นับหนึ่งปล้นอำนาจประชาชน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็สั่ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยอ้างว่าคำร้อง กกต.เรื่องหุ้นไอทีวีมีมูล ผลก็คือหัวหน้าพรรคที่ชนะอันดับ 1 ต้องออกจากสภาไม่กี่ชั่วโมงก่อนโหวตเลือกนายกฯ จากนั้นพรรคกลุ่มแพ้เลือกตั้งและ ส.ว.ก็ฉวยโอกาสใช้เรื่องนี้เพื่อไม่เลือกพรรคอันดับ 1 เป็นนายกฯ ทันที

ไม่ต้องวงในก็เดาออกว่า “พิธา” ถูกบีบให้เดินสู่เส้นทางเดียวกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” นั่นคือไม่ได้เป็นนายกฯ และเสี่ยงไม่ได้เป็น ส.ส. ทั้งที่ชนะเลือกตั้งอย่างใสสะอาดจนคนทั้งประเทศเลือกพรรคก้าวไกลถล่มทลาย แต่กลับได้แค่โอกาสชิงนายกฯ ตามที่ประชาชนเลือก ทว่า ไม่มีโอกาสเป็นนายกฯ คนที่ 30 จริงๆ

คู่ขนานกับการกำจัดพิธาด้วยวิธีเก่าๆ อย่างตุลาการภิวัฒน์, นักร้อง และ กกต. คือการใช้ ส.ว.และพรรคกลุ่มแพ้เลือกตั้งทำทุกทางไม่ให้พิธาถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ อีก ทั้งที่รัฐธรรมนูญแยกตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ จาก ส.ส. และคำสั่งหยุดทำหน้าที่ ส.ส.ไม่ทำให้ความเป็นแคนดิเดตนายกฯ เสียไป

เป็นอีกครั้งที่ประชาชนถูกปล้นอำนาจโดยการร่วมมือของฝ่ายที่แพ้เลือกตั้ง และฝ่ายที่ไม่มีใครเลือก

เทียบกับการปล้นชัยชนะพรรคพลังประชาชนปี 2551 จนเกิดรัฐบาลประชาธิปัตย์ปี 2552 และการปล้นชัยชนะเพื่อไทยโดยพลังประชารัฐปี 2562 การปล้นปี 2566 อุกอาจจนไม่มีครั้งไหนเทียบได้เลย

ขณะที่พรรคพลังประชาชนและเพื่อไทยถูกปล้นชัยชนะโดยคนซึ่งไม่ยึดโยงประชาชนอย่างตุลาการภิวัฒน์ และองค์กรอิสระ คนกลุ่มที่ร่วมปล้นชัยชนะของประชาชนในปี 2566 คือนักการเมืองจากหลายพรรคและหลายขั้ว พูดง่ายๆ ตัวแทนประชาชนปี 2566 มีส่วนร่วมปล้นอำนาจจากประชาชน

เมื่อเทียบกับคุณทักษิณ ชินวัตร, คุณสมัคร สุนทรเวช, คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกปล้นชัยชนะหลังจากเป็นรัฐบาล

การปล้นชัยชนะในปี 2566 ทำตั้งแต่การโหวตเลือกนายกฯ จนพรรคและแคนดิเดตที่ชนะอันดับ 1 อาจไม่ได้เป็นแม้ ส.ส. แบบเดียวกับที่เคยทำกับคุณธนาธรในปี 2562 ถึงแม้ก้าวไกลจะชนะถล่มทลาย

 

โดยปกติแล้วนายกฯ ของประเทศในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาต้องมาจากพรรคที่รวมเสียงข้างมากได้สูงสุด แต่บ่อยครั้งพรรคที่รวมเสียงข้างมากในไทยกลับไม่ใช่พรรคอันดับ 1 จนเกิดความวุ่นวาย หลักประชาธิปไตยแบบไทยจึงถือว่านายกฯ ต้องมาจากพรรคอันดับ 1 ในสภาผู้แทนราษฎร

จากประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้ของไทย รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาที่แข็งแกร่งมักได้แก่รัฐบาลจากพรรคอันดับ 1 ที่รวมเสียงข้างมากในสภาได้มากที่สุด ส่วนรัฐบาลที่อ่อนแอมักได้แก่รัฐบาลที่แกนนำไม่ใช่พรรคอันดับ 1 ในการเลือกตั้งอย่างประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งครั้งนี้ทำลายหลักการเรื่องนายกฯ ต้องมาจากพรรคอันดับ 1 ลงไปย่อยยับ และถ้าคำนึงว่าคนเสื้อแดงเริ่มต้นชุมนุมปี 2553 ด้วยหลักการว่ารัฐบาลต้องมาจากพรรคอันดับ 1 การสกัดไม่ให้ก้าวไกลตั้งรัฐบาลปีนี้ก็ทำลายหลักการที่คนเสื้อแดงตั้งต้นชุมนุมปี 2553 อย่างไม่มีชิ้นดี

 

นับแต่วันแรกที่ ส.ส. และ ส.ว.ประชุมโหวตนายกฯ รัฐสภากลายเป็นเวทีให้ ส.ว.และพรรคแพ้เลือกตั้งประกาศข้ออ้างต่างๆ เพื่อไม่เลือกพรรคอันดับ 1 จนมีแต่พรรคก้าวไกลปกป้องหลักการเรื่องพรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ขณะพรรคการเมืองอื่นหุบปากเงียบราวตายไปจากความเป็นคน

ฝ่ายแพ้เลือกตั้งและ ส.ว.ประกาศต่อต้านนายกฯ จากการเลือกตั้งด้วยเรื่องแก้ 112 และคำร้องไอทีวี แต่คนมีสติทุกคนรู้ว่าสองเรื่องเป็นแค่ข้ออ้างไม่ให้หัวหน้าพรรคอันดับ 1 เป็นนายกฯ ตามที่ประชาชนเลือก ยิ่งไปกว่านั้นคือ ส.ส. และ ส.ว.อภิปรายไม่ให้ต้านพิธาด้วยท่าทีโจมตีคนเลือกพิธาตลอดเวลา

ภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติเป็น 2 พรรคที่ประกาศไม่โหวตให้พิธาเพราะแนวคิดแก้ 112 ของก้าวไกล

แน่นอนว่าแต่ละพรรคมีเอกสิทธิ์แสดงจุดยืนจนจุดยืนแบบนี้ไม่ผิด แต่ล่าสุดทั้งสองพรรคและ ส.ว.บางคนประกาศว่าต่อให้พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ แค่มีก้าวไกลในรัฐบาลใหม่ก็จะไม่เลือกทันที

ในคำสัมภาษณ์ของคุณอนุทิน ชาญวีรกูล วันโหวตพิธาเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 คุณอนุทินระบุชัดเจนว่าต่อให้พิธาจะไม่ได้เป็นนายกฯ และก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยก็จะไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำด้วย ตราบใดที่ยังมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่คณะรัฐบาลกับเพื่อไทย

 

ตามแนวทางที่คุณอนุทินประกาศ หากเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาลโดยผลักดันคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ตามที่คุณแพทองธาร ชินวัตร ระบุก่อนพรรคมีมติ เพื่อไทยก็ต้องไปเจรจากับก้าวไกลให้ออกจาก 8 พรรคที่ได้เสียงข้างมากไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน และการเมืองหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ก็จะถึงจุดเปลี่ยนทันที

นอกจากคุณอนุทินที่เปิดทางให้เพื่อไทยไล่ก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติและชาติไทยพัฒนาก็พูดเรื่องไม่ร่วมรัฐบาลกับก้าวไกลคล้ายกับคุณอนุทินพูด เพียงแต่ทั้งสองพรรคยังไม่พูดชัดเหมือนคุณอนุทินซึ่งสื่อสารตรงๆ ถึงพรรคเพื่อไทยว่าได้เวลาต้องเอาก้าวไกลออกไปจากการจัดตั้งรัฐบาล

พูดตรงๆ แนวทางของพรรครัฐบาลเก่าในการกดดันให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านนั้นตรงกับ ส.ว.กลุ่มที่ไม่โหวตพิธาเป็นนายกฯ โดยอ้างเรื่อง 112 ด้วย

คนกลุ่มนี้ระบุว่ารัฐบาลไหนมีก้าวไกลก็จะไม่ได้เสียงโหวตจาก ส.ว. ซึ่งก็หมายถึงการกดดันให้เพื่อไทยไล่ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านแลกเสียงโหวตนั่นเอง

ด้วยจำนวน ส.ส.ของพรรคฝ่ายเสียงข้างมากที่มีอยู่ 312 คน หากเพื่อไทยผลักดันก้าวไกลซึ่งมี ส.ส. 151 คนไปเป็นฝ่ายค้านตามรัฐบาลเก่าต้องการ จำนวน ส.ส.ที่มีโอกาสโหวตเพื่อไทยและคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ก็จะลดจาก 312 เหลือแค่ 161 ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ ส.ส.ในสภาจนไม่มีทางตั้งรัฐบาลเลย

เพื่อไทยในสถานการณ์ใหม่ต้องการ ส.ส.อีกไม่ต่ำกว่า 100 เพื่อให้รัฐบาลเพื่อไทยมี ส.ส.รวม 261 เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

นั่นหมายความว่าเพื่อไทยต้องตั้งรัฐบาลข้ามขั้วโดยร่วมมือกับภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ ไม่ว่ารวมไทยสร้างชาติ หรือประชาธิปัตย์

 

สื่อหลายค่ายรายงานสูตรตั้งรัฐบาลที่ไร้ก้าวไกลว่าเป็นไปได้ทั้งสูตร 7 พรรคจับมือกับพลังประชารัฐและภูมิใจไทย หรือไม่ก็จับมือกับพลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์-พรรคเล็กอื่นๆ

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสูตรไหนก็ทำให้คำว่า “รัฐบาลขั้วประชาธิปไตย” หายไปทันที

ด้วยคำแถลงของ ส.ว., รวมไทยสร้างชาติและภูมิใจไทย เสียงโหวต 376 เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการแบล๊กเมล์พรรคเสียงข้างมากให้กำจัดพรรคก้าวไกลจากการร่วมรัฐบาล นั่นเท่ากับ 112 เป็นข้ออ้างไม่ให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างมากที่ประชาชนเลือก แต่เกิดรัฐบาลแบบที่ประชาชนไม่ต้องการ

น่าสังเกตว่า ส.ว.และพรรครัฐบาลเก่าโจมตีพิธาในสภาด้วยเรื่อง 112 โดยไม่มีเสียงค้านจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนพรรคก้าวไกลตอบโต้เรื่อง ส.ว.ไม่ควรมีสิทธิเลือกนายกฯ และการใช้ 112 เป็นข้ออ้างล้มการจัดตั้งรัฐบาลอย่างโดดเดี่ยวราวกับทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายประชาธิปไตย

ต้องระบุว่าพรรคการเมืองแทบทุกพรรคเคยพูดก่อนเลือกตั้งว่า ส.ว.ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกฯ แต่เมื่อ ส.ว.ใช้อำนาจเลือกนายกฯ แบบต่อต้านแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอันดับ 1 พรรคการเมืองกลับหุบปากเงียบทั้งหมดจนควรตั้งข้อสงสัยถึงการยืมปาก ส.ว.เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้ตั้งรัฐบาล

 

ถ้าก้าวไกลถูกไล่ไปเป็นฝ่ายค้านหลังพิธาไม่ได้เป็น ส.ส.และนายกฯ ก็เท่ากับประชาชนถูกปล้นอำนาจทันทีหลังเลือกตั้ง

กระบวนการนี้คือหลักฐานว่าระบอบเก่าต้านการเปลี่ยนแปลง ต่อให้พรรคก้าวไกลชนะถล่มทลาย และพรรคอื่นพร้อมเป็นพันธมิตรผู้มีอำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ภายใต้ความเคลื่อนไหวนี้ การลดอำนาจกองทัพและแก้ปัญหาทุนผูกขาดจะไม่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับการยกเลิกเกณฑ์ทหารตามกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้เสนอไปแล้ว

สภาพรัฐซ้อนรัฐที่อำนาจเก่าล้มผลเลือกตั้งจนเกิดรัฐบาลที่ประชาชนไม่ต้องการคือสัญลักษณ์ของการปล้นอำนาจประชาชน