โรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ : ประวัติและความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ

: ประวัติและความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ (1)

 

โดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน ได้มีโอกาสกลับไปเดินเล่นแถว “สวนมะลิ” และ “ตรอกโรงเลี้ยงเด็ก” ริมถนนบำรุงเมืองที่เป็นย่านบ้านเก่าเมื่อครั้งยังเด็ก ซึ่งทำให้ความทรงจำเก่าๆ เมื่อครั้งเดินไปซื้อของให้ที่บ้านในตลาดโรงเลี้ยงเด็ก เดินไปเรียนที่วัดพลับพลาซัยสมัยประถม และโรงเรียนเทพศิรินทร์มัธยมย้อนกลับมาอีกครั้ง

เมื่อตอนเด็กเคยสงสัยว่าทำไมแถวนั้นถึงถูกเรียกว่าโรงเลี้ยงเด็กทั้งๆ ที่ไม่มีโรงเลี้ยงเด็กสักแห่ง

พอโตมาจึงได้รู้ผ่านงานเขียน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “ตำนานโรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชาชาเธอฯ” ว่าพื้นที่แถวนั้นเคยเป็นโรงเลี้ยงเด็กกำพร้ายากไร้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ก่อตั้งโดย พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์

หลังจากกลับมาบ้าน ความทรงจำยังคงติดค้าง เลยกลับไปหยิบหนังสือ “ตำนานโรงเลี้ยงเด็กฯ” มาอ่านซ้ำ พร้อมไปกับการเทียบดูแผนที่เก่าและภาพถ่ายเก่าที่เกี่ยวข้อง

การย้อนกลับไปอ่านอีกครั้งได้ทำให้ผมมองเห็นภาพของพื้นที่นี้ชัดเจนขึ้น

แน่นอน เรื่องเล่าของย่านนี้มิได้ลึกลับซับซ้อนอะไรนะครับ มีงานเขียนพูดถึงอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม เท่าที่อ่านดู คิดว่ายังพอมีแง่มุมที่น่าสนใจให้พูดถึงได้ อีกทั้งสำหรับคนทั่วไปแล้ว เรื่องราวโรงเลี้ยงเด็กก็มิได้เป็นที่รับรู้กว้างขวางมากนัก ยังมีความน่าสนใจมากพอต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ย่านเก่าของพื้นที่กรุงเทพฯ

ดังนั้น นอกจากเพื่อสนองอารมณ์ระลึกความหลังแบบส่วนตัวแล้ว เลยคิดว่าจะเรียบเรียงประวัติของพื้นที่โรงเลี้ยงเด็กมาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์นี้ เท่าที่หลักฐานพอจะนำพาให้เล่าไปถึงได้

พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ผู้ก่อตั้งโรงเลี้ยงเด็ก และ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี มูลเหตุที่ทำให้เกิดการก่อตั้งโรงเลี้ยงเด็ก

จากประกาศเรื่องตั้งโรงเลี้ยงเด็ก พ.ศ.2433 ในราชกิจจานุเบกษา ได้กล่าวถึงเหตุผลในการก่อตั้งไว้ว่า พระอัครชายาเธอฯ ได้สูญเสียลูกสาวคือ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ไปในปี พ.ศ.2432 อันนำความโศกเศร้าสาหัสมาให้ ซึ่งทำให้พระองค์คิดถึงว่า ขนาดบุตรธิดาของผู้มีบรรดาศักดิ์เมื่อถึงคราวล้มป่วยและเสียชีวิต ยังสร้างความทุกข์ได้ถึงเพียงนี้ แล้วถ้าเป็นลูกหลานคนยากไร้ จะยิ่งสร้างความทุกข์ในชีวิตมากยิ่งไปกว่านี้สักแค่ไหน

พระองค์มีความคิดจะบำเพ็ญกุศลใหญ่ให้แก่ลูกสาวที่เสียชีวิต ด้วยการตั้งสถานเลี้ยงเด็กยากไร้ขึ้น โดยทำการซื้อที่ดินบริเวณตำบลสวนมะลิ ริมถนนบำรุงเมือง และรับเลี้ยงเด็กที่พ่อแม่ยากจนหรือเป็นกำพร้าที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 11 ปี (กรณีเด็กหญิง) และ 13 ปี (กรณีเด็กชาย)

โดยเด็กทั้งหมดจะต้องอยู่อาศัยกินนอนในโรงเลี้ยงเด็กจนถึงช่วงวัยที่กำหนด หลังจากอายุเกินแล้ว ทางโรงเลี้ยงเด็กจะช่วยฝากฝังเด็กให้มีอาชีพทำกินต่อไป

เมื่อแรกเริ่มมี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ รับหน้าที่อำนวยการ ซึ่งพระองค์ได้บันทึกข้อมูลเอาไว้ว่า ที่ดินในการสร้าง ได้ทำการซื้อต่อมาจาก “นายภู่” โดยในที่ดินมีอาคารเดิมอยู่แล้ว 4 หลัง จึงได้ทำการซ่อมแปลงเพื่อใช้เป็นที่เลี้ยงเด็กผู้หญิง เรือนพยาบาล และเรือนผู้จัดการ

น่าสังเกตว่า “แผนที่กรุงเทพฉบับธงชัย” พ.ศ.2430 ได้ปรากฏชื่อและตำแหน่ง โรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ แล้วโดยมีพื้นที่ไม่ใหญ่โตมากนัก สภาพโดยรอบยังเป็นร่องสวนโดยส่วนใหญ่

จากหลักฐาน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าโรงเลี้ยงเด็กถูกจัดตั้งขึ้นก่อนการเสียชีวิตของเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี หรือไม่ เพราะแผนที่ชุดนี้นักวิชาการลงความเห็นว่า จัดทำเสร็จและส่งไปตีพิมพ์ที่อังกฤษเมื่อ พ.ศ.2430

แต่ประกาศเรื่องตั้งโรงเลี้ยงเด็ก ได้ระบุเหตุผลจัดตั้งเอาไว้ชัดเจนว่ามาจากการเสียชีวิตของเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ซึ่งประกาศนี้เป็นเอกสารร่วมสมัย ไม่น่าที่จะบันทึกผิดพลาด

ความไม่ลงรอยของหลักฐาน อาจเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นจากการอัพเดตข้อมูลในแผนที่ พ.ศ.2430 ตามสภาพกายภาพของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งแผนที่ชุดอื่นก็ปรากฏลักษณะเช่นนี้ให้เราเห็นอยู่เสมอ

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง แผนที่กรุงเทพฉบับธงชัยที่เราเข้าใจว่าตีพิมพ์ พ.ศ.2430 อาจเป็นเวอร์ชั่นอัพเดตจากต้นฉบับ พ.ศ.2430 หรือไม่ และเราต้องทบทวนอายุสมัยแผนที่ชุดนี้ใหม่หรือไม่

ประเด็นเหล่านี้คงต้องรอให้ผู้สนใจวิเคราะห์กันต่อไป (บทความนี้จะไม่ขอลงในรายละเอียด)

แผนที่กรุงเทพฉบับธงชัย พ.ศ.2430 แสดงตำแหน่งและขนาดของโรงเลี้ยงเด็ก ริมถนนบำรุงเมือง เมื่อครั้งแรกสร้าง

ย้อนกลับมาที่ประเด็นบทความ ภายหลังก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ได้มีการซื้อที่ดินอื่นเพิ่มเติมอีกหลายแปลงจนที่ดินสุดท้ายมีขนาดใหญ่โตขึ้นหลายเท่า มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบยาว เริ่มจากริมถนนบำรุงเมืองยาวไปจนจรดคลองมหานาค

ต่อมามีการสร้างรั้วล้อมเขตที่ดิน และตัดถนนหลักผ่านเข้ากลางพื้นที่เริ่มจากถนนบำรุงเมืองยาวไปจนถึงคลองมหานาค โดยถนนเส้นนี้ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันในชื่อ “ตรอกโรงเลี้ยงเด็ก” ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานทางกายภาพเพียงอย่างเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่

นอกจากนี้ ได้มีการปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสม ขุดสระน้ำและเอาดินมาถมทำเป็นสนาม มีการสร้างเรือนไม้ขึ้นใหม่ 4 หลังสำหรับเลี้ยงเด็กผู้ชาย ให้ชื่อตามลูกของพระอัครชายาเธอฯ ทั้ง 4 คน คือ เรือนยุคล (เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร) เรือนนภาจร (เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี) เรือนมาลินี (เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา) และเรือนนิภา (เจ้าฟ้านิภานภดล)

เรือนทั้ง 4 หลังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายเรือนบังกะโล สร้างขึ้นเป็นเรือนฝากระดานชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง เสาใต้ถุนเรือนก่ออิฐถือปูน ตัวเรือนด้านบนทาสีน้ำเงินมีเฉลียงและลูกกรงไม้รอบอาคาร บานประตูเป็นบานเกล็ดไม้ โดยตอนบนสุดของผนังออกแบบเป็นช่องลมสำหรับระบายอากาศ

แผนผังโรงเลี้ยงเด็ก ต้นทศวรรษ 2470 ที่มาภาพ : หนังสือ “ตำนานโรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ”

รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาทำพิธีฉลองโรงเลี้ยงเด็กอย่างเป็นทางการเมื่อ 9 กันยายน พ.ศ.2433

พร้อมกันนี้ ได้มีการตั้งชื่อเด็กที่อยู่ในการดูแลของโรงเลี้ยงเด็กขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยทุกคนจะมีคำว่า “บุญ” นำหน้าชื่อ เช่น บุญนำ, บุญห่อ, บุญแปล้, บุญโกย, บุญก่อ, บุญยั่ว, บุญเย้า, บุญเบ่ง, บุญเยิน, บุญโบก, บุญกลบ ฯลฯ

ในเวลาไม่นาน จำนวนเด็กได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สถานที่คับแคบไม่เพียงพอ ประจวบเหมาะกับในปี พ.ศ.2437 มีการจัดงานพระเมรุ ให้แก่ พระองค์เจ้าชายอิศริยาภรณ์ (เสียชีวิต พ.ศ.2435) และ พระองค์เจ้าหญิงลวาดวรองค์ (เสียชีวิต พ.ศ.2436) ณ วัดเทพศิรินทร์ทราวาส รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีแนวคิดว่านำเงินซึ่งจะต้องใช้เป็นค่าใช้จ่ายในงานพระเมรุเอามาสร้างโรงเลี้ยงเด็กแทน ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่า

ดังนั้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกขึ้นใหม่ ระหว่างเรือนมาลินีกับเรือนนิภา โดยเชื่อมทั้ง 3 หลังเข้าด้วยกัน และให้ชื่อว่า “สายสวลีสัณฐาคาร” พร้อมทั้งสร้างเรือนไม้สำหรับเป็นที่พักของเด็กเพิ่มขึ้น 2 หลัง เรือนโรงงานสำหรับฝึกงานหัตถกรรม 1 หลัง

จากภาพถ่ายเก่าที่เหลืออยู่ รูปแบบสถาปัตยกรรม “สายสวลีสัณฐาคาร” มีความพิเศษและน่าสนใจเพราะเป็นอาคารที่เกิดขึ้นจากการซ่อมแปลงอาคารเรือนบังกะโลเดิม 2 หลัง โดยสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนขึ้นตรงกลางด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก เป็นเสมือนโถงทางเข้าหลักของตัวอาคาร

โดยอาคารทั้งหมดเมื่อสร้างเสร็จได้ถูกนำมาใช้เป็นอาคารในงานพระศพของเจ้านายทั้งสองพระองค์ พอเสร็จงานพระศพก็เปลี่ยนมาใช้งานเป็นอาคารเรียนของโรงเลี้ยงเด็กต่อไป

ต่อมาในปี พ.ศ.2438 มีการจัดงานพระเมรุอีกครั้งให้แก่ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนสีพี รัชกาลที่ 5 ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งพระศพที่ในโรงเลี้ยงเด็กเช่นกัน พร้อมทั้งสร้างเรือนเพิ่ม 1 เรือน พร้อมกับเรือนพยาบาล โรงครัว และโรงเลี้ยงอาหารอีก 1 หมู่

ด้วยความใหญ่โตของพื้นที่ ตลอดจนตัวอาคารที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สายสวลีสัณฐาคาร” ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ได้ทำให้ชาวเดนมาร์กที่อาศัยอยู่ในสยามถึงกับเคยขอมาจัดงานราตรีสโมสรขึ้นในโรงเลี้ยงเด็กเพื่อต้อนรับเจ้าชายวัลเดแห่งเดนมาร์ก ในปี พ.ศ.2442

นับตั้งแต่นั้นมา โรงเลี้ยงเด็กก็จะเริ่มถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้งานรูปแบบอื่น และเมื่อพระอัครชายาเธอฯ เสียชีวิตลงไม่นาน โรงเลี้ยงเด็กก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด

ภาพเด็กชายในโรงเลี้ยงเด็ก มองเห็นเรือนไม้แบบบังกะโล ที่ใช้เป็นสถานที่เรียนของโรงเลี้ยงเด็ก
ที่มาภาพ : หนังสือ “ตำนานโรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอฯ”