธิปไตยชัดเจนไปจับมือกับพรรคที่ไม่มีจุดยืน พรรคเพื่อไทยเสี่ยงถูกมองว่าเป็นพรรคที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องประชาธิปไตยไปด้วย ซึ่งหมายถึงการสูญเสียมวลชนบางส่วนไปโดยปริยาย
ในเงื่อนไขที่เสียงโหวตให้เพื่อไทยเป็นนายกฯ มาจากฝ่ายคุณประยุทธ์ และ ส.ว.ฝ่ายคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อไทยพาตัวเองสู่สถานการณ์ใหม่ที่ได้เป็นนายกฯ จาก “ระบอบประยุทธ์” การแก้รัฐธรรมนูญและการปฏิรูปกองทัพไม่มีทางเกิดขึ้น และเพื่อไทยยิ่งนานจะยิ่งสูญเสียความสนับสนุนไปจากประชาชน
การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วครั้งนี้ไม่ใช่เป็นแค่การที่เพื่อไทยข้ามขั้วจาก 8 พรรค ไปจับมือกับพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม
แต่คือการข้ามขั้วและเปลี่ยนค่ายของพรรคเพื่อไทยจากฝั่งประชาธิปไตยไปสู่ฝั่งปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอย่างที่ไม่มีใครรู้ว่าทั้งหมดนี้จะมีจุดจบอย่างไร
ชัยชนะของพรรคก้าวไกลทำให้เห็นว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปจนไม่ต้องการผู้มีอำนาจแบบเดิม และด้วยความกระเหี้ยนกระหือรือสกัดพรรคก้าวไกลจนพรรคอันดับ 1 ไปเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจโดยขับไล่พรรคก้าวไกลคือรัฐบาลที่เริ่มต้นด้วยการถูกมองอย่างเกลียดชังในสายตาประชาชน
ขั้นตอนใหม่ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเริ่มต้นพร้อมกับการแย่งอำนาจรัฐไปจากประชาชนโดยการรวมหัวกันไล่พรรคก้าวไกลพ้นรัฐบาล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022