สยามสแควร์หลังโควิด

ปริญญา ตรีน้อยใส

ช่วงเวลาการแพร่ระบาดไวรัสมงกุฎ หรือโควิด-19 นั้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและผู้คนอย่างมาก ซึ่งรวมทั้งสยามสแควร์ ที่จะพาไปมองคราวนี้

เคยพาไปมอง สยามสแควร์ มาแล้วหลายครั้งหลายหน มองความเป็นมาของศูนย์การค้า ที่อยู่ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองรูปแบบศูนย์การค้าที่เป็นห้องแถวแบบเก่า มองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตอนโอเปคขึ้นราคาน้ำมัน และตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง รวมทั้งตอนอาจารย์จุฬาฯ ร่วมเล่นกีฬาสีเหลืองแดง

สยามสแควร์เริ่มต้น พร้อมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย จึงอาศัยชื่อ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ที่ปัจจุบันรื้อทิ้งเป็น ศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นศูนย์การค้ารูปแบบใหม่ ที่เข้ามาแทนที่ กิจการค้าและบริการเดิม ที่อยู่ในตึกแถวริมถนน และมีปัญหาห้ามจอดรถริมถนน กลายเป็นกลุ่มตึกแถวที่มีถนนกว้าง พร้อมที่จอดรถหน้าร้านค้า

นอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวในเวลานั้น ยังไม่มากพอ รวมกับรูปแบบใหม่ ทำให้สยามสแควร์ในยุคแรกเงียบเหงา เลยกลายเป็นเอาต์เลตของอาจารย์จากคณะวิชาต่างๆ เปิดคลินิกแพทย์ ทันตแพทย์ และร้านยา เปิดสำนักงานทนายความ สถาปนิก และวิศวกร รวมทั้งเปิดโรงเรียนศิลปะ ดนตรี และสอนหนังสือระดับอุดมศึกษา แล้วค่อยลดลงเป็นมัธยมศึกษาและประถมศึกษา

จนกลายเป็นศูนย์กวดวิชาในปัจจุบัน

 

ด้วยรูปแบบของตึกแถว เอื้อต่อการปรับเปลี่ยน ดัดแปลง ทำให้สยามสแควร์ประกอบด้วยร้านอาหารหลายระดับ หลายรส สำหรับนิสิต นักเรียน และผู้ปกครอง ร้านเสื้อผ้า เสริมสวย เมื่อรวมกับเจ้าของกิจการ และลูกค้า ที่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงกลายเป็นสถานบ่มเพาะธุรกิจ และสถานทดสอบสินค้าหรือบริการใหม่ๆ โดยเฉพาะอาหารจานด่วนนำเข้า

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยังทำให้สยามสแควร์ เสมือนเป็นกระจกเงา สะท้อนสภาพเศรษฐกิจสังคมของบ้านเมือง ในขณะที่กิจการร้านค้าจะเปลี่ยนแปลง หายไป เกิดใหม่ตามวาระ

ตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง จากตึกแถวกลายเป็น เซ็นเตอร์พอยท์ ที่มีแค่ลานกิจกรรมเปิดโล่ง และซุ้มร้านค้าครีออส พอเศรษฐกิจฟื้น ก็กลายเป็น สยามเกตเวย์ สแควร์วัน สยามกิตติ์ และล่าสุดคือสยามสเคป ที่จอดรถข้างถนน ก็กลายเป็นอาคารจอดรถ ยังมีการแก้ปัญหาจราจร โดยการเลิกจอดรถหน้าร้าน ลดขนาดถนน เพิ่มทางเท้า จนกลายเป็นลานและถนนคนเดิน ในเวลาต่อมา

ช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ทำให้กิจการค้าและบริการรุ่นอะนาล็อก ล้มหายไปหมด กิจการรุ่นดิจิทัลรองรับเจนใหม่มาแทนที่ มีการเปลี่ยนโฉมหน้าตาและพื้นที่ภายในของตึกแถวเดิม ให้แวววาว สว่างไสว พร้อมสีสัน ที่ตรงจริตคนรุ่นใหม่ อีกทั้งการปิดถนนให้เป็นพื้นที่แสดงออกทางดนตรี ทางเพศ ทางความรัก ที่หลากหลายเสมอภาค และเสนอหน้า

การแปรเปลี่ยนทั้งหมด ทำให้สยามสแควร์กลายเป็นศูนย์การค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ ด้วยรูปแบบที่ต่างไปจากศูนย์การค้าอื่น ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ กิจกรรมต่างๆ ล้วนอยู่ในอาคาร

 

อยากให้ แฟนานุแฟนมติชน โดยเฉพาะบรรดา สว. ที่ยังติดกับดักแห่งอดีต กลับไปมองสยามสแควร์สักครั้ง เพื่อจะได้รู้ว่า บ้านเมืองไทยนั้นเปลี่ยนไป กลายเป็นศูนย์รวมคนเจนใหม่ ไม่เฉพาะคนไทย หากรวมถึงอาเซียน และอื่นๆ

แม้แต่พรรคการเมืองที่ตกกระแสในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แนะนำให้ไปดูว่า ภายใต้โครงสร้างอาคารและถนนเดิม สถาปนิกสามารถแปลงโฉมให้ต่างไปจากเดิมได้

ที่สำคัญ โดนใจเจนปัจจุบันได้มากกว่าศูนย์การค้าอื่น •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส