ชุลมุนอุ้ม ‘ดีเซล’ สะเทือน ‘เบนซิน’ มหากาพย์ค่าการตลาด(ไม่)เป็นธรรม!!

บทความเศรษฐกิจ

 

ชุลมุนอุ้ม ‘ดีเซล’

สะเทือน ‘เบนซิน’

มหากาพย์ค่าการตลาด(ไม่)เป็นธรรม!!

 

ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 จนถึงเวลานี้ ราคาขายปลีก “น้ำมันดีเซล” ของไทย ยังคงไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร

ผลจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป รองรับการสิ้นสุดของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร วันที่ 20 กรกฎาคม 2566

กลไกการอุ้มราคาของกองทุนน้ำมันฯ ครั้งนี้ ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาสิ้นสุด แต่จะยึดสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ เป็นหลัก ถ้าเงินหมดหนี้บานจนรับไม่ไหวก็สิ้นสุดมาตรการโดยพลันนั่นเอง

จากปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 16 กรกฎาคม ติดลบอยู่ที่ 49,829 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 4,316 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 45,513 ล้านบาท

การดูแลดังกล่าว อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ราคาน้ำมันดิบโลกยังอยู่ระดับไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเกิน 110-125 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะมีการทบทวนราคา ไม่แบกที่ 32 บาทแน่นอน

ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันฯ แม้ติดลบถึง 45,513 ล้านบาท แต่ยังมีเงินกู้ภายใต้กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เข้ามาเพิ่มสภาพคล่อง จำนวนนี้บรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 1.1 แสนล้านบาท กองทุนน้ำมันฯ กู้มาแล้ว 5.5 หมื่นล้านบาท ชำระหนี้ให้ผู้ค้ามาตรา 7 แล้ว เป็นหนี้ที่อุดหนุนราคาดีเซลในช่วงที่ผ่านมา

ขณะนี้จึงเหลือเงินกู้อีกประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท และยังเหลือวงเงินกู้ที่ยังไม่บรรจุเป็นหนี้สาธารณะอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

กบน.ยังส่งสัญญาณอีกว่า หากมีรัฐบาลใหม่ กองทุนน้ำมันฯ จะขอหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลยังอยู่ในช่วงวิกฤตเกิน 30 บาทต่อลิตร และปลายปีราคาพลังงานขาขึ้น ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ ยังติดลบ และมีภาระแบกรับดอกเบี้ย 2% ต่อปี

จึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเรื่องนี้โดยด่วน!!

 

ด้านกระทรวงการคลัง ก่อนหน้านี้ออกตัวชัดเจน ไม่พร้อมต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรซึ่งสิ้นสุดวันที่ 20 กรกฎาคม 2566

เพราะถูกท้วงติงว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่มีอำนาจอนุมัติได้ ขัดต่อแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

อีกเหตุผลมองว่าควรปล่อยให้กระทรวงพลังงานใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นฝ่ายดูแลแทน เนื่องจากสถานการณ์พลังงานปัจจุบันไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต โดยราคาน้ำมันดิบลดเหลือ 70-76 เหรียญต่อบาร์เรล อีกทั้งสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีภาระหนี้ในส่วนหนี้น้ำมันลดลงอย่างมาก จึงสามารถใช้กลไกลกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปดูแลเองได้

ดังนั้น มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จะมีการทำต่อหรือไม่ ต้องรอความชัดเจนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้ง

กระทรวงการคลังยังยืนยันว่า การใช้มาตรการลดภาษีอย่างต่อเนื่อง และพร่ำเพรื่อ จะมีผลเสียต่อการจัดเก็บรายได้ภาพใหญ่ของรัฐบาล รวมถึงการสร้างภาระวินัยการคลังของประเทศในระยะยาวอย่างไม่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมารัฐต้องสูญเสียรายได้เกือบ 1.6 แสนล้านบาทแล้ว จากการยกเว้นภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตร 5 บาท มานานกว่า 1 ปี

อย่างไรก็ตาม การดูแลราคาดีเซล เป็นความจำเป็นในภาวะช่วงนั้นที่ราคาน้ำมันโลกพุ่งแบบฉุดไม่อยู่ จากพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนกระทบค่าครองชีพ ประชาชนก่นด่ารัฐบาล 24 ชั่วโมง

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้กลไกภาษีเข้าช่วย หลังจากมอบหน้าที่หลักให้กองทุนน้ำมันฯ ดูแลจนหลังแอ่น แบกหนี้กว่า 1.3 แสนล้านบาท จากการดูแลราคาดีเซลเป็นหลัก

 

ย้อนดูมาตรการภาษีเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่า รัฐบาลใช้มาตรการลดภาษีดีเซลไปแล้ว 7 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 1.58 แสนล้านบาท

รายละเอียด ครั้งที่ 1 วันที่ 18 กุมภาพันธ์-20 พฤษภาคม 2565 ลดภาษีลิตร 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รัฐสูญรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท ครั้งที่ 2 วันที่ 21 พฤษภาคม -20 กรกฎาคม 2565 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 21 กรกฎาคม-20 กันยายน 2565 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท

ครั้งที่ 4 วันที่ 21 กันยายน-20 พฤศจิกายน 2565 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ครั้งที่ 5 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565-20 มกราคม 2566 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ครั้งที่ 6 ช่วงวันที่ 21 มกราคม-20 พฤษภาคม 2566 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 4 เดือน รัฐสูญรายได้ 4 หมื่นล้านบาท

และครั้งที่ 7 วันที่ 21 พฤษภาคม-20 กรกฎาคม 2566 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท

ทุกการลดภาษีดีเซล 1 บาท ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไป 2,000 ล้านบาทต่อเดือน!!

กระทั่งถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการคลังปิดจ๊อบการช่วยเหลือไปโดยปริยาย ส่งไม้ต่อให้กระทรวงพลังงานใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ดูแลต่อ

 

เรื่องราวทำท่าจะจบโดยดี แต่อยู่ๆ ราคา “น้ำมันเบนซิน” ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ค่าการตลาดระดับ 2 บาทกว่าต่อลิตร ซึ่งถือเป็นระดับสูงพอสมควร

ตัวอย่างสถิติภายใน 1 สัปดาห์ (10-16 กรกฎาคม 2566) ราคาน้ำมันปรับขึ้นรวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม ขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตร จากนั้นในวันที่ 13, 14 และ 15 กรกฎาคม ปรับขึ้นครั้งละ 30 สตางค์ต่อลิตร รวมปรับขึ้นตลอดสัปดาห์ 1.40 บาทต่อลิตร

ยังไม่นับรวมการขึ้นในช่วงเวลาอื่นที่ราคาเบนซินมักขึ้นมากกว่าลง ประเด็นเหล่าจึงถูกตั้งคำถามพร้อมเสียงโวยวายจากกลุ่มผู้ใช้เบนซิน!!

เรื่องนี้กระทรวงพลังงานชี้แจงความเป็น 2 สาเหตุ คือ

1. ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน หลังเขตเศรษฐกิจหลักของโลกเผชิญกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้องจับตาสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กลับมามีความไม่แน่นอนอีกครั้ง ทำให้ตลาดกลับมาจับตาผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันมากขึ้น

2. ค่าการตลาดน้ำมันต้องดูทั้งระบบ คือ ทั้งเบนซินและดีเซล กระทรวงพลังงานกำหนดค่าการตลาดประมาณ 2 บาทต่อลิตร แม้กลุ่มเบนซินได้เกิน 3 บาทต่อลิตรแต่ปริมาณการใช้แค่ 30% ของทั้งระบบ ขณะที่ดีเซลซึ่งมีสัดส่วนปริมาณใช้สูงถึง 70% ของทั้งระบบ ได้ค่าการตลาด 1.50 บาทต่อลิตรหรือต่ำกว่านั้น เพื่อดูแลราคาไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตร

โดยกระทรวงพลังงานยืนยันว่า ไม่ได้ผลักภาระให้ผู้ใช้เบนซิน แต่ค่าการตลาดต้องถัวเฉลี่ยเพื่อดูแลดีเซลด้วย

เป็นสูตรบาลานซ์เชื้อเพลิงทั้ง 2 ชนิด เป้าหมายคือดูแลค่าครองชีพคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ต้องแลกมาด้วยเสียงก่นด่า!!