โล่เงิน : “เลขาธิการศาลยุติธรรม” ชี้ทิศทาง “ปฏิรูปศาล” รวดเร็ว-เป็นธรรม-ลดเหลื่อมล้ำ

ประเด็นการปฏิรูปประเทศ เข้มข้นขึ้นตามลำดับ หลังจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอแนะจากภาคส่วนประชาชน เพื่อนำข้อสรุปที่ได้มาบรรจุในแผนปฏิรูปประเทศที่มีการวางกรอบไว้แต่ละด้านแล้ว

การเดินหน้าปฏิรูปประเทศที่ให้ความสำคัญมากที่สุด ปฏิเสธไม่ได้คือการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเป็นการปฏิรูปที่มีความใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของประชาชนมาก

และองค์กรที่ถูกจับตามองว่าจะมีการปฏิรูปหรือไม่ ไม่แพ้ตำรวจ คือการปฏิรูปศาลยุติธรรม

เนื่องจากศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่รับสำนวนมาจากหน่วยงานยุติธรรมต้นน้ำคือพนักงานสอบสวนเเละพนักงานอัยการ ศาลจัดเป็นองค์กรที่มีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทในสังคม สามารถให้คุณให้โทษกับบุคคลและองค์กรต่างๆ ได้ ตั้งแต่โทษปรับจนถึงประหารชีวิต

แม้ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมมักถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีใครกล้าแตะ

แต่บุคลากรของศาลยุติธรรมกลับมองตรงกันข้าม เพราะผู้พิพากษาจะระลึกอยู่เสมอว่า ในเมื่อศาลเป็นองค์กรที่มีอำนาจตัดสินข้อพิพาทในสังคม การจะให้องค์กรอยู่ได้นั้นจะต้องธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม รวดเร็ว เที่ยงตรง และสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการให้ความเป็นธรรมแก่สังคมได้

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงการปฏิรูปศาลยุติธรรมว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับศาลนั้น มีการดำเนินการอยู่บ้างแล้ว เนื่องจากการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา และยุทธศาสตร์ของศาลยุติธรรม

รัฐธรรมนูญกำหนดในแผนปฏิรูปไว้ชัดเจนว่าจะให้ศาลยุติธรรมดำเนินการอย่างไร

ประเด็นปฏิรูปในส่วนของศาลยุติธรรมในครั้งนี้จะไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานโครงสร้างของศาลยุติธรรมเช่นในเรื่องสัดส่วน ก.ต. แต่อย่างใด เพราะเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจน

โดยเรื่องที่จะปฏิรูปเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาชน เช่น การกำหนดระยะเวลาของการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมให้ชัดเจนไม่ให้ล่าช้า มีกลไกการช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ต้องบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้ประชาชนเข้าถึง และลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมได้ รวมทั้งเรื่องการนำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี ตรงนี้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ชัดเจน

“ในเรื่องปฏิรูป ให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยใช้ระบบนิติวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพราะหากมีการนำนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยจะมีผลในการรับฟังพยานหลักฐานในคดีได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้กล้องวงจรปิดที่ถ่ายมารับฟังได้ดีกว่าพยานที่เบิกความด้วยวาจา ที่อาจจะเบิกความเปลี่ยนแปลงได้ หรืออย่างการตรวจดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุ จะมีส่วนช่วยแสวงหาพยานหลักฐานลงโทษผู้กระทำความผิดได้” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมระบุ

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม บอกด้วยว่า นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมจะส่งเสริมให้มีการวางระบบงาน และวัฒนธรรมขององค์กรที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้การบริหารจัดการเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้รวดเร็วและง่ายขึ้น เสียค่าใช้จ่ายน้อย

มีการให้นำระบบประเมินความเสี่ยงเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำของฐานะที่เป็นนโยบายและทางศาลนำเข้าใช้

รวมทั้งยังเสนอให้มีการจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษเพิ่มขึ้นอีก 2 ศาลคือ ศาลสิ่งแวดล้อม และศาลแผนกคดีพาณิชย์

ตรงนี้เราเสนอไป เพื่อพัฒนาความชำนัญพิเศษของคดีที่มีลักษณะแตกต่างจากคดีทั่วไป รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาบุคลากร เพราะคนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพิจารณาพิพากษาเป็นธรรม

เราต้องมีการอบรมทั้งผู้พิพากษาเเละข้าราชการศาลให้มีความรู้เพิ่มศักยภาพ รวมถึงเรื่องคอร์ต มาร์แชล ที่เราสนับสนุนเพราะจะมีผลให้การบังคับตามคำพิพากษาได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ส่วนประเด็นที่เป็นเรื่องใหม่ นายสราวุธ เผยว่า ศาลยุติธรรมเตรียมจะวางระบบในเรื่องของการจ่ายค่าปรับ ปกติโทษค่าปรับจะมีขั้นต่ำจนถึงขั้นสูง

แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้วเราจะเห็นว่าเมื่อคนมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เท่ากันแล้วต้องจ่ายค่าปรับเท่ากันจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ยกตัวอย่าง การปรับเงิน 1 หมื่นบาทอาจจะถือเป็นเงินจำนวนมากกับคนที่ฐานะไม่ดี แต่กับคนที่มีรายได้เยอะตรงนี้จะไม่มีผลกระทบกับเขาเลย เราจึงจะนำระบบเดลฟาย หรือการลงโทษโดยการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ที่มีการใช้ในยุโรปมาพิจารณานำเสนอกับคณะกรรมการ

ด้านระยะเวลาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นายสราวุธ เผยว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่กล่าวมานั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง มีการถ่ายทอดสดทางสื่อ

และเมื่อได้รับความเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปฯ ทุกคนจะต้องนำความเห็นทั้งหมดมาประมวลเพื่อเขียนแผนปฏิรูปฯ จนเสร็จ พร้อมนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา

หากมีการเห็นชอบแล้ว จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกชั้น และไปจบที่รายงานต่อรัฐสภา ก่อนจะประกาศแผนลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

“ขอย้ำว่า ในขณะนี้เรื่องไหนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทางสำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการไปได้เลย ถ้าตรงไหนที่ชัดเจนแล้วไม่ต้องรอ บางอย่างกฎหมายไม่ได้ปิดกั้น แต่บางส่วนที่ต้องรอแผนปฏิรูปทางศาลยุติธรรมเองจะมีการนำเสนอกฎหมายรองรับควบคู่กันไปด้วยเลย อย่างเรื่องเทคโนโลยีก็ควรมีการบูรณาการกับ ตำรวจ อัยการ ศาล ควรใช้ฐานข้อมูลเดียวกันได้ เราสามารถตรวจสอบข้อมูลการกระทำผิดของบุคคลได้ ตรงนี้ฐานข้อมูลแยกกันอยู่ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การบูรณาการของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมร่วมกันจะช่วยได้มากขึ้น”

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวทิ้งท้าย