คณะราษฎรพลิกบทบาทกองโฆษณาการ : จากต่อต้านสู่เผยแพร่ประชาธิปไตย (2)

บทบาทกองโฆษณาการครั้งรัฐบาลพระยามโนฯ

ด้วยชนชั้นนำเคยปรารถนากล่อมเกลาราษฎรให้ศรัทธาระบอบเก่าผ่านการศึกษา แต่การดำเนินการยังมิได้ถูกตัดสินใจใดๆ จวบจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ 2475 อันทำให้ระบอบเก่าสิ้นสุดลงเสียก่อน

ส่งผลให้ชนชั้นนำสูญเสียอำนาจทางการเมืองไป แต่ด้วยประสบการณ์และความสันทัดในเกมแห่งอำนาจมากกว่าทำให้พวกเขาสามารถพลิกความเสียเปรียบสู่ความได้เปรียบมากยิ่งขึ้น นับแต่การปิดสภา งดใช้รัฐธรรนูญ ให้รัฐบาลใช้อำนาจแทนสภาในการตรากฎหมาย

การโยกย้ายคณะราษฎรออกไปจากการคุมกำลังทหาร จนกระทั่งการก่อตั้งหน่วยงานควบคุมข่าวสารขึ้น ชื่อ “กองโฆษณาการ”

แม้นคณะราษฎรตอบโต้กลับด้วยการรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนฯ ลง (20 มิถุนายน 2476) ได้ก็ตาม แต่กลุ่มอนุรักษนิยมไม่ยอมหยุดยั้งการต่อต้าน พวกเขาก่อกบฏบวรเดชขึ้น (ตุลาคม 2476) แต่รัฐบาลพระยาพหลฯ และประชาชนร่วมกันปราบปรามกบฏครั้งนี้ลงได้อีก

อันทำให้รัฐบาลตระหนักดีว่า การเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนในชนบทมีความรู้เกี่ยวกับการปกครอง ตระหนักในสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นสิ่งจำเป็นต่อระบอบประชาธิปไตย

สำนักงานโฆษณาการสมัยคณะราษฎรตั้งที่อาคารแบดแมน

บทบาทสำนักงานโฆษณาการครั้งรัฐบาลคณะราษฎร

ด้วยรัฐบาลคณะราษฎรให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการเผยแพร่คุณค่าของระบอบประชาธิปไตยแก่พลเมืองผ่านสำนักงานโฆษณาการว่า

“การปกครองตามลัทธิประชาธิปไตยนั้น ย่อมกำหนดให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิดหรือถูกของปวงชนย่อมเป็นผลโดยตรงแก่นโยบายของรัฐบาล… ดังนั้น หัวใจของการโฆษณาจึ่งมีว่า เมื่อใดโฆษณาของรัฐบาลปราศจากความสำเร็จ เมื่อนั้นรัฐบาลย่อมตกอยู่ในความลำบาก เพราะเหตุว่า การใช้อำนาจบังคับใจคนนั้น ย่อมไม่ดีเท่าวิธีให้ความรู้และเหตุผลแก่ประชาชน” (หลวงรณสิทธิพิชัย, 2476, 12)

ภายหลังที่รัฐบาลพระยามโนฯ ปิดสภาผู้แทนฯ ลงแล้ว ได้โอนข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ที่ถูกปิดไปแล้ว จำนวน 7 คน คือ ทวี ตะเวทิกุล สมประสงค์ หงสนันทน์ ปราโมทย์ พึ่งสุนทร บุญช่วย ศรีชุ่มสิน ตุ๊ แหลมหลวง เปรื่อง ศิริภัทร และไพโรจน์ ชัยนาม ไปยังกองโฆษณาการที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่

แม้นกองโฆษณาการถูกตั้งขึ้น (3 พฤษภาคม 2476) ในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ แต่ยังค้นไม่พบผลงานสิ่งพิมพ์ใด ตราบกระทั่งรัฐบาลพระยาพหลฯ ยกฐานะกองให้เป็นสำนักงาน มีฐานะเทียบเท่าอธิบดี (9 ธันวาคม 2476)

เจ้าหน้าที่กองการโฆษณารุ่นแรกมี 7 คน

เผยแพร่ความรู้และสัญลักษณ์การเมืองใหม่

ภายใต้รัฐบาลคณะราษฎร สำนักงานโฆษณาการกระตือรือร้นอย่างมาก ผลิตสิ่งพิมพ์พรั่งพรูออกมามุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ กฎหมายใหม่ๆ และสร้างความเป็นชาติ เช่น กิจการของสำนักงานโฆษณาการ (2477) กระทู้ถามของผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐบาลตอบโดยทางสำนักงานโฆษณาการ 2476-2477 (2477) คู่มือพลเมือง (2479) บัญชีรายนามกฎหมายและพระราชบัญญัติซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้บัญญัติขึ้นและแก้ไขเดิม ปี 2475-2476 (2479) บัญชีรายนามกฎหมายและพระราชบัญญัติซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้บัญญัติขึ้นและแก้ไขเดิม ปี 2477 (2479) เป็นต้น

เมื่อระบอบประชาธิปไตยยึดถือประชาชนหรือชาติสำคัญสูงสุด รัฐบาลจึงสร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองขึ้นใหม่เพื่อให้สังคมไทยเกิดเอกภาพของความเป็นชาติ เช่น การยกธงไตรรงค์ขึ้นเป็นธงชาติ มีการส่งเสริมให้สังคมรับรู้ถึงธงชาติ แต่ขณะนั้นยังไม่มีเพลงชาติ

ต่อมา รัฐบาลจึงจัดประกวดการแต่งเพลงชาติขึ้นครั้งแรก (2477) เพลงชาติที่ชนะประกวดนำเนื้อร้องของผู้ชนะการประกวด 2 ท่านมารวมกัน คือเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตรา และเนื้อร้องของนายฉันท์ ขำวิไล โดยพระเจนดุริยางค์แต่งทำนองเพลง

สมุดโน้ตเพลงชาติ (2477) ของศรีกรุง และธงชาติสยาม (2480) สำนักงานโฆษณาการ

ชุดหนังสือเผยแพร่ของสำนักงานโฆษณาการที่ผลิตในช่วงนี้ เช่น ธงชาติสยาม (2480) กิจการและระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของสำนักงานโฆษณาการ (2480) บัญชีรายนามพระราชบัญญัติซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้บัญญัติขึ้นและแก้ไขเดิมปี 2479 (2480) บัญชีรายนามพระราชบัญญัติซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้บัญญัติขึ้นและแก้ไขเดิม ปี 2480 (2481) คำแนะนำในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (2481) เรียงความเนื่องในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2481 (2481) เป็นต้น

ในยุคแรก สำนักงานเผยแพร่ความรู้ทั้งด้านต่างๆ ทั้งนำภาพยนตร์การเลือกตั้งของกระทรวงมหาดไทยไปฉายตามที่ต่างๆ จัดพิมพ์และแจกจ่ายหนังสือ เช่น คู่มือพลเมืองที่สอนสิทธิและหน้าที่พลเมืองตามแบบฝรั่งเศสหลายแสนเล่ม ประกวดเรียงความส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในวาระงานวันชาติ และงานรัฐธรรมนูญ (ไพโรจน์, 27)

คู่มือพลเมือง (2479) เรียกร้องให้พลเมืองร่วมกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยจากการคุกคามของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงว่า

“การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นการปกครองของใหม่ ยังมีผู้ไม่นิยมทำการขัดขวางมิให้ดำเนินไปโดยสะดวกอยู่เสมอ ต่อเมื่อใดพลเมืองได้รับการอบรมจนเคยชินกับรูปการปกครองแล้ว เมื่อนั้น ศัตรูของรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถขัดขวางได้…ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือ ร่วมใจกันสนับสนุน ประคับประคองการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิและยกฐานะของพวกเราให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนให้มั่นคงถาวรตลอดไป” (สำนักงานโฆษณาการ, 2479, 37-38)

หนังสือของสำนักงานโฆษณาการเมื่อ 2481

ข้าราชการกองโฆษณาการชุดแรก

สําหรับข้าราชการชุดแรกของกองโฆษณการที่ถูกพระยามโนฯ โอนมาสังกัดหน่วยงานใหม่ภายหลังปิดสภาแล้ว คือ ทวี ตะเวทิกุล ไพโรจน์ ชัยนาม บุญล้อม (ปราโมทย์) พึ่งสุนทร สมประสงค์ (ประสงค์) หงสนันทน์ บุญช่วย (ศุภชัย) ศรีชุมสิน ตุ๊ แหลมทอง และเชื่อม ศิริภัทร์ ดังนี้

ทวี ตะเวทิกุล (2451-2492) เป็นสมาชิกคณะราษฎร เข้าร่วมปฏิวัติ 2475 รับราชการการเลขาธิการสภา ต่อมาถูกโอนมายังกองโฆษณาการ (2476 สอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศได้) เมื่อมีการตั้ง มธก. (2477) เขาสอบเป็นผู้ช่วยผู้จัดทำตำราได้ ต่อมา ได้ทุนไปเรียนที่ฝรั่งเศส จบปริญญาเอกกลับไทย (2482) เข้ารับราชการที่กระทรวงเดิม และยังเป็นผู้ช่วยกรรมการร่างกฎหมายในคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

เมื่อสงครามโลกจบลง เขาลาออกเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายกฯ ทวี บุณยเกตุ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เขาเคยเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลัง เขาอยู่ในกลุ่มนายปรีดี ภายหลังการรัฐประหาร 2490 เขาเสียชีวิตจากถูกจับกุมภายหลังกบฏวังหลวง (2492)

ไพโรจน์ ชัยนาม (2454-2537) ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เข้าทำงานกับกรมเลขาธิการคณะกรรมการคณะราษฎร เลขาธิการสภา ต่อมาถูกโอนไปสังกัดกองโฆษณาการ รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกปาฐกถายุคสำนักงานโฆษณาการ อธิบดีกรมโฆษณาการ (2484) เลขาธิการพฤติสภา (2489) อธิบดีกรมพิธีการทูต (2491) เอกอัครราชทูตหลายประเทศ ผู้บรรยายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2478-2521)

ปราโมทย์ พึ่งสุนทร (2448-2524) เป็นชาวสมุทรสาคร เรียนจบโรงเรียนกฎหมาย เป็นสมาชิกคณะราษฎร สายพลเรือนของสงวน ตุลารักษ์ และซิม วีระไวทยะ เข้าร่วมการปฏิวัติ 2475 เลขานุการส่วนตัวนายปรีดี พนมยงค์ (2477-2481) สมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภท 2 (2480) สมาชิกพฤฒิสภา (2489) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (2487) และเสรีไทย

ประสงค์ หงสนันทน์ (2453-2554) ถูกโอนจากเลขาธิการสภา มาสังกัดกองโฆษณาการในชุดแรก เขารับราชการอย่างต่อเนื่องในหน่วยงานดังกล่าวจนเป็นรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ร่วมบุกเบิกวงการโทรทัศน์ไทย

ผลงานโดดเด่นคือ การร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของไทยคือ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (2498) ตามนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. ต่อมา เขาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด

เปรื่อง ศิริภัทร (2444-2520) เป็นชาวสระบุรี หรือมหาเปรื่อง อดีตภิกษุเปรียญ 6 ประโยค จากสำนักวัดอนงคาราม และลาสิกขาเมื่อ พ.ศ.2471 ขณะอายุได้ 27 ปี ได้เข้าศึกษา ณ โรงเรียนกฎหมาย สอบไล่ได้ภาค 1 และเข้าศึกษาต่อใน มธก. จนได้รับอนุปริญญา

ในระหว่างศึกษาอยู่โรงเรียนกฎหมายได้เข้ารับราชการในกรมร่างกฎหมายและถูกโอนจากเลขาธิการสภา มายังสำนักโฆษณาการ ต่อมา รัฐบาลจอมพล ป. โอนเขาไปรับราชการในพระราชสำนัก ในฐานะผู้ถวายอักษรภาษาไทยที่โลซานน์ (2481-2490) ต่อมากลับไทยโอนมาอยู่ในกรมโฆษณาการเช่นเดิมจนเกษียณ (นายเปรื่อง ศิริภัทร, 2520)

แม้ว่าเป้าหมายของกองโฆษณาการเมื่อแรกจัดตั้งโดยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ จะมีเป้าหมายตามความต้องการของกลุ่มอนุรักษนิยมก็ตาม แต่พลันที่คณะราษฎรเข้าควบคุมสภาพการเมืองได้เข้าเปลี่ยนแปลงภารกิจหน่วยงานนี้ให้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแทน

คู่มือพลเมือง (2479, 2480)
ทวี ตะเวทิกุล และไพโรจน์ ชัยนาม
บุญล้อม (ปราโมทย์) พึ่งสุนทร และสมุดแบบฝึกหัดสมัยประชาธิปไตย
เปรื่อง ศิริภัทร และประสงค์ หงสนันทน์ เครดิตภาพ : สถาบันปรีดี