แพทย์ พิจิตร : ประวัติการยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (22)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การเมืองไทยเรามีการยุบสภาเกิดขึ้นทั้งสิ้น 14 ครั้งภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติที่ว่าด้วยการยุบสภาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็กำหนดไว้คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการยุบสภาอะไรเป็นพิเศษ

อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 103 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

และรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ

ดังนั้น เหตุผลหรือเงื่อนไขในการยุบสภาจึงเป็นไปอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว

นั่นคือ เป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น

และประเพณีการปกครองที่ว่านี้ก็ควรที่จะต้องอยู่ภายใต้ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบ

และผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของอังกฤษไปในหลายตอนก่อนหน้านี้

จากนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอให้เห็นถึงเหตุผลหรือเงื่อนไขของการยุบสภาในประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้ว 12 ครั้ง

คราวนี้จะขอกล่าวถึงการยุบสภาที่เหลืออีก 2 ครั้ง และหลังจากนั้นจักได้ชี้ให้เห็นถึงการยุบสภาที่เป็นไปตามแบบแผน และการยุบสภาที่มีข้อน่าสงสัยพิจารณา

 

การยุบสภาครั้งที่สิบสาม เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2554 ในสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 สาเหตุตามคำอธิบายของ ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ คือ

“จากที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่เป็นหลัก คือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย โดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเสียงข้างมากในสภา พรรคภูมิใจไทยจึงมีอํานาจต่อรองทางการเมืองมาก สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งในการตัดสินใจกับนายกรัฐมนตรีเสมอ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ควบคุมกระทรวงสําคัญที่เป็นกลไกการปกครองประเทศ เช่น กระทรวงมหาดไทย รัฐบาลจึงไม่มีความมั่นคงทางการเมือง ประกอบกับเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตในโครงการต่างๆ สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนและมีราคาแพง ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความอ่อนแอในการมีอํานาจในสภาที่สมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมทําให้สภาล่มบ่อยครั้ง ความขัดแย้งกับกลุ่มการเมือง ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียังไม่พร้อมและมีความชอบธรรมทางการเมืองเพียงพอที่จะดําเนินการ จึงเป็นความพยายามสร้างและแสวงหาความชอบธรรมใหม่ ซึ่งประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก อีกทั้งได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ต้องการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้ให้เหตุผลว่า ตามที่รัฐบาลได้เข้ารับหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงปลายปี พ.ศ.2551 ได้เกิดวิกฤตการณ์ภายในประเทศหลายประการทั้งในด้านผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำเป็นผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจถดถอยลง มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น และการลงทุนของประเทศชะงักประกอบกับได้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ มีการใช้กําลังและความรุนแรงในการชุมนุมประท้วง

รัฐบาลได้คลี่คลายปัญหาดังกล่าว จนสามารถฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากภาวะวิกฤตและกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลําดับอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมก็ได้รับการแก้ไขโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนผ่อนคลายความรุนแรงลงแล้ว ประกอบกับรัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จึงเห็นสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อคืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชน และให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดําเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง”

ส่วนในวิกิพีเดียกล่าวถึงสาเหตุการยุบสภาครั้งนี้ไว้สั้นๆ ว่าเกิดจาก “วิกฤตการณ์ทางการเมือง”

 

สําหรับผู้เขียนเห็นว่า สาเหตุหลักของการยุบสภาครั้งที่ 13 นี้ไม่ได้เกิดจาก “วิกฤตการณ์ทางการเมือง” ตามที่วิกิพีเดียให้เหตุผลไว้

เพราะวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้เกิดขึ้นและยุติลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553

แต่การยุบสภาเกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 เป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากวิกฤตการณ์เมืองครั้งนั้น

ผู้เขียนเห็นว่า สาเหตุสำคัญของการยุบสภาครั้งนี้คือ

(1) รัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตราที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งและที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการแก้ไขในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2554 ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2554 ได้ยกเลิกมาตรา 93 ถึงมาตรา 98 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอันเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งและที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ส่งผลให้สภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่เป็นไปตามบทบัญญัติใหม่ที่แก้ไขและประกาศใช้ จึงมีเหตุผลอันสมควรที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ อันเป็นระบบการเลือกตั้งที่เป็นไปตามบทบัญญัติที่แก้ไขในรัฐธรรมนูญ

(2) ความขัดแย้งภายในรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแต่มีเสียงข้างน้อย การถือโอกาสยุบสภาผู้แทนราษฎรหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหวังจะได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มมากขึ้นจึงสมเหตุสมผล

(3) พรรคประชาธิปัตย์คาดหวังว่าจะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลคาดการณ์ว่าการยุบสภาครั้งนี้จะส่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบในการเลือกตั้งมีสองประการสำคัญ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกทางการเมือง

โดยหลักฐานการฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากภาวะวิกฤตและกลับคืนสู่ภาวะปกติ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นคือ

“ดัชนีเศรษฐกิจไทยในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สูงสุดที่ระดับ 1,145.82 จุดในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นการทำลายสถิติดัชนีสูงสุด 15 ปี 3 เดือน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ซึ่งปิดที่ 1,121.04 จุดภายหลังดัชนีเศรษฐกิจไทยได้ขึ้นไปสู่ระดับ 1,107.36 ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2554 สูงสุดในรอบ 15 ปี

ในขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกใน พ.ศ.2551 ทำให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่ำสุดในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2551 ที่ระดับ 387.43 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน โดยวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2546 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 387.37 จุด

ในสมัย ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยดัชนีเศรษฐกิจไทยจุดต่ำสุดของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สูงกว่ารัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร 0.06 จุดหรือ 0.015 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ดัชนีเศรษฐกิจไทย ปิดตลาดที่ 1,050.85 ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ลดลงถึง -23.02 จุดหรือ 2.14 เปอร์เซ็นต์ ภายในวันเดียว ซึ่งเป็นการลดลงที่มากที่สุดภายในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคโอเชียเนีย”

ส่วนการยุบสภาครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทยคือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556