ประวัติศาสตร์ การครอบงำของทหารในไทย ในสายตา พอล แชมเบอร์ (2)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ก้อนดำทะมึนของสฤษดิ์ (ค.ศ.1957-1963)
ชีวิตระหกระเหิน

16 กันยายน ค.ศ.1957 ปลายฝนต้นหนาวแล้วกระมัง แต่อากาศในเมืองไทยโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ ร้อนแทบเป็นบ้า

ร้อนเพราะมีผู้คนบ้างก็หนีตาย บ้างก็ลี้ภัย ไม่ใช่เพราะอากาศร้อน แต่เพราะ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวทำปฏิวัติ เขาประกาศกฎอัยการศึกและควบคุมหน่วยยุทธศาสตร์ทางทหารและศูนย์ต่างๆ ของตำรวจในกรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่สวมปลอกแขนสีขาว ที่แสดงสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ ด้วยการเอาจอมพล ป.พิบูลสงคราม ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ออกจากตำแหน่ง

สฤษดิ์หัวหน้าคณะปฏิวัติ สั่งให้ พล.ร.อ.ประยูร ยุทธศาสตร์โกศล1 และพล.อ.อ.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธามณี2 ถูกปลด

สฤษดิ์แต่งตั้ง 13 เจ้าหน้าที่ทหารเป็นคณะกรรมการ โดยเขาเป็นประธาน เพื่อรักษาความสงบและความมั่นคง3

จอมพล ป. ออกจากกรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์ซีตรองมุ่งหน้าไปจันทบุรี ขั้นต้นลี้ภัยที่กัมพูชา4 แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ จอมพล ป.ใช้รถยนต์หนีไปถึงจังหวัดตราด แล้วข้ามไปที่เกาะกง กัมพูชา ตรงข้ามจังหวัดตราด แล้วมีคนคอยอยู่ที่นั่น5 ที่ๆ เขามีความคิดจะต้องต่อต้านรัฐประหาร

ตามข้อมูลของนายประดาบ พิบูลสงคราม หลานจอมพล ป. จอมพล ป.จัดแผนลวงว่าไปท่าเรือสัตหีบที่จังหวัดชลบุรี แต่เขารีบไปชายแดนติดกับกัมพูชา มีเพียงเด็กชายที่คุ้นเคยกับเขตชายแดนและบริเวณทะเลแถวนั้น สามารถนำจอมพล ป.และคณะเดินทางปลอดภัยผ่านเข้าประเทศเพื่อนบ้าน6

พอล แชมเบอร์ ให้ข้อมูลน่าสนใจโดยใช้ข้อมูลรายงานของหน่วนงานข่าวกรอง (ซีไอเอ) สหรัฐอเมริกาช่วงนั้นว่า

“…พฤศจิกายน 1957 เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าดูไม่เหมือนพิบูล สามารถหรือจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยประนีประนอมกับสฤษดิ์ เมื่อกลุ่มภักดีเจ้าจะต่อต้านอย่างไม่ต้องสงสัย เช่น ก้าวที่ [เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาเพิ่มเติมถึงความสามารถทางการเมืองและการบริหารของพิบูล] จ้องมองโดยคนจำนวนมากในกลุ่มทหาร…และมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตเขาอาจสามารถกลับเขาสู่การเมืองอีก เขาเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถจัดการรัฐบาล…”

พอล แชมเบอร์ วิเคราะห์ว่า ต่อมาอีก 7 ปีจนจอมพล ป.ตาย ยังคงสงสัยต่อเนื่องว่า จอมพล ป.มีแผนกลับบ้านและมีอำนาจหรือไม่ เพราะเขาไม่เคยทำเลย จอมพล ป.ออกจากกัมพูชา ไปอยู่อาศัยที่ย่าน (ขยายความโดยผู้เขียน) ชินจูกุ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เกือบปี ในบ้านเพื่อนของเขา มิสเตอร์ Weda ผู้จัดการผู้มั่งมีบริษัท Marusen Oil Company

ต่อจากนั้นปี 1960 จอมพล ป.เดินทางไปอินเดีย บวชเป็นพระสั้นๆ ที่วัดพุทธที่ Bodhgaya ก่อนไปสหรัฐอเมริกา และอยู่ที่นั่นเกือบ 2 ปี

ต่อจากนั้นเขากลับมาญี่ปุ่น ที่เขาตายเมื่ออายุ 66 ปี วันที่ 11 มิถุนายน 1964

ก่อนหน้านั้น เขารอดพ้นความพยายามลอบสังหาร 3 ครั้งระหว่างปี 1934-1938 ถูกยิงด้วยปืน 2 ครั้ง ถูกวางยาพิษ 1 ครั้ง จากที่ผู้เขียนค้นคว้า มีรายงานหนังสือพิมพ์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับจอมพลสฤษดิ์รายงานข่าวว่า มีการส่งคนไปปองร้ายกับจอมพล ป. ในระหว่างที่เขายังพำนักอยู่ที่ญี่ปุ่น7 สุดท้ายจอมพล ป.จบชีวิตลง คาดว่าหัวใจล้มเหลว ที่ Sagamihara คานาคาวา (Kanakawa) perfecture ญี่ปุ่น

พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ หลังรัฐประหาร 1957 เขาไม่เหมือนจอมพล ป. เผ่าเลือกไม่หนี แต่อยู่ที่กรุงเทพฯ พอล แชมเบอร์ เขียนน่าสนใจว่า แต่หลังจากนั้น 12 ชั่วโมง เผ่าถูกพาตัวขึ้นเครื่องบินโดยกฤษณ์ สีวะรา ภายใต้คำสั่งของสฤษดิ์ เครื่องบินพาเผ่าลี้ภัยไปสวิตเซอร์แลนด์

ขณะที่อยู่สวิตเซอร์แลนด์ เผ่าให้สัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์เมื่อ 1959 เมื่อถูกถามเรื่องจอมพล ป. และการกลับเมืองไทย เขาตอบว่า8

“…ตราบเท่าที่จอมพลสฤษดิ์ยังมีชีวิตอยู่ผมจะไม่ไปเมืองไทยแน่นอน ผมจะกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ถ้าหากมีพรรคการเมืองและการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย จากนั้น บางทีผมสามารถเป็นฝ่ายตรงกันข้ามคุณสฤษดิ์9 เขาเพิ่มว่า ผมยอมรับว่าผมผิด ผมได้ทำจอมพลพิบูลเป็นเผด็จการด้วย…”

1 ปีหลังจากให้สัมภาษณ์ เผ่าตายวันที่ 21 พฤศจิกายน 1960 คาดว่าหัวใจวายหลังจากสูบซิการ์และเล่นปิงปอง

 

พันธมิตรระหว่างสฤษดิ์ กลุ่มอนุรักษนิยม
และสหรัฐอเมริกา

หลังปฏิวัติ 16 กันยายน 1957 สฤษดิ์ตั้งรัฐบาลรักษาการนำโดย พจน์ สารสิน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และสนิทกับแกนนำอนุรักษนิยม แต่อำนาจแท้จริงอยู่ที่สฤษดิ์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด

จนถึงปี 1958 มี 2 คนสนิท พล.อ.ถนอม กิตติขจร และ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ส่วนกฤษณ์ สีวะรา เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ช่วงนั้นสฤษดิ์ต้องการความชอบธรรมและประชาชนพอใจ

ช่วงนั้น สฤษดิ์มี 3 เรื่องท้าทายหลักคือ

1. รักษาความสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาต่อไปให้ได้

2. ให้แน่ใจเพียงพอต่อการสนับสนุนของฝ่ายความมั่นคงระดับสูง แกนนำอนุรักษนิยมและนักการเมือง

3. ทำให้แน่ใจในสุขภาพของเขาเอง

จากการศึกษาของ Frank C. Darling10 ซึ่งผมเข้าใจว่า เขาเป็นอเมริกันที่อยู่กรุงเทพฯ ตอนนั้น ภายหลังเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย Colorado แล้วเขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงเรื่อง Thailand and the United States11

บทความชิ้นนี้ของเขาระบุว่า โดยทั่วไปสหรัฐอเมริกาพอใจเหตุการณ์การเมืองไทยช่วงนั้น

สหรัฐอเมริกาเกี่ยวข้องลึกซึ้งในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทันทีได้แก่ วันแรก 16 กันยายน CIA วิเคราะห์การปฏิวัติ

20 กันยายน สฤษดิ์เรียกทูตสหรัฐอเมริกา Bishop เข้าพบ นาย S. Everett ผู้ช่วยเลขาธิการ National Security Council สหรัฐอเมริกา มองในแง่ดีต่อเหตุการณ์นี้

แต่บางหน่วยงานสำคัญก็มองในแง่ลบ เช่น 4 ตุลาคม 1957 CIA Director, Allen Dulles บอกกับผู้ช่วยว่า โครงการฝึกของสหรัฐอเมริกา สฤษดิ์เข้ามาดูใกล้ชิด อาจหยุดโครงการ เพราะเพิ่มศักยภาพของตำรวจของไทยที่อยู่ภายใต้เผ่า

ปัญหาสุดท้าย ซึ่งเอกสารสหรัฐอเมริกาบันทึกเอาไว้คือ สฤษดิ์มีสุขภาพไม่ดี ตับแข็ง อาจอยู่ไม่เกิน 6 เดือน ถึง 2 ปี12

แล้วตอนนั้น ประภาส จารุเสถียร ดันประกาศต่อสาธารณะเรื่องสุขภาพของสฤษดิ์ป่วยใกล้ตายแล้ว มีการวิเคราะห์ว่า นี่เป็นก้าวแรกของประภาสแข่งขันเป็นผู้นำ ความจริงแล้วประภาสมีโอกาสทำรัฐประหารในกองทัพบก

แต่สฤษดิ์ก็มีพันธมิตรทางการเมืองมากมายไม่มีเพียงทหาร คือ แกนนำอนุรักษนิยม นักการเมืองและประชาชน จะเห็นได้ว่า แกนนำอนุรักษนิยมแสดงความพอใจมากที่พิบูลออกไป นักการเมืองดูเหมือนต้องการให้ประเทศสงบลง ดังนั้น จึงมีการประกาศราชกิจจานุเบกษายุบสภาทันที ประกาศให้เลือกตั้งภายใน 90 วัน

และให้สฤษดิ์เป็นรัฐบาลรักษาการ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง13

 

ป่วย ป่วยหนัก ป่วยแล้วป่วยอีก

ไม่ทันไร 24 ธันวาคม 1957 สฤษดิ์ป่วย ตกเลือด ต้องผ่าตัดด่วนที่โรงพยาบาล วันที่ 23 มกราคม 1958 สฤษดิ์เดินทางไปผ่าตัดที่ Walter Reed Army Hospital

ต้องย้ำว่า เอกสารบางชิ้นเขียนว่าที่ Walter Reed Army สฤษดิ์ได้ไปโรงพยาบาลนี้มาก่อนหลายครั้ง รวมทั้งผู้นำทหารตอนนั้นด้วย น่าสนใจ เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ไปตรวจ…ที่โรงพยาบาลนี้ (เอาไว้จะเขียนเรื่องสนุกๆ ของท่านทหารหนุ่มท่านนี้)

แล้วสฤษดิ์ตัดสินใจไปที่ลอนดอน อังกฤษ ผมเขียนในวิทยานิพนธ์ปริญญาโท (เสร็จ พ.ศ.2525) สฤษดิ์ไม่ได้ไปเที่ยวหรือพักผ่อน เขาไปลอนดอนโดยนัดหมายทีมงานให้ไปที่นั่น วางแผนรัฐประหารถนอมซึ่งก็คือรัฐประหารตัวเอง

ร่างแถลงการณ์ ร่างประกาศคณะรัฐประหารเกือบทุกฉบับ ซึ่งก็คือ มาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีร่างเอกสารภาษาอังกฤษด้วย เป้าหมายคือ ยึดอำนาจเพื่อจัดการประเทศไทย ตามแนวทางของเขาและคณะที่ปรึกษา ในภายหลังอาจวิเคราะห์เชิงทฤษฎีรัฐศาสตร์อันไพเราะว่า พ่อขุนอุปถัมภ์ พร้อมแผนงานทางวัฒนธรรมการเมืองคือ ฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของตน

ที่สำคัญมาก บูรณาการระบบพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ได้แก่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งในไทย ในลาว กัมพูชาและเวียดนาม สนับสนุน SEATO ต่อไป แล้วฐานทัพ เครื่องบิน ระเบิด กระสุนปืน อาหารกระป๋อง แม้แต่ผงทาป้องกันฮ่องกงฟุต การร่วมรบ ฝึกซ้อม อาวุธ ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจถูกจัดการอย่างเป็นระบบภายใต้ ข้อตกลงร่วมถนัด-รัสต์ (Thanat-Rush Agreement) 6 มีนาคม 1962

เพื่อความชอบธรรมทางการเมืองของสฤษดิ์ ทั้งภายในและระหว่างประเทศที่สหรัฐอเมริกามอบให้ สฤษดิ์พยายามสร้างมรดกทางการเมือง เพราะรู้ว่าเขาใกล้ตายแล้ว เพียงแต่เมื่อไรเท่านั้น14

ท่ามกลางป่วยหนัก อาการใกล้ตายทุกขณะ สฤษดิ์จึงเข้าออกโรงพยาบาล เขานอนเตียงโรงพยาบาลท่ามกลางข่าวลือรัฐประหารบ่อยมาก โดยประภาสบ้าง กฤษณ์บ้าง พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เพื่อนของกฤษณ์บ้าง

จริงหรือไม่จริง สฤษดิ์ก็เคยสั่งย้ายกฤษณ์จากแม่ทัพภาคที่ 1 ไปกองทัพภาคที่ 2 ในภาคอีสาน

แล้วบางทีก็ใช้กฤษณ์และประภาสในภารกิจการเมืองเลือกตั้งภายใน กิจการพรรคสหภูมิของสฤษดิ์บ้าง ใช้ลูกน้องสองคนนี้เข้าแทรกแซงการเมืองในลาว หนุนญาติสฤษดิ์นักการเมืองลาวบ้าง เข้าแทรกแซงการเมืองในกัมพูชาบ้าง

ทุกๆ เดือนกันยายน สฤษดิ์โยกย้ายทหาร เพื่อให้เขาอยู่รอดไปวันๆ หนึ่ง


1ผู้บัญชาการทหารเรือ ค.ศ.1951-1957 รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม 1955-1957 รองนายกรัฐมนตรี 1957 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

2ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองนายกรัฐมนตรี ค.ศ.1955-1957 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

3Thak Chaloemtiarana, Thailand : The Politics of Despotic Paternalism, Itaca, New York : Cornell Southeast Asia Program, 2007, : 80.

4Paul Chamber, A History of Military Ascendancy in Thailand, Singapore Institute of Southeast Asian Studies : 195.

5ผู้เขียนสัมภาษณ์อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตราด งานวิจัยภาคสนาม กลุ่มธุรกิจไทยกับการลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2 ตุลาคม พ.ศ.2548

6พอล แชมเบอร์ สัมภาษณ์ ประดาบ พิบูลสงคราม อดีตอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ หลานจอมพล ป. 28 มกราคม 2023

7มีรายงานทั้งจากเอกสารทางราชการและสื่อมวลชนว่า สมาชิกชั้นนำของคณะราษฎรถูกลอบสังหาร เช่น วางระเบิด ลอบยิง เช่นกรณีพระยาพหลพลพยุหาเสนา สมัยดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

8“เผ่า ศรียานนท์ บอกจอมพลพิบูล เขาคิดกลับบ้านเสมอหลังสฤษดิ์ยึดอำนาจ” ศิลปวัฒนธรรม 7 มกราคม 2565

9Paul Chamber, Op cit, : 202.

10Frank C. Darling, “American Policy in Thailand” The Western Political Quarterly, 15 (1961)

11Frank C. Darling, Thailand and the United States, (Public Affairs Press), 1965.

12Paul Chamber, Opcit : 28.

13Ibid., 204.

14ควรอ่านพินัยกรรมของสฤษดิ์ประกอบ ขอหาความสุขและทำงานเพื่อชาติ