ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
ไม่เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมืองเรื่องผู้บริหารประเทศใดๆ
เรื่องนี้เกิดเรื่องเพราะการเดินสำรวจสวนสมุนไพรของหมอพื้นบ้านในจังหวัดพัทลุง พบว่าเกือบทุกสวนจะพบต้นสมุนไพรที่หมอเรียกว่า “บ่าวม้ามืด”
มีลักษณะคล้ายพืชในกลุ่มดอนญ่า (หรือดอนย่า) และเมื่อนำตัวอย่างมาศึกษาพบว่าน่าจะเป็นสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schizomussaenda henryi (Hutch.) X.F.Deng & D.X.Zhang
ที่น่าสนใจคือ สมุนไพรในสกุลนี้พบว่ามีเพียงชนิดเดียว มีชื่อท้องถิ่นทั่วไปหลายชื่อ เช่น กะบอ กำเบ้อต้น (ภาคเหนือ) ข่าม้ามืด (ตรัง) บ่าวมามืด (นครศรีธรรมราช) แมงกำเบื้อต้น (ภาคอีสาน)
เดิมทีเดียว บ่าวม้ามืด จัดอยู่ในสกุลเดียวกับดอนญ่า (ดอนย่า) หรือต้นใบต่างดอก (Mussaenda) แต่ตอนหลังย้ายมาอยู่ในสกุล Schizomussaenda ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่ม สูง 3-8 เมตร มีลำต้นสีเขียวแต่ขรุขระ มีปุ่มสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยวรูปรีแกมรูปไข่ โคนสอบหรือมน ปลายใบเรียวแหลม มีหูใบรูปหอก ดอกสีเหลืองอ่อนแกมสีส้ม ออกเป็นช่อที่ปลายยอด กลีบรองดอก 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน กลีบหนึ่งสีขาวนวล ขยายใหญ่คล้ายใบ กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ผลรูปไข่กลับหรือรูปรี เมื่อแก่แล้วแตก
มีถิ่นกำเนิดในจีนตอนใต้ ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม ในเมืองไทยสามารถพบได้ในทุกภาค แต่ส่วนใหญ่พบมากทางภาคใต้
บ่าวม้ามืด จัดเป็นพืชสมุนไพรบำรุงกำลังเช่นเดียวกับ กำลังวัวเถลิง กำลังหนุมาน กำลังควายถึก แต่ในตำรายาไทยไม่ค่อยพบการใช้บ่าวม้ามืดปรุงเข้าตำรับยา
แต่ความรู้ดั้งเดิมของหมอพื้นบ้านในหลายท้องที่มีการใช้สมุนไพรชนิดนี้ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ใช้บ่าวม้ามืดเป็นยาบํารุงสมรรถภาพทางเพศ นําเปลือกจากลําต้นมาตากแห้ง แล้วต้มกับนํ้าร้อน หรือดองกับเหล้า ใช้ใบเป็นอาหาร
หมอพื้นบ้านในจังหวัดสงขลา ใช้ราก ลำต้น ดอก ใบ ผล ตากแห้ง ส่วนของรากเมื่อแห้งมีกลิ่นหอมมากขึ้น กลิ่นคล้ายแป้ง นำมาต้มผสมกับพืชสมุนไพรชนิดอื่นเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ และเชื่อว่าเป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ โดยผสมกับม้ากระทืบโรง สาวสะดุ้ง และทุ้งฟ้า ทำเป็นผง หรือต้มกินน้ำก็ได้
หมอเสทือน หอมเกตุ (หมอพื้นบ้าน) แห่ง ต.เขาโร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ใช้บ่าวม้ามืดร่วมกับสมุนไพร อีก 15 ชนิด เข้าตำรับรักษาอาการตกขาวซึ่งเป็นสรรพคุณที่ช่วยดูแลสตรีจำนวนมากในพื้นที่ นอกจากนี้หมอเสทือนยังบอกว่าบ่าวม้ามืดใช้ขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้บิด และท้องร่วงได้ด้วย และยังพบกลุ่มชาติพันธุ์ม้งก็ใช้เป็นยาสุมไพร บำรุงกำลัง เช่นกัน
สมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับบ่าวม้ามืด คือ แก้มขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mussaenda sanderiana Ridl. มีชื่อท้องถิ่นว่า กะเบ้อขาว (เลย) กำเบ้อ ผีเสื้อ (เพชรบูรณ์) แก้มขาว (ภาคกลาง นครราชสีมา) มีถิ่นกำเนิดที่จีนตอนกลางและตอนใต้ ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม แต่ไม้ชนิดนี้เป็นไม้พุ่มกึ่งรอเลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร เนื้อไม้เหนียว ผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาลเทาถึงเข้ม กิ่งก้านแตกแขนงเป็นพุ่มแน่นที่ปลายกิ่ง ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว เป็นรูปรี ปลายใบแหลม มีขนละเอียดทั้งสองด้าน หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน
ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีเหลืองสดถึงสีส้ม เกสรเพศผู้อยู่ในหลอดดอกมี 5 อัน ดอกแก่มีใบเลี้ยงขนาดใหญ่ 1 กลีบ มีสีขาวนวล ลักษณะคล้ายใบเป็นรูปรี
ผลเป็นผลสด มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีขนาดเล็ก สีเขียว ผิวมีช่องอากาศ ปลายผลยังคงมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลแก่เนื้อจะนุ่ม ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ใน 1 พวงจะมีผลประมาณ 15-20 ผลขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดกับวิธีตอนกิ่ง ชอบความชุ่มชื้นและมีแสงแดดปานกลาง
พบมากตามชายป่าดิบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบทั่วไปตามป่าดิบเขาหรือป่าดิบแล้งทั่วทุกภาคในไทย ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-1,300 เมตร
แก้มขาวมีสรรพคุณทางยา คือ เปลือก เนื้อไม้ และเหง้าแก้มขาว ใช้เป็นยากระจายโลหิต ชาวลัวะจะใช้ลำต้นนำมาต้มน้ำดื่มและผสมกับสมุนไพรอื่นๆ อีก 9 ชนิด เป็นยาบำรุงกำลัง ส่วนของเถาแก้มขาวใช้เป็นยาแก้ไข้ผิดสำแดง ยาแก้ไข้ทับระดู
ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากแก้มขาว นำมาขูดผสมกับรากผักคราด และรากแข้งกวางดง แล้วนำมาตุ๋นกับไก่ กินเป็นยาแก้ปวดฟัน ชาติพันธุ์แม้วจะใช้รากแก้มขาวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย ช่วยเจริญอาหาร ลำต้นใช้เข้ายารักษาโรคริดสีดวงทวาร เปลือก เนื้อไม้และเหง้าใช้เป็นยาขับนิ่วในไต เป็นยาแก้ปวดฟัน เป็นยาระบายและเป็นยาเจริญอาหาร
ข้อสังเกต บ่าวม้ามืดและแก้มขาว เป็นตัวยาสมุนไพรที่หมอพื้นบ้านหรือความรู้ท้องถิ่นยังให้ความสำคัญและใช้กัน และยังมีลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่มีสรรพคุณค่อนข้างแตกต่างกัน จึงแนะนำให้จำแนกแยกแยะสมุนไพรให้ถูกต้น ใช้ให้ถูกวิธี จะได้ผลตามสรรพคุณและเพิ่มความปลอดภัยด้วย
และสำหรับบ่าวม้ามืด ที่มีการใช้ในชุมชนมากน่าจะช่วยกันศึกษาวิจัยขยายผลต่อไป •
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022