พิธาจบ-เศรษฐาแทน | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

วันประชุมโหวตนายกรัฐมนตรีหนที่ 2 เมื่อ 19 กรกฎาคม เป็นวันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญประชุมคดีการถือหุ้นสื่อ ลงเอยกลายเป็นวันปิดฉากเส้นทางสู่นายกฯ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อย่างสิ้นเชิง และเป็นวันที่ต้องเดินออกจากสภา ต้องหยุดหน้าที่ ส.ส.ด้วย

โดยการประชุมร่วม 2 สภา เพื่อโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการเสนอชื่อนายพิธา ขึ้นเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกวันที่ 13 กรกฎาคม เสียงเห็นชอบนายพิธาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เพราะฝ่าย ส.ว.และ ส.ส.พรรคขั้วรัฐบาลเดิม ร่วมต้านนายพิธาอย่างแข็งขัน

ในการเสนอชื่อหน 2 โดน ส.ว.และพรรคขั้วเดิมยกข้ออ้างว่า เป็นการเสนอญัตติที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถนำเสนอได้ใหม่ในสมัยประชุมนี้ ก่อนจะมีการลงมติ ผลก็คือ ฝ่าย ส.ว.และพรรครัฐบาลเก่าก็เอาชนะได้อีก เท่ากับปิดประตูตายนายพิธา หมดสิทธิ์เสนอชื่อชิงนายกฯ ได้อีก

พร้อมๆ กัน ข่าวเศร้าของนายพิธาอีกข่าวในวันเดียวกันคือ มติของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัย กรณี กกต.ยื่นคำร้องให้พิจารณาสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา จากการถือครองหุ้นสื่อ พร้อมกับมีมติให้ออกคำสั่งตามคำร้องของ กกต. ที่ให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เอาไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีถือครองหุ้นสื่อ

แม้ว่าจะเป็นคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ยังไม่กระทบถึงการเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่เพราะมติของรัฐสภา ที่สรุปว่าเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ อีกไม่ได้

เป็นอันปิดฉากเส้นทางสู่ผู้นำรัฐบาลไปในทันที แถมยังไม่สามารถเข้าไปทำงานในสภาได้อีกด้วย!

แล้วสุดท้ายเมื่อคำวินิจฉัยในคดีถือหุ้นสื่อปรากฏออกมา ก็ยังไม่รู้ว่าจะน่าระทึกอีกขนาดไหน เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีอีกคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาคือ ข้อร้องเรียนเรื่องนโยบายหาเสียงแก้ไข ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ คดีนี้ก็ชวนให้ระทึกขวัญเช่นกัน เพราะการแก้ไข ม.112 ของก้าวไกล เป็นจุดสำคัญที่ ส.ว.และพรรคขั้วเดิมใช้เป็นข้ออ้างในการสกัดกั้นมาตลอด

มองในแง่เครือข่ายฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการแก้ไข ม.112 เป็นความผิด เท่ากับเป็นบรรทัดฐานสำคัญ ต่อไปนี้การแก้ ม.112 ไม่สามารถทำได้อีกแน่นอน!

อีกทั้งคดีนี้ เป้าหมายการร้องคือ ทั้งนายพิธาและพรรคก้าวไกลอีกด้วย จึงเป็นอีกคดีที่ต้องจับตาอย่างมาก

มีการเปรียบเทียบชะตากรรมของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเคยถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เช่นเดียวกัน และต่อมาก็ถูกตัดสินตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี พร้อมกับพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบด้วย

จึงเกิดเป็นพรรคก้าวไกล และนายพิธา เป็นหัวหน้าพรรค

ภาพเดิมๆ นั้นกำลังจะย้อนกลับมาอีกหรือไม่!?!

 

จากเหตุการณ์วันที่ 19 กรกฎาคม ไม่เพียงปิดฉากเส้นทางสู่นายกฯ ของพิธาเท่านั้น แต่ทำให้เห็นภาพการเมืองไทยต่อจากนี้ได้โดยทันที เห็นได้อย่างชัดเจนว่าโฉมหน้านายกฯ คนที่ 30 เป็นใคร และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จะมีพรรคไหนบ้าง

รวมทั้งเห็นด้วยว่า พรรคฝ่ายค้านจะประกอบด้วยพรรคไหน

ที่เห็นได้ทันทีคือ โอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรีมาตกที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 2 และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ประกาศล่วงหน้าว่า ถ้าหากนายพิธาเป็นนายกฯ ไม่ได้ คนที่อุ๊งอิ๊งสนับสนุนให้เป็นนายกฯ คือ นายเศรษฐา ทวีสิน

ในการประชุมรัฐสภาหนต่อไป ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายเศรษฐาเป็นนายกฯ และน่าจะผ่านได้ไม่ยากเย็น เนื่องจากเพื่อไทยคงจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่แบบสลายขั้ว ต้องปล่อยมือกับก้าวไกลอย่างแน่นอน เพราะปัญหา 112 ทำให้ ส.ว.จะไม่ยอมโหวตให้

เพื่อไทย คงไม่มีทางอื่น ต้องสลัดทิ้งก้าวไกล แล้วจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่ ดึงพรรคอื่นมาทดแทนเสียงของก้าวไกลที่จะหายไป 151 เสียง

ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง และอาจจะมีพลังประชารัฐ 40 เสียง ถ้าหากสลัดภาพลุงออกไปได้

ส่วนในขั้ว 8 พรรค ที่จะต้องสลายขั้ว คงมีพรรคประชาชาติ 9 เสียง และเสรีรวมไทย 1 เสียงร่วมอยู่กับเพื่อไทยต่อไป

ส่วนพรรคก้าวไกล จะกลายไปเป็นผู้นำฝ่ายค้าน โดยมีพรรคไทยสร้างไทยตามไปด้วย

ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เคยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดต ยังไม่อยู่ในการทาบทามของเพื่อไทย เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์ ที่ยังสับสนเลือกหัวหน้าพรรคยุ่งยากมาก

นี่คือภาพรวมของรัฐบาลใหม่ ที่เพื่อไทยกลายเป็นแกนนำ และเป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าคงต้องแยกทางเดินกับก้าวไกล อันเป็นหนทางไปสู่ทำเนียบรัฐบาลที่ราบรื่นสุดของเพื่อไทย และน่าจะเป็นการตอบสนองเงื่อนไขของเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมืองได้ดีที่สุด

แต่ผลการปล่อยมือกับก้าวไกล และการตั้งรัฐบาลโดยต้องเอากลุ่มรัฐบาลเก่าเข้ามาเสริมแทน ย่อมหลีกหนีไม่พ้นกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อันอื้ออึงจากประชาชน ที่เคยยึดหลักพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

คงจะต้องเร่งโชว์ฝีมือแก้ไขเศรษฐกิจ อันเป็นงานถนัดของนายเศรษฐา นักบริหารธุรกิจ รวมทั้งนโยบายแก้ไขเศรษฐกิจ ที่ทีมงานมันสมองของเพื่อไทยมีความแหลมคมอย่างยิ่ง

ต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องประชาชนให้ได้โดยเร็ว เป็นหนทางอุดจุดโหว่จากเสียงวิจารณ์อย่างร้อนแรงของเหล่าด้อมส้มได้ดีที่สุด

ก็ไม่แน่ว่า ความเป็นพรรคการเมืองประชาธิปไตยประนีประนอม เก่งในด้านเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน จะสามารถนำจุดเด่นนี้มาฟื้นคะแนนนิยมให้กลับมาก็เป็นได้

 

ผลอีกด้านจากการที่นายพิธาต้องหยุดเส้นทางเป็นนายกฯ และต้องพักหน้าที่ ส.ส. กระทั่งเชื่อว่าพรรคก้าวไกลยังต้องหลุดวงจรไปเป็นฝ่ายค้าน รวมทั้งยังมีคดีที่จ่อพรรคก้าวไกลอยู่อีก แถมยังเน้นย้ำถึงภาพเดิมๆ ที่นายธนาธรกับพรรคอนาคตใหม่เคยโดนมาแล้ว

น่าเชื่อว่าปฏิกิริยาจากประชาชนผู้ไปเลือกตั้งจะต้องร้อนแรงเป็นอย่างมาก จนน่าเป็นห่วงสถานการณ์การลงสู่ถนน ไปจนถึงการเคลื่อนไหวอย่างระอุเดือดในโลกโซเชียล

เพราะเท่ากับเสียงของประชาชนที่ไปเลือกตั้ง ไม่ได้รับการเคารพจาก ส.ว.และเครือข่ายอำนาจเก่า โดยพรรคที่คนเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1 ไม่ได้เป็นนายกฯ และไม่ได้เป็นรัฐบาล

กระแสความไม่พอใจจากประชาชน จากบรรดาคนรุ่นใหม่ จะต้องเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

อีกทั้งเหตุการณ์การเมืองครั้งนี้ นับเป็นกรณีที่พลังคนรุ่นใหม่ ปะทะกับฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองอย่างรุนแรง อาจจะยิ่งแตกร้าว ยิ่งบานปลาย

ขณะเดียวกัน ในทางการเมือง เมื่อพรรคก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้าน กลับกลายเป็นบทบาทที่ถนัดถนี่ของพรรคนี้อย่างยิ่ง งานฝ่ายค้านนี่แหละจะยิ่งทำให้พรรคก้าวไกล โดดเด่นในสายตาประชาชน ในความเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ กล้าชน กล้าตรวจสอบ ตรงไปตรงมา

นี่จะยิ่งทำให้กระแสความนิยมพรรคก้าวไกล พุ่งสูงขึ้นไปอีก และอาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า จะยิ่งเข้าสภาอย่างถล่มทลาย จนไม่สามารถใช้กลไกอะไรมาหยุดยั้งเส้นทางการเข้าเป็นรัฐบาลได้อีกก็เป็นได้

กล่าวกันว่า ฝ่ายอำนาจเก่า ไม่เรียนรู้บทเรียนใดๆ เลย นับจากการจัดการกับนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ จากนั้นเกิดพรรคก้าวไกลมาแทน ก็ยังจัดการด้วยปฏิบัติการแบบเดิมๆ

โดยไม่ศึกษาว่า เมื่อจัดการกับธนาธรและอนาคตใหม่ ทำให้พรรคก้าวไกลยิ่งเติบโตกว่าเดิมเสียอีก

ดังนั้น เมื่อมาจัดการเด็ดปีกนายพิธาและเขี่ยก้าวไกลพ้นจากการเป็นรัฐบาล อาจจะยิ่งส่งผลในทางกลับกันหนักหนาสาหัสกว่าเดิม!