‘ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ’ เปิดโปง ‘รัฐประหารโดยรัฐสภา’ ทำกันอย่าง ‘เปลือยเปล่า-ล่อนจ้อน’

หมายเหตุ “รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์รายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ภายหลังกระบวนการเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกคว่ำโดยรัฐสภา

 

: สิ่งที่เราได้เห็นในระยะเวลา 2 เดือนเศษ ปรากฏว่าคะแนนเลือกตั้ง 14 ล้านเสียงไม่สามารถผลักก้าวไกลไปเป็นรัฐบาลได้ อาจารย์มองภาพนี้อย่างไร?

ผมมองว่า แม้จะเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ได้ถึงกับเซอร์ไพรส์หรือแปลกใจมากเสียทีเดียว แต่ว่ามันก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังอยู่ดี เพราะว่าครั้งนี้มันไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของพิธาและพรรคก้าวไกล มันคือความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตยไทย

การที่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทั้งที่รวมเสียงข้างมาก (ในสภาผู้แทนราษฎร) ได้แล้วอย่างชัดเจน ก็หมายความว่าประชาธิปไตยไทยยังพิกลพิการ มันยังไม่สมประกอบ แสดงว่าเรายังอยู่ในระบอบที่เป็นเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการอยู่ ยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ

เพราะว่าถ้ามันเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยปกติ พรรคที่ได้อันดับหนึ่ง และไม่ใช่อันดับหนึ่งเท่านั้น คือรวมเสียงข้างมาก (ในสภาผู้แทนราษฎร) ได้แล้ว และได้เกินครึ่ง 250 ไปอย่างชัดเจนแล้ว ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ อันนี้มันเป็นความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตย มันสะท้อนความถดถอยของประชาธิปไตย

อย่างคราวที่แล้ว พรรคเพื่อไทยชนะมาเป็นอันดับหนึ่งไม่ได้ตั้งรัฐบาล แต่ว่าฝั่งอำนาจเก่าเขายังเถียงได้ว่า สุดท้ายคุณรวมเสียงไม่ได้เกินครึ่ง อันนั้นเขาไปใช้สูตรคำนวณพิสดาร สุดท้าย เสียงมันไม่เกินครึ่ง ไม่ถึง 250 มันไปพลิก ทำให้ฝั่งนั้นได้เสียงมากกว่า เขาเลยอ้างความชอบธรรมว่าตั้งรัฐบาลได้

แต่ครั้งนี้ ไม่มีกรณีแบบนั้นเลย เสียง 312 ก็แพ็กกันถึงนาทีสุดท้าย มันก็เป็นเสียงเกินครึ่งที่ชัดเจน แล้วตั้งรัฐบาลไม่ได้ อันนี้ผมว่ามันชัดเจน สะท้อนความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยไทย

จริงๆ ถ้านับตั้งแต่หลังพฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ ที่พรรคอันดับหนึ่งแล้วรวมเสียงได้เกินครึ่งชัดเจน ตั้งรัฐบาลไม่ได้

: 2 เดือนเศษที่ผ่านมา เราเห็นการใช้วิธีการ “นิติสงคราม” หรือบางส่วนอาจจะมองว่าเป็น “ตุลาการภิวัตน์” ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเมืองไทย แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการหยิบยกกระบวนการเหล่านี้มาใช้สกัดพรรคการเมืองอีก อาจารย์มองว่าครั้งนี้ ผลลัพธ์มันจะไปสู่จุดไหน?

ความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน เพราะครั้งนี้เป็นการใช้นิติสงครามหรือตุลาการภิวัตน์แบบเปลือยเปล่า ล่อนจ้อน มากที่สุด อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คือ ทุกองคาพยพร่วมกันในการทำลายประชาธิปไตย แล้วก็ทำลายรัฐนิติรัฐลงไปอย่างยับเยิน เพียงเพื่อสกัดไม่ให้พรรคการเมืองและ (แคนดิเดต) นายกฯ ที่เขาไม่ชอบขึ้นสู่ตำแหน่งได้

ทำไมผมคิดว่ามันจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะเราดูง่ายๆ ครั้งนี้มีสามสิ่งที่โดนทำลายไป

หนึ่ง หลักรัฐธรรมนูญโดนทำลาย สอง ตัวรัฐสภา ซึ่งเป็นสถาบันที่ทรงเกียรติ ซึ่งควรจะเป็นเวทีในการยึดหลักการเอาไว้ให้มั่นเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ก็โดนทำลาย แล้วการเลือกตั้งก็โดนทำลาย

หลักรัฐธรรมนูญโดนทำลาย คือ เราเห็นแล้ว กฎหมายถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งทางการเมืองกัน โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเลย หลายมาตรามาก

เอาแค่เรื่องหุ้นสื่อ หุ้นไอทีวี เราก็รู้แล้วเจตนารมณ์ คงไม่ต้องอธิบาย เราอยู่กับเรื่องนี้มาสองเดือน เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญก็ชัดเจน แต่ว่ามันถูกเอามาบิด ฉะนั้น หลักกฎหมายมันถูกทำลายจนไม่เหลือ

ที่ผมคิดว่าเสียหายอย่างหนักคือรัฐสภา เพราะไอ้การลงมติโหวตนายกฯ รอบสอง ที่ไปเอาข้อบังคับของรัฐสภามาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อันนี้ผมคิดว่ามันคือ “การรัฐประหาร” โดยรัฐสภา

เพราะว่าเท่ากับทำให้หลักรัฐธรรมนูญในการเลือกนายกฯ ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว ว่ามันเลือกอย่างไร เราไปงดเว้น เหมือนไม่ใช้รัฐธรรมนูญนั้น แล้วไปเอาข้อบังคับเรื่องญัตติ ซึ่งไม่ถูกต้องเลย มาใช้ให้มันอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เท่ากับหลักรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ถูกทำลายไป

โดยคนที่ทำลาย ก็คือ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส.จำนวนหนึ่ง ใช้เสียงข้างมากลากไป มันคือเผด็จการรัฐสภาอย่างชัดเจนเลย ผมคิดว่ารัฐสภาก็ตกอยู่ในสถานะที่ง่อนแง่นแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นของสภาชุดนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่า มติวันนั้นที่โหวตนายกฯ รอบสอง (ว่าการเสนอชื่อพิธาอีกหนเป็นญัตติซ้ำ) เป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามในการโหวตนายกฯ เสนอชื่อนายกฯ ซ้ำได้ นักกฎหมายหลายคน นักรัฐศาสตร์ เราก็เห็นตรงกัน ถ้าจะห้าม ต้องมีข้อห้ามไว้แล้วชัดเจน ฉะนั้น เท่ากับว่าสภาเป็นผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเองในวันนั้น

ประการที่สาม สถาบันการเมืองที่โดนทำลายไป ก็คือ เลือกตั้ง

ครั้งนี้ การเลือกตั้ง เจตนารมณ์ของประชาชนชัดเจนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เอาตัวเลขง่ายๆ 8 พรรครวมกันที่เขาเป็นแนวร่วมที่จะจัดตั้งรัฐบาล ได้เสียงปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดประมาณ 72-73 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนทั้งประเทศ ฝั่งตรงข้ามที่เหลือ ฝั่งรัฐบาลเก่า รวมกันได้ประมาณ 17-18 เปอร์เซ็นต์

มันก็คือแพ้-ชนะกันชัดเจน ก็หมายความว่าประชาชนเขาเบื่อหน่ายขั้วรัฐบาลเดิม เขาต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แล้วเขาใช้เวทีการเลือกตั้งที่สงบสันติที่สุด แต่พอเลือกตั้งมาเสร็จแล้ว เสียงประชาชนไม่โดนเคารพ ก็เท่ากับว่าการเลือกตั้งกลายเป็นแค่พิธีกรรม

ประชาชนเขาถึงโมโห ที่เขาออกไปชูป้าย ออกไปแสดงความคิดเห็น หรือคนโพสต์บนเฟซบุ๊กว่า แล้วหลอกให้เราไปเลือกตั้งทำไม? เสียเงินจัดการเลือกตั้งไปตั้งหลายพันล้าน ถ้าอย่างนั้น คนไม่กี่คนก็ไปจิ้มเลือก (นายกฯ และรัฐบาล) กันมาเองเลย

พอหลักรัฐธรรมนูญมันโดนทำลาย แล้วสภาโดนทำลาย การเลือกตั้งซึ่งเป็นกลไกในการเลือกรัฐบาล โดนทำลาย ผมคิดว่า โดยธรรมชาติ พอความขัดแย้งไม่ถูกแก้ไขในระบบ มันเกิดอะไรขึ้นล่ะ? ก็เห็นมาแล้วทั่วโลก รวมถึงประวัติศาสตร์ไทยด้วย มันก็ต้องทะลักไปบนท้องถนน

คนเขาอุตส่าห์อดทน คนไทยนี่อดทนนะ ก็คือรอไปเลือกตั้ง รอไปเปลี่ยนรัฐบาลด้วยการเลือกตั้ง สงบ สันติ ศิวิไลซ์ที่สุดแล้ว เลือกมาแล้ว เลือกอย่างชัดเจน ถล่มทลายขนาดนี้ ก็ไม่ได้อีก แล้วจะเหลือทางออกอะไรให้ประชาชน พอเราไปทำให้เสียงเขาไม่มีความหมาย ความขัดแย้งก็ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว

เพราะคนรู้สึกว่าฝ่ายชนชั้นนำปิดประตูทางออก ไม่ให้เขาเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ มันก็ต้องนำไปสู่การขัดแย้งเผชิญหน้า ผมมองว่า ครั้งนี้มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่อีกครั้งหนึ่งอย่างน่าเสียดาย โดยไม่จำเป็น

เราไม่ควรต้องเดินไปถึงจุดนี้