ข้ามขั้วเจอประชาชนเช็กบิลทั้งประเทศ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

คําขวัญของพรรคที่ชนะอันดับ 1 ในการเลือกตั้งปี 2566 คือ “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” และถึงแม้จะมีขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยทำให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอันดับ 1 ไม่ได้เป็นนายกฯ อย่างที่ประชาชนเลือก

ความพยายามนี้ก็มีต้นทุนทางการเมืองที่สูงลิบลิ่วจนประชาชนมองหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิมจริงๆ

ส.ว.และองค์กรอิสระคือเครือข่ายที่มองจากดาวอังคารยังรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

ยิ่งคำร้องกำจัดพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาจากนักร้องที่เป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ส่วน ส.ว.และองค์กรอิสระล้วนมาจากการแต่งตั้งของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ ใครเป็นใครในเครือข่ายนี้ก็ชัดเจนไม่มีอะไรให้สงสัยได้เลย

ปัญหาคือแม้ขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจะประสบผลสำเร็จในการกำจัดพิธาไม่ให้เป็นนายกฯ แต่พรรคก้าวไกลก็ยังเป็นพรรคอันดับ 1, ยังอยู่ในรัฐบาล และมีโอกาสเป็นครึ่งหนึ่งของคณะรัฐมนตรี

ขบวนการนี้จึงต้องให้รัฐบาลใหม่ไม่มีพรรคก้าวไกลด้วย เพราะการกำจัดพิธาโดยปล่อยให้รัฐมนตรีเกินครึ่งเป็นพวกพิธาคือเรื่องที่คนกลุ่มนี้รับไม่ได้อยู่ดี

 

ส.ว.และองค์กรอิสระกำจัดพิธาได้ด้วยความร่วมมือจากตุลาการภิวัฒน์ คนกลุ่มนี้ทำกับพิธาเหมือนที่ทำกับคุณทักษิณ ชินวัตร และพวกมาตลอด 20 ปี แต่ทั้งหมดนี้ไม่สามารถทำลายพรรคก้าวไกลจากการเป็นรัฐบาลเพราะเป็นพรรคอันดับ 1 ที่ประชาชนเลือก

คนที่จะกำจัดพรรคก้าวไกลได้จึงมีแต่พรรคการเมืองที่ต้องหาทางไล่พรรคก้าวไกลจากการเป็นรัฐบาล

พรรคการเมืองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่กำจัดพิธาจากการเป็นนายกฯ โดยตัวเอง

แต่ขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยประกอบด้วยกลุ่มทุนใหญ่, กลุ่มอำนาจเก่า และเครือข่ายคุณประยุทธ์กับคุณประวิตรเยอะไปหมด

และแน่นอนว่าคนเหล่านี้เข้าถึงพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งสื่อสาร หรือ “สั่งการ” โดยตรงและโดยอ้อมได้อยู่ดี

ประเทศไทยมีคนไม่กี่คนที่ใหญ่จนนักการเมืองสำคัญของทุกพรรคเรียกว่า “ท่าน” และ “ท่าน” เหล่านั้นยิ่งใหญ่พอที่จะส่งสารไปยังนักการเมืองว่าแต่ละพรรค “ต้อง” ทำอะไร หรืออย่างต่ำที่สุดคือ “ควร” ทำอะไร ต่อให้อาจเป็นพรรคที่อยู่ต่างขั้วกันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเพราะรับเงินแหล่งเดียวกัน, เกรงใจคนสั่ง หรือรู้ว่าคนสั่งเป็นนายหน้าของใคร

ด้วยเหตุดังนี้ ขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจึงเหมือนวงออเคสตราที่นักดนตรีทุกคนเล่นเครื่องดนตรีของตัวเองภายใต้วาทยกรคนเดียวกัน และด้วยวาระที่รู้กันว่าต้องไม่ให้พิธาเป็นนายกฯ และไม่ให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล

พรรคการเมืองใหญ่น้อยจึงมีบทบาทสอดประสานกับ ส.ว.และองค์กรอิสระไปหมดในการทำให้เป้าหมายนี้เกิดขึ้นจริงๆ

 

วิธีคิดนี้ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการขั้นพูดตรงๆ คือ “ไม่เห็นหัวประชาชน” กระบวนการกำจัดพิธาและพรรคก้าวไกลจึงดำเนินไปในห้องประชุมที่ลับหูลับตาเพื่อไม่ให้ประชาชนรู้เห็นทั้งหมด

ไม่ว่าจะโดยการตัดสินใจยื่นคำร้องสู่ศาลกรณีไอทีวี, การตัดสินใจสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส., การแถลงเงื่อนไขไล่พรรคก้าวไกลพ้นรัฐบาล รวมทั้งคำประกาศว่าจะฉีก MOU

ตรงข้ามกับพรรคก้าวไกลที่ทำทุกอย่างให้โปร่งในสายตาประชาชน ขบวนการกำจัดพิธาและพรรคก้าวไกลทำทุกอย่างโดยปิดประตูเจรจาต่อรองกันไม่กี่คนในห้องลับๆ แต่อุกอาจขั้นยกเลิกทุกข้อตกลงที่เคยทำต่อหน้าสาธารณชนในสมัยที่ก้าวไกลเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

ผลก็คือความรู้สึกว่าฝ่ายกำจัดพิธาทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจ ไม่เว้นแม้แต่การโกหกประชาชนหน้าด้านๆ ในเรื่องที่เพิ่งประกาศไม่ถึงเดือน

ด้วยการใช้พรรคแพ้เลือกตั้ง, ส.ว., องค์กรอิสระ และตุลาการภิวัฒน์เพื่อสกัดพิธา สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยกลายเป็น “ทรราชย์เสียงข้างน้อย” ซึ่งคนไม่เกิน 700 คน รวมหัวกันล้มการตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากที่พรรคอันดับ 1 เป็นแกนนำตามหลักประชาธิปไตยสากล

รวมทั้งสกัดนายกฯ จากพรรคซึ่งมีคนเลือกกว่า 14.5 ล้าน และหันไปหนุน 3 พรรครัฐบาลเก่าที่มีคนเลือกไม่เกิน 6 ล้านคน

 

ขณะที่การเมืองไทยหลังปี 2562 แบ่งขั้วกันด้วยเรื่อง “เอาเผด็จการ” หรือ “ไม่เอาเผด็จการ” การเมืองไทยปี 2566 กำลังเดินหน้าสู่การแบ่งขั้วกันด้วยเรื่อง “เอารัฐบาลเสียงข้างมาก” หรือ “เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย” ที่พรรคฝ่ายแพ้เลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลเพราะทรราชย์เสียงข้างน้อยทำลายการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล

แน่นอนว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย แต่ขบวนการกำจัดพิธาและไล่พรรคก้าวไกลทำให้การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายยกระดับเป็น “การแบ่งขั้วทางการเมือง” (Political Polarization) ที่พรรคการเมืองและสถาบันอื่นๆ มีความสุดขั้วจนปฏิเสธหลักการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่และยอมรับระบอบทรราชย์เสียงข้างน้อยในสังคม

สำหรับ ส.ว., องค์กรอิสระ และตุลาการภิวัฒน์ที่เคยทำลายคุณทักษิณ, คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย การถูกโจมตีว่าพวกเสียงข้างน้อยไม่ใช่เรื่องใหม่จนไม่มีอะไรต้องกังวลใจ

แต่สำหรับพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับก้าวไกลแล้ว “ข้ามขั้ว” การถูกโจมตีว่าได้เป็นรัฐบาลเพราะ “ทรราชย์เสียงข้างน้อย” คือมลทินที่จะทำลายพรรคเหล่านี้อย่างไม่มีทางเยียวยาได้เลย

 

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าพรรคเพื่อไทยกลายเป็นจำเลยอันดับหนึ่งที่สังคมระแวงว่าจะทำให้เกิด “รัฐบาลข้ามขั้ว” ยิ่งกว่านั้นคือบุคลากรของพรรคทั้งทางตรงและทางอ้อมก็สัมภาษณ์เปิดทางให้ตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” แทบทั้งหมด จะมียกเว้นก็เพียงคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ยืนหยัดว่าเพื่อไทยต้องไม่จับมือกับพรรคขั้วเผด็จการ

น่าสังเกตว่าขณะที่ในพรรคมีแค่คุณจาตุรนต์ที่ไม่เห็นด้วยกับการไล่พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน และการตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” ความเห็นประชาชนในโพลหรือสื่อต่างๆ ล้วนค้านแนวทางนี้แทบทั้งหมด เหตุผลคือการไล่ก้าวไกลทำให้ ส.ส.ฝ่ายนี้ลดลงจาก 312 เหลือเพียง 161 หรือเท่ากับต้องการ ส.ส.อีกกว่า 151 เพื่อให้เท่ากับก้าวไกล

ทันทีที่ไล่ก้าวไกล รัฐบาลใหม่ภายใต้พรรคเพื่อไทยย่อมต้องจับมือภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ เพราะจำนวน ส.ส.สามพรรครวมกันคือ 146 ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวน ส.ส.ก้าวไกลที่เสียไปมากที่สุด

แต่ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าสู่จุดที่ไม่มีทางหวนกลับมาได้เลย

หากเพื่อไทยไล่ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านเพื่อแลกกับโอกาสเป็นรัฐบาลตามที่ ส.ว.กับพรรคฝ่ายคุณประยุทธ์ยั่วยวน พรรคเพื่อไทยย่อมถูกมองเป็นพวกเดียวกับฝ่าย “ทรราชย์เสียงข้างน้อย” ที่ทำให้ประเทศเกิดรัฐบาลเสียงข้างมากไม่ได้

เช่นเดียวกับความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นไปได้ที่จะมีดีลลับๆ เพื่อตั้งรัฐบาลกับฝ่าย 3 ป.

 

คุณเศรษฐา ทวีสิน และคุณแพทองธาร ชินวัตร เคยยอมรับว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พรรคเพื่อไทยแพ้เลือกตั้งครั้งนี้ย่อยยับในแง่ไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ “ความไม่ชัดเจน” และพูดตรงๆ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนจำนวนมากที่เคยเลือกเพื่อไทยไปเลือกก้าวไกลก็เพราะ “ความไม่ชัดเจน” นี้ด้วย ต่อให้เพื่อไทยยืนยันว่าตัวเองชัดเจนก็ตาม

ผลลัพธ์เดียวของการไล่ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านคือเพื่อไทยตั้งรัฐบาลกับก๊วน 3 ป. และทันทีที่รัฐบาลนี้เกิดขึ้นมาจริงๆ ทั้งที่ไม่ควรเกิด ปัญหาความไม่ชัดเจนของเพื่อไทยก็จะกลายเป็นความชัดเจนว่าเพื่อไทยวันนี้ไม่เหมือนเพื่อไทยในอดีต และนั่นหมายถึงคนที่เคยเลือกเพื่อไทยอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องเลือกอีกต่อไป

การเลือกตั้ง 2566 จบด้วยชัยชนะของก้าวไกลบนความพ่ายแพ้ขั้นหายนะของแทบทุกพรรคการเมืองใหญ่ ผลการลงคะแนนชี้ว่าคนต้องการ “การเมืองใหม่” เช่นเดียวกับการ “ปันใจ” จากพรรคการเมืองที่ตัวเองเคยสนับสนุน (Political Dealignment) ไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทยที่ประกาศว่าคนเสื้อแดงอย่าปันใจทุกเวที

นักการเมืองมักคิดว่าอำนาจประชาชนจบทันทีที่ได้เข้าสภา แต่ความจริงคืออำนาจประชาชนไม่เคยจบ ยิ่งในสังคมที่ประชาชนแสดงการต่อต้านอำนาจได้กว้างขวาง ความรู้สึกว่ารัฐบาลข้ามขั้วคือผลผลิตของ “ดีลลับ” ที่ไม่เห็นหัวประชาชนยิ่งรุนแรงขึ้นจนนักการเมืองที่คิดแบบนี้จะทำให้ตัวเองจบก่อนประชาชน

ใครคิดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เตรียมตัวเจอประชาชนเช็กบิลครั้งใหญ่ได้เลย