วิธีการตั้งรัฐบาล ตามที่ประชาชนต้องการ ถ้าคนกลุ่มเดิมมาบริหาร จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

มุกดา สุวรรณชาติ

สภาพการเมืองขณะนี้อยู่ในภาวะที่เรียกว่า…ฝุ่นตลบ

ประชาชนหวังจะเห็นคนหน้าใหม่ แต่พอฝุ่นจางลง อาจเจอคนหน้าเดิม หรือคนหน้าใหม่ ความคิดเดิม ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 2566 กำลังเกิดขึ้น เพราะประชาชนหลายล้านคงไม่นั่งเฉยให้ใครมาล้มเสียงโหวตของพวกเขา

การเริ่มต้นข้อเรียกร้องคงเป็นเรื่องให้เคารพเสียงโหวต แต่จะลามไปขับไล่ใครบ้างยังไม่รู้ เพราะตอนนี้ นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็วางมือชิ่งไปแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและถ้าจะมองย้อนหลังไปก็พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนก็ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นประชาธิปไตยและเปิดช่องว่างให้มีการฉ้อฉลและคดโกงทางอำนาจ สาเหตุสำคัญคือ รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ เขียนขึ้นตามความต้องการของผู้มีอำนาจหลังรัฐประหาร

ดังนั้น เป้าหมายอันดับ 1 ทางด้านการเมืองที่จะเปลี่ยนผ่านให้ประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและเดินหน้าไปอย่างสงบเรียบร้อยลดความขัดแย้งลงก็คือ ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งเป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกโดยตรง และรัฐธรรมนูญใหม่ควรมีเนื้อหา ที่สามารถแก้ปัญหาในอดีตที่ผ่านมาได้ คือ

 

1. ต้องมีการเลือกฝ่ายบริหารโดยประชาชน

ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำแค่เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายยังเลือกผ่าน ส.ส. ซึ่งอาจไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน

เพื่อให้ประชาชนได้เลือกผู้บริหารประเทศโดยตรง อาจเริ่มทดลองแบบผสม โดยการสมัครรับเลือกตั้งต้องส่งชื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างๆ อย่างน้อย 10 กระทรวงหลัก เพื่อบอกประชาชนว่านโยบายของพรรคด้านต่างๆ เป็นอย่างไร มีใครเข้ามาบริหารกระทรวงตามนโยบายเหล่านี้

ในกรณีที่เป็นรัฐบาลผสม นายกรัฐมนตรีสามารถตั้งรัฐมนตรีอื่นๆ จากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาผสมให้ครบจำนวน เช่น ถ้ามี รมต. 35 คน นายกฯ ก็ตั้งมาอีก 25 คน

กรณีถ้านายกฯ ลาออก ถือว่าออกทั้งคณะ ก็ให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่เฉพาะฝ่ายบริหารเท่านั้น

ถ้ารัฐมนตรีที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาออกเกินครึ่งหนึ่ง นายกฯ ก็ต้องลาออกและเลือกตั้งฝ่ายบริหารใหม่เช่นกัน

การไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ หรือนายกรัฐมนตรี สภาสามารถทำได้แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสภา

การอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารรายบุคคลใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภาตัดสิน ถ้าไม่ผ่านก็ต้องลาออกและนายกฯ สามารถตั้งคนใหม่แทนได้

แต่ถ้านายกฯ หรือคณะรัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจในสภา หรือ รมต.ลาออก มีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชาชนเลือกตั้งเป็นฝ่ายบริหาร คณะรัฐบาลต้องลาออกและเลือกตั้งฝ่ายบริหารใหม่

 

2.แก้ปัญหาฝ่ายนิติบัญญัติ…มีสภาเดียวไม่ต้องมี ส.ว.
ยุติการซื้อขาย ย้ายพรรคของ ส.ส.

สภาผู้แทนราษฎร ควรมี ส.ส.มาจากเขตเพื่อให้เป็นตัวแทนท้องถิ่น และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคและนโยบายของพรรค

แต่ควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมคือ 1 ต่อ 3 เช่น ส.ส.เขต 375 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125

การแก้ปัญหาซื้อขาย ย้ายพรรค จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ถ้า ส.ส.เขตจะออกจากพรรคด้วยเหตุผลใดก็ตามทั้งลาออกหรือถูกขับออกก็จะต้องให้ประชาชนในเขตนั้นตัดสินใจเลือกใหม่ ไม่สามารถย้ายพรรคใหม่ได้ แต่ประชาชนอยากจะเลือก ส.ส.คนใหม่พรรคเดิมหรือจะเลือก ส.ส.คนเดิมแต่พรรคใหม่ก็ทำได้

ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อถ้ามีปัญหา ลาออกเอง ก็ให้เลื่อนบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นขึ้นมาแทน ในกรณีที่ถูกขับออกจากพรรค ต้องส่งเรื่องให้ศาลตัดสินว่าการขับออกมีเหตุผลเพียงพอ ศาลจึงจะอนุมัติให้แต่งตั้งคนใหม่เข้ามาได้ตามบัญชีรายชื่อ ถ้าศาลไม่เห็นชอบ และเป็นความขัดแย้งตามปกติ ตำแหน่งนั้นจะว่างลงทันที ให้พิจารณาเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอื่นซึ่งมีคะแนนสำรองสูงสุดเข้ามาแทน

การยุบพรรคตัวเองเพื่อย้าย ส.ส.ไปรวมกับพรรคอื่นทำไม่ได้ ถ้ายุติกิจกรรมทางการเมือง ตำแหน่ง ส.ส.ก็หมดไป แต่ ส.ส.เขตต้องเลือกตั้งใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลือกจากบัญชีสำรองเช่นกัน

ถ้า ส.ส.เหลือไม่ถึง 60% ของจำนวนเต็ม สภาผู้แทนฯ จะถูกยุบ ต้องเลือก ส.ส.ใหม่ทั้งหมด

 

3. มี…สภายุติธรรม…
เลือกโดยประชาชน

อำนาจฝ่ายตุลาการในอดีตไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับการเลือกของประชาชนมาก่อนเลย แต่ถ้าพิจารณาให้ดี จะพบว่านี่เป็นอำนาจสำคัญที่ครอบคลุม และเกี่ยวโยงไปถึงอำนาจบริหาร และนิติบัญญัติ

จึงควรให้มีสภายุติธรรมมาดูแล ทั้งกระบวนการยุติธรรม ที่มีในปัจจุบัน คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ องค์กรอิสระ โดยเฉพาะช่วงหลังมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง

อำนาจของฝ่ายตุลาการที่เป็นอำนาจตัดสินใจสูงสุดจึงควรได้รับการยกระดับโดยการเลือกของประชาชนที่จะให้อำนาจในการชี้ถูกผิดจะต้องมีการกำหนดขอบเขตของอำนาจในการตัดสินประเด็นสำคัญในด้านการเมืองการปกครอง นโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจหรือปัญหาความขัดแย้งขนาดใหญ่ในสังคม แก้ปัญหาทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปรับปรุงแก้ไขกระบวนการยุติธรรม สิ่งใดที่ออกมาเป็นกฎหมายใหม่ ก็ต้องผ่านรัฐสภา

อำนาจสูงสุดแบบนี้ควรอยู่ ในระดับ สภาซึ่งอาจเรียกว่า…สภายุติธรรม ที่มีสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งโดยผ่านการกรองคุณสมบัติทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิและความเหมาะสมต่างๆ เมื่อประชาชนเลือกแล้วสภานี้ก็จะมีอำนาจตัดสินปัญหาต่างๆ ได้อย่างเต็มกำลัง

องค์ประกอบของสภายุติธรรม จะต้องมีผู้รอบรู้ด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อผิดพลาด ไม่ใช่มีเฉพาะทางกฎหมาย

แต่จะต้องมีองค์ประกอบอื่นซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไปคิดค้นว่าจะมาจากสายใดบ้าง เช่น ศาลยุติธรรม จากนักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การค้า จากทนาย จากตำรวจ จากอัยการ ผู้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฯลฯ เพื่อให้เกิดดุลพินิจแห่งความยุติธรรม

สมาชิกแต่ละด้าน ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่จะต้องมี 5-10 คน เมื่อรวมกันหลายด้านทั้งสภาอาจจะมี 200 คน ไม่สังกัดพรรคการเมือง ไม่เป็นข้าราชการประจำ

และการเลือกตั้งนั้นประชาชนจะเป็นผู้เลือกโดยตรง ประชาชน 1 คนเลือกสมาชิกสภายุติธรรมได้ 1 คน เลือกสมาชิกด้านใดก็ได้ เขตการเลือกตั้งคือทั้งประเทศ ผู้ที่ได้คะแนนสูงของแต่ละด้านจะได้รับเลือกตามจำนวนที่กำหนด และมีสมาชิกสำรอง

 

4. การคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระ

กรรมการทุกองค์กรจะต้องผ่านการรับรองของที่ประชุมร่วมทั้งสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายบริหาร สภายุติธรรม โดยที่ประชุมจะต้องตั้งคณะกรรมการสรรหาร่วมขึ้นมาก่อน และนำคนที่มีคุณสมบัติมาให้ที่ประชุมใหญ่เลือกอีกครั้ง กรรมการทุกองค์กร วาระไม่เกิน 4 ปี

91 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจของทุกฝ่ายยังไม่ได้เป็นอำนาจที่เชื่อมโยงจากประชาชนโดยตรง และไม่ได้ทำเพื่อประชาชน ไม่มีมาตรการที่ดีพอที่จะควบคุมบุคคลที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนในการใช้อำนาจทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ให้ประพฤติทุจริต ทรยศต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือใช้อำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง

สภายุติธรรม มีหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระ และพิจารณาถอดถอนกรรมการได้

การปฏิรูปให้อำนาจทั้ง 3 ฝ่ายมายึดโยงกับประชาชนและให้ประชาชนมีอำนาจควบคุมผู้ใช้อำนาจให้ปฏิบัติการอย่างถูกกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ต้องรีบกระทำโดยด่วน

มิฉะนั้นความเลวร้าย ทุจริต คดโกง จะมีช่องทางขยายไปเรื่อยๆ เหมือนโรคติดต่อ

 

ปัญหาการตั้งรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามเสียงประชาชนได้ในวันนี้ คือบทเรียนที่ทุกฝ่ายจะต้องปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอย่างเร่งด่วน ไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาการเมือง เช่น การยุบพรรค การตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือกรณีการถือหุ้นสื่อ

อาจมีคนสงสัยว่าถ้ารัฐบาลชุดใหม่เป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้ว อำนาจเก่าจะยังมีอิทธิพลสูง การที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ สามารถทำได้หรือ?

ถ้าประชาชนร่วมผลักดันให้มี ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็สามารถดีไซน์ได้ตามแบบที่ต้องการ และจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว