เทศมองไทย : ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ ของอาเซียน

พอล ดิบบ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านยุทธศาสตร์ศึกษา ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ไม่ได้เป็นเพียงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในกิจการของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เท่านั้น

หากยังเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2006 จนถึงบัดนี้ ในฐานะผู้แทนของออสเตรเลีย ในที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ (อีอีพี) ของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งคุ้นเคยกันมากกว่าในชื่อของการประชุมเออาร์เอฟ

ศาสตราจารย์ผู้นี้จึงอยู่ในฐานะที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงทัศนะต่อเวทีการประชุมระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนและเออาร์เอฟได้เต็มที่

ข้อเขียนล่าสุดของพอล ดิบบ์ ปรากฏใน อีสต์ เอเชีย ฟอรัม เว็บไซต์ทางวิชาการว่าด้วยเศรษฐกิจ, การเมืองและนโยบายสาธารณะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อปลายเดือนที่แล้ว แสดงความกังวลอย่างตรงไปตรงมาว่า หลังจากที่อาเซียนเคยประสบความสำเร็จในการรังสรรค์ “อัตลักษณ์” ให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนขึ้นมาได้

ทั้งยังช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถหลีกเลี่ยงสงคราม “ระหว่างรัฐ” ซึ่งกันและกันได้สำเร็จก่อนหน้านี้

ยามนี้ อาเซียนกำลังตกอยู่ในสภาพมีปัญหาใหญ่หลวงไม่น้อย

เป็นสภาพที่พอล ดิบบ์ อุปมาเอาไว้ว่าเหมือนองค์กรหรือสถาบันที่ “กำลังหมดอายุการใช้งาน”

แถมยังบอกด้วยว่า ปัญหาของอาเซียน ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ที่หลายๆ คนเคยค่อนขอดเอาไว้ตลอดมาว่า ถนัดแต่ในเรื่องของการ “กวาดขยะซุกไว้ใต้พรม” พรมที่ตั้งชื่อไว้สวยหรูว่า “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” เท่านั้น

หากแต่ยังเป็นเพราะอาเซียนยังไม่สามารถทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้กับสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ที่ครอบงำภูมิภาคอยู่ในเวลานี้อีกด้วย

 

ตัวอย่างที่เขาหยิบยกมาแสดงไว้ก็คือ ถ้าไม่นับการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ (อีอีพี) ครั้งล่าสุดที่กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย (ซึ่งดิบบ์ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม) ที่มีการบรรลุความตกลงในหลักการว่าด้วยการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุทางเรือแล้ว ในการประชุมก่อนหน้านี้ 10 ครั้ง ไม่เคยมีการบรรลุถึงข้อตกลงสำคัญๆ ว่าด้วยยุทธศาสตร์การทูตเชิงป้องปราม (พรีเวนทีฟ ดิโพลเมซี) แม้แต่ครั้งเดียว

ครั้งหนึ่ง เออาร์เอฟเคยเป็นเวทีหารือด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่ถูกจับตามองมากที่สุดเวทีหนึ่ง และมีนัยสำคัญในเชิงท่าทีด้านความมั่นคงของอาเซียน ในระดับเดียวกับที่การประชุมอาเซียนมีต่อภูมิภาคในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

ความจริงที่พอล ดิบบ์ ระบุเอาไว้ก็คือ โฟกัสดังกล่าวไม่ได้อยู่กับเออาร์เอฟอีกต่อไป กลับกลายไปอยู่ที่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีสต์ เอเชีย ซัมมิต) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปคไปแล้ว

ปัญหายิ่งหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อการขาดการตัดสินใจ ทั้งในกรอบอาเซียนและในกรอบเออาร์เอฟ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงของภูมิภาคกำลังร้อนฉ่าใกล้ถึงระดับเดือดพล่านขึ้นมาทุกที โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

 

อุทาหรณ์อย่างกรณีจีนกำลังดำเนินการก่อสร้างที่มั่นทางทหารในพื้นที่ทะเลจีนใต้ โดยไม่ไยดีใดๆ กับการอ้างสิทธิของบรรดาชาติสมาชิกอาเซี่ยนทั้งหลาย ในขณะที่อาเซียนดำเนินความพยายามเพื่อให้ “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” กลายเป็นความตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายมาเนิ่นนานกว่า 15 ปี กลับมีความคืบหน้าเพียงน้อยนิด

อุทาหรณ์อย่างกรณีการพยายามอย่างยิ่งยวดของเกาหลีเหนือที่จะกลายเป็นชาติผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งไม่เพียงเป็นผลคุกคามโดยตรงต่อภูมิภาค หากแต่ยังข่มขู่จะใช้อาวุธดังกล่าวกับสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในขณะที่อาเซียนและเออาร์เอฟก็ยังวนเวียนอยู่กับการคาดหวังอยู่กับการรื้อฟื้นการเจรจา 6 ฝ่าย ที่ไม่เคยได้ผลลัพธ์ใดๆ ในทางบวกเลยในการเจรจาทุกครั้งที่ผ่านมา

ทำให้คำถามที่ว่า อาเซียนจะทำอย่างไรหากจีนเลือกใช้ปฏิบัติการทางทหารในทะเลจีนใต้? หรือหากเกาหลีเหนือตัดสินใจทำตามคำข่มขู่ของตนเอง?

ทั้งอาเซียนและเออาร์เอฟ ล้วนไม่มีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ ทั้งยังไม่มีส่วนร่วม “อย่างมีนัยสำคัญ” ใดๆ ในพัฒนาการของเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ ขณะที่ตัวอาเซียนเองถูกจีนแผ่อิทธิพลเข้ามาจนมองเห็นรอยปริแยกในกลุ่มสมาชิกด้วยกันอย่างชัดเจน

ดังนั้น ในทัศนะของพอล ดิบบ์ อาเซียนและเออาร์เอฟ ไม่เพียงมีปัญหาอย่างยิ่งในยามนี้ ยังเสี่ยงต่อการถูกกวาดทิ้งไปกองอยู่ด้านข้างเหมือนไร้ความสำคัญและไร้ความหมายได้อีกด้วย