ได้เวลาเปลี่ยน ‘ทวิตเตอร์’ นกบินหาย ‘X’ มาแทน

เป็นเวลายาวนานกว่าสิบปี สำหรับการใช้โลโก้นกสีฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของ “ทวิตเตอร์” ไมโครบล็อกยอดนิยมที่มีผู้ใช้งานกันทั่วโลก

กระทั่งล่าสุด อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ ที่เพิ่งเข้ามาซื้อกิจการทวิตเตอร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประกาศเปลี่ยนชื่อทวิตเตอร์ เป็นเอ็กซ์ พร้อมกับเปลี่ยนโลโก้ของทวิตเตอร์ จากนกสีฟ้า ให้กลายเป็นตัว X แทน เพื่อการปูทางไปสู่ “เอฟเวอรี่ธิง แอพพ์” หรือซูเปอร์แอพพ์

เรื่องนี้มัสก์ได้เคยเปรยไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม ก่อนที่การซื้อกิจการของทวิตเตอร์จะเสร็จสมบูรณ์ไม่กี่สัปดาห์ ว่าเขาอยากจะสร้างแอพพ์ที่มีความสามารถในการให้บริการที่หลากหลาย นอกเหนือไปจากการเป็นโซเชียลมีเดีย แต่ยังต้องสามารถใช้จ่ายเงินได้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก “วีแชต” ที่เรียกได้ว่า เป็นซูเปอร์แอพพ์ของจีน โดยเรียกว่าเป็น “เอเวอรี่ธิง แอพพ์” และจะตั้งชื่อแอพพ์นี้ว่า “X” (เอ็กซ์)

โดยตั้งเป้าสร้างแอพพ์นี้ไว้ 3-5 ปี

 

จริงๆ แล้ว มัสก์ผูกพันกับตัวอักษร X มานานแล้ว และใช้เป็นตัวอักษรสำหรับบริษัทในเครือมานานแล้ว ย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อปี 1999 ที่มัสก์ได้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ x.com บริการธนาคารออนไลน์ เมื่อปี 1999 ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “เพย์พาล” ในเวลาต่อมา

และมัสก์ได้ซื้อ x.com กลับมาจากเพย์พาลเมื่อปี 2017 โดยอ้างว่ามันมีคุณค่าทางอารมณ์อย่างมาก ก็เลยซื้อกลับมา

นอกจากนี้ บริษัทด้านการขนส่งอวกาศของมัสก์ ก็ใช้ชื่อว่า “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX) และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มัสก์ก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทแม่ของทวิตเตอร์ เป็น “X” ไปแล้ว

ซึ่งตอนนี้ เว็บไซต์ x.com หากพิมพ์เข้าไปแล้ว ก็จะเชื่อมต่อกลับไปที่เว็บไซต์ของทวิตเตอร์นั่นเอง ส่วนตัวเว็บ x.com ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง

 

ด้านลินดา ยัคคาริโน อดีตหัวหน้าฝ่ายโฆษณาของเอ็นบีซียูนิเวอร์ซัล ที่มัสก์เพิ่งจ้างมาเป็นซีอีโอของทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้แจ้งกับพนักงานของทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ว่า “X” จะมีการพัฒนาต่อไปข้างหน้า เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยจะมีการสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ ขึ้นมา ทั้งด้านเสียง วิดีโอ ข้อความ การจ่ายเงิน การธนาคาร

ทั้งนี้ โลโก้เดิมของทวิตเตอร์ที่เป็นรูปนก ถูกออกแบบโดยทีมงาน 3 คน ตั้งแต่เมื่อปี 2012 โดยมาร์ติน กราสเซอร์ หนึ่งในทีมดีไซเนอร์โลโก้ บอกว่า การออกแบบโลโก้ตอนนั้น เป็นการออกแบบให้ดูเรียบง่าย สมดุล และอ่านง่าย บนขนาดที่เล็กมากๆ

แมตต์ โรดส์ หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของสำนักงานครีเอทีฟ “เฮาส์ 337” เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า การเปลี่ยนแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ถือว่าเป็นความ “เสี่ยง” และว่า “ทวิตเตอร์” เป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้เป็นคำกริยา หรือกลายเป็นสิ่งที่ถูกอ้างอิงบนโลกของสื่อ

“ใดๆ ที่ทำให้ผู้คนค้นหาได้ยากขึ้น เสี่ยงอย่างมากต่อการใช้งาน” โรดส์กล่าว

ด้านเอสเธอร์ ครอว์ฟอร์ด อดีตหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของทวิตเตอร์ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทวิตเตอร์นี้ เปรียบเสมือนการ “ฮาราคีรี” บริษัท หรือหมายถึงการคว้านท้องเพื่อฆ่าตัวตายของซามูไรญี่ปุ่น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มัสก์ซื้อทวิตเตอร์มาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าสูงถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ธุรกิจโฆษณาของทวิตเตอร์ก็ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักการตลาดต่างไม่พอใจกับสไตล์การบริหารของมัสก์ รวมไปถึงการไล่พนักงานออกจำนวนมาก

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มัสก์ได้ทวีตแจ้งว่า ทวิตเตอร์มีรายได้โฆษณาลดลงเกือบครึ่ง นับตั้งแต่เขาเข้ามาซื้อกิจการ

ซึ่งวิธีการแก้ไขของมัสก์ เกี่ยวกับรายได้ที่ลดลง ก็คือการหารายได้จากผู้ที่มีบัญชีทวิตเตอร์ ทั้งการให้สมัครสมาชิก และรูปแบบการจ่ายเงินเพื่อให้ได้สิทธิที่มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้แก่บริษัท

 

ปัจจุบัน ทวิตเตอร์มีผู้ใช้งานที่ยังแอ็กทีฟอยู่ วันละประมาณ 200 ล้านราย และกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดกลุ่มเดียวกัน นับตั้งแต่เมต้าเปิดตัวบริการ “เธรดส์” เพื่อแข่งกับทวิตเตอร์โดยเฉพาะ โดยตอนนี้ เธรดส์มีผู้สมัครใช้งานแล้วราว 150 ล้านราย ที่ถือว่าอาจจะเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดในตลาดเดียวกันตอนนี้

ก็ต้องจับตาดูว่า นโยบายต่างๆ ของมัสก์ จะทำให้ “ทวิตเตอร์” ที่ต่อจากนี้จะกลายเป็น “X” กลายเป็นเอเวอรี่ธิง แอพพ์ ได้อย่างที่ใจหวังได้หรือไม่

ลุ้นกันต่อไป

เครดิตภาพ “เอเอฟพี”