อ่อนหัดหรือสมคบคิด | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร
(Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)

ผู้มีอำนาจรู้ดีว่า กระแสความคิดของคนในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ นับวันย่อมลดทอนความเป็นอนุรักษนิยมและเพิ่มขึ้นของความคิดแบบเสรีนิยม เนื่องด้วยยุคสมัยและวัยของคนที่เปลี่ยนแปลง คนที่อายุมากซึ่งมีความคิดอนุรักษนิยมนับวันจะน้อยลงและจากไป ในขณะที่วัยของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่มีความคิดเสรีนิยมเติบโตขึ้นมาแทนที่

ทุก 4 ปีของการเลือกตั้ง จึงหมายความถึงจำนวนคนที่นิยมพรรคการเมืองเดิมซึ่งเดินตามนโยบายอนุรักษนิยม รักษาประโยชน์ของคนที่มีอำนาจในสังคมย่อมลดน้อยลง

ในขณะที่จำนวนคนซึ่งนิยมพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมที่เสนอแนวนโยบายมุ่งเปลี่ยนแปลง สร้างโอกาสให้กับคนชั้นกลางใหม่นับแต่วันทวีจำนวนมากขึ้น

กลไกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเหนี่ยวรั้งให้การจัดตั้งรัฐบาลยังอยู่ในมือผู้มีอำนาจจึงมีนับแต่การออกแบบการเลือกตั้งให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์สูงสุด การใช้อำนาจรัฐและอิทธิพลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง จนแม้มีผลการเลือกตั้งออกมาฝ่ายตนจะพ่ายแพ้ แต่ไม่ยอมจำนน ยังคงใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อรักษาอำนาจอย่างต่อเนื่อง

 

กติกาสำหรับความได้เปรียบ

มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้ใน 5 ปีแรกของการมีรัฐสภาให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี

โดยเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า สมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้ล้วนได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช.ผู้ยึดอำนาจโดยการรัฐประหาร

ส่วน คสช.ก็มีส่วนการตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 และประสบความสำเร็จในการเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจ

ส่วนการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2566 พรรคที่สืบทอดอำนาจจาก คสช.ได้แตกเป็น 2 พรรคคือ พรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

 

เกมของผู้มีอำนาจ

การที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก 2 สภารวมกัน ทำให้พรรคการเมืองที่จะรวมกันจัดตั้งรัฐบาล แม้จะมีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอีกจำนวนหนึ่งย่อมไม่สามารถได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาได้

เกมของผู้มีอำนาจที่จะให้ฝ่ายตนยังคงอยู่ในฐานะของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อรักษาอำนาจของตนต่อไป จึงเป็นการใช้องคาพยพทั้งหมดที่ตนมีในการจัดการขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายตรงข้ามที่แม้จะรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรจาก 8 พรรค ได้ถึง 312 เสียง ด้วยการจัดการตามวิธีการต่อไปนี้

บันไดขั้นแรก ไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคแนวทางเสรีนิยมสุดขั้วที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง สามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อกล่าวหาทั้งในเรื่องคุณสมบัติส่วนบุคคลและแนวนโยบายของพรรคที่มุ่งเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างรากฐานของสังคมที่ผู้มีอำนาจรับไม่ได้

การรบในยกนี้ ฝ่ายผู้มีอำนาจได้รับชัยชนะ จากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในรอบแรกที่เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มเพียง 13 เสียง เป็น 324 เสียง ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่ต้องการคือ เกิน 375 เสียง

ต่อด้วยวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีคำสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากคำร้องของ กกต. เรื่องการมีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อ และในวันเดียวกัน ที่ประชุมรัฐสภายังมีมติด้วยเสียง 395 ต่อ 312 เสียง ให้ตีความว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้นถือเป็นญัตติและอยู่ใต้ข้อบังคับการประชุมที่ห้ามเสนอชื่อซ้ำอีกในสมัยประชุมเดียวกัน

บันไดขั้นที่สอง การผลักดันพรรคก้าวไกล ให้ไม่สามารถอยู่ร่วมรัฐบาล กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยอาศัยจังหวะที่พรรคก้าวไกลแถลงผ่านอำนาจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคเพื่อไทย โดยมีการชี้นำแบบขาดมารยาททางการเมืองของหัวหน้าพรรคเล็กให้พรรคก้าวไกลเสียสละตนเองออกเป็นฝ่ายค้าน

หรือการที่พรรคเพื่อไทยเชิญพรรคการเมืองในขั้วอำนาจเดิมมาขอความเห็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแล้วมีการให้สัมภาษณ์ในแนวทางเดียวกันว่า พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยแต่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล

หรือการให้สัมภาษณ์ในแนวทางเดียวกันของสมาชิกวุฒิสภาว่า แม้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่หากมีพรรคก้าวไกลอยู่ ก็จะไม่ลงคะแนนเสียงให้

บันไดขั้นที่สาม การต่อรองเพื่อให้พรรคในขั้วอำนาจเดิมร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล โดยให้ 8 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลเห็นปัญหาว่า จะไม่มีทางตั้งรัฐบาลได้หากยังมีพรรคก้าวไกลอยู่

ส่วนพรรคในขั้วอำนาจเดิมแทบทุกพรรครวมทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมเข้ามาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลหากพรรคก้าวไกลถอนตัว

 

จะเล่นตามเกมผู้มีอำนาจ
หรือจะยึดถือเจตนารมณ์ของประชาชน

เกมของผู้มีอำนาจ สามารถสร้างความหวั่นไหวแก่พรรคการเมืองที่ต้องการเป็นรัฐบาลและรีบเร่งกับสถานการณ์ กลัวตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะตกไปอยู่กับพรรคอื่น

ความหวั่นไหวดังกล่าว เป็นความหวาดกลัวเฉพาะหน้า คิดเฉพาะโอกาสในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องเสนอชื่อให้ผ่านได้ในครั้งเดียว จึงต้องแสวงหาส่วนผสมของการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนจากทุกฝ่ายได้เพียงพอและให้ความสำคัญต่อประโยคที่ประกาศจากพรรคการเมืองในขั้วอำนาจเดิมและจากตัวแทนฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาว่า หากมีพรรคก้าวไกลร่วมในรัฐบาลจะไม่เข้าร่วมด้วยหรือไม่ลงคะแนนเสียงให้

พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจึงอยู่ในสถานะที่ต้องตัดสินใจว่า จะเดินในแนวทางวิถีประชา จับมือกับพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่อต้านเผด็จการและร่วมเป็นฝ่ายค้านในอดีต คือพรรคก้าวไกล แต่ต้องไปต่อสู้หนักกับกลุ่มอำนาจเดิมที่มีกลไกของวุฒิสภาเป็นกับดักสำคัญ เป็นการต่อสู้ที่ไม่จบในครั้งเดียวแต่มีโอกาสได้รับชัยชนะในวันข้างหน้าจากศรัทธาและการสนับสนุนของประชาชน

หรือจะเลือกแนวทางหลับหูหลับตาในการเดินตามเกมของผู้มีอำนาจ ที่ต้องปล่อยมือกับพรรคร่วมอุดมการณ์และหันไปจับมือกับพรรคการเมืองในขั้วอำนาจเดิมที่อาศัยกลไกของวุฒิสภาที่สร้างขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับให้เดินตามทาง

หากเป็นเช่นนี้ รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่จะมีสถานะไม่แตกต่างไปจากขั้วอำนาจเดิมที่บริหารราชการแผ่นดินโดยแบ่งปันประโยชน์ในการดูแลผลประโยชน์ในแต่ละหน่วยงานที่ตนกำกับดูแล และพรรคเพื่อไทยเองจะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์กลายเป็นผู้นำในพรรคกระแสอนุรักษนิยมไม่ใช่ผู้นำพรรคการเมืองในซีกเสรีนิยมอีกต่อไป

การหลวมตัวเดินในเกมของผู้มีอำนาจโดยไม่รู้ เรียกว่า ความอ่อนหัดทางการเมือง

แต่หากรู้และยังหลับหูหลับตาเดินในแนวทางทางดังกล่าว เรียกว่า สมคบคิด