จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 4-10 สิงหาคม 2566

 

• รู้ทัน (1)

หยุดร้องได้แล้ว โมกขศักดิ์

ก็เอ็งเที่ยวเอาเรื่องขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง ไปร้องไม่หยุดไม่หย่อน

จนชาวบ้านเหม็นหู รกตาไปหมด

เอ้า…แหกปากร้องเข้าไปอย่าหยุดนะโมกขศักดิ์

ถามจริงๆ เหอะ เอ็งและพรรคพวกกะเรี่ยกะราดสองสามคน

จะหิวแสงไปถึงไหนกันวะเนี่ย

ดารานำแสดง : สองแม่ลูกนิรนาม ที่ถนนมังกร เยาวราช

นักตัวพ่อ เอ้ย ตากล้อง : อีตา ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)

 

แล้วยังไงล่ะ ตาปิยพงศ์

เห็นพิษสงอ้ายหอก (ฮา) โมกขศักดิ์รึยัง

หลังพุ่งหอก (ร้องเรียน) ไปไม่ยั้ง

ที่สุดมันก็ได้ผล

ทำให้พวกเด็กๆ “ก้าว” ไม่ได้ “ไกล”

เจอสั่งให้หยุด ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปเรียบโร้ยย…

อด ไม่ได้เป็นนายกฯ

และเผลอๆ อาจเจอหอกโมกขศักดิ์ ยุบพรรคทั้งยวงอีก

อย่างนี้จะให้เลิก “ร้อง” ได้อย่างไร

แม้ตาปิยพงศ์อีกหลายๆ คนจะ “รู้ทัน” ก็เต๊อะ

 

• รู้ทัน (2)

ไข้เลือดออก (Dengue fever)

เป็นโรคระบาดประจำถิ่นของประเทศไทย รวมถึงประเทศในแถบร้อนชื้น

มียุงลายเป็นพาหะของเชื้อ Dengue virus (DENV) พบการระบาดตลอดทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูฝน และมีการระบาดหนักในทุก 2-5 ปี

โดยในปี 2566 นี้เป็นปีที่ประเทศไทยส่อเค้าระบาดหนักอีกครั้ง

ล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566

พบผู้ป่วยแล้วกว่า 45,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 41 ราย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค

วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม “ทันระบาด”

เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกแบบเชิงรุกสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

อีกทั้งยังต่อยอดสู่แอพพลิเคชั่น “รู้ทัน” เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนใช้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก รวมถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆ

สนันสนุนการใช้งานแอพพลิเคชั่นโดยบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด

ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ หัวหน้าทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เนคเทค สวทช. เล่าว่า เนคเทค สวทช. ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค เปิดตัวแพลตฟอร์ม “ทันระบาด” ตั้งแต่ปี 2559

เพื่อสนับสนุนการวางแผนป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพและเท่าทันสถานการณ์มากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 4 แอพพลิเคชั่นหลัก ได้แก่

ทันระบาดสำรวจ เพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย และรายงานความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายให้กับพื้นที่แบบเรียลไทม์

ทันระบาดติดตาม เพื่อนำเสนอสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก ร่วมกับความชุกชุมของลูกน้ำยุงลาย บนแผนที่ และตาราง ตามมิติที่สนใจ

ทันระบาดรายงาน เพื่อช่วยสรุปชุดข้อมูลสำคัญที่มีการใช้งานเป็นประจำออกมาในรูปแบบรายงานอย่างอัตโนมัติ

และทันระบาดวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมองที่สนใจ

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันและป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออก

ทีมวิจัยเนคเทค สวทช. และกรมควบคุมโรค ยังได้ร่วมกันพัฒนาต่อยอดทันระบาดสู่แอพพลิเคชั่น “รู้ทัน” ให้เป็นเครื่องมือแจ้งเตือนความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกตามพิกัดที่ผู้ใช้งานอยู่ ณ ขณะนั้น พร้อมคำแนะนำในการป้องกันตน

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังดูข้อมูลในรูปแบบแผนที่ตั้งแต่ระดับตำบลถึงระดับภาพรวมประเทศ เพื่อแจ้งเตือนคนรู้จักหรือวางแผนเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ เสื้อแขนยาว ยากันยุง ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงได้

แอพพลิเคชั่น “รู้ทัน” ยังสามารถแจ้งเตือนความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ค่าดัชนีความร้อนที่อาจนำไปสู่โรคลมแดด รวมถึงสภาพอากาศ ให้ประชาชนทราบในแอพพลิเคชั่นเดียว

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “รู้ทัน” เพื่อใช้งานได้ที่ Play Store และ App Store

ประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“รู้

ทัน” กับเกมการเมืองอันมากเล่ห์ ที่ “นักร้อง” เขาทำแล้ว

ไม่ควรสนับสนุน “นักร้อง” เหล่านั้น–ถูกต้อง

แต่ “รู้ทัน” เพื่อเท่าทันโรคร้าย อย่างไข้เลือดออกแล้ว

มีแต่ต้องสนับสนุนคนและเทคโนโลยี ที่ทำให้เรารู้ทันดังกล่าว

ไข้เลือดออก แม้เราจะคุ้นชิน

และจะไม่ร้ายเท่าโควิด

แต่ยอดคนป่วย และคนตาย ก็ไม่น้อย

เมื่อมีเทคโนโลยีช่วยตรวจสอบและส่งสัญญาณเตือนว่าพื้นที่รอบๆ ตัวเรา

โรคไข้เลือดออก กำลังระบาดหรือเปล่า

ทำให้เราเท่าทันในการป้องกันตัว

จึงควรรีบดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาใช้

เพื่อ “รู้ทัน” โรคร้ายนั้น •