ปัญหาเศรษฐกิจจีน ด่านทดสอบ ‘สี จิ้นผิง’

สําหรับนักเศรษฐศาสตร์หลายคนแล้ว ตัวเลขดัชนีชี้สภาพเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งทางการจีนเผยแพร่ออกมาเมื่อ 17 กรกฎาคม คือเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจีนมีปัญหา ชะลอช้ากว่าที่คาดการณ์กันไว้มาก

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนแถลงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่สอง อันเป็นตัวบ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ตัวเลขดังกล่าวดูน่าประทับใจ ถ้าไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่า ระดับของเศรษฐกิจที่ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบนั้น ไม่ใช่เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา อันเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนแทบจะนิ่งสนิทจากมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวด ก่อนที่ทางการจีนจะตัดสินใจยกเลิกไปในตอนปลายปี

ดังนั้น ตัวเลข 6.3 เปอร์เซ็นต์จึง “ต่ำกว่าที่คาดหมาย” กันโดยทั่วไปของนักเศรษฐศาสตร์โดยรวม

และหากนำอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่สอง ไปเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา ภาพก็จะเห็นชัดเจนขึ้นว่า เศรษฐกิจของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วง 3 เดือนแรกของปีเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งแปรเป็นการขยายตัวของจีดีพีตลอดปีได้เพียงแค่ 3.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

เหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีสารพัดอย่าง ตั้งแต่ปัจจัยภายนอกอย่างภาวะเงินเฟ้อและความคาดหมายที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะร่วงลงสู่ภาวะถดถอย ซึ่งปิดกั้นความต้องการสินค้าของทั่วโลก ไปจนถึงปัญหาในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่ลุกลามกลายเป็นปัญหาการค้าระหว่างสองชาติยักษ์ใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลที่เห็นได้ชัดเจนจากปัจจัยเหล่านั้นคือการส่งออกของจีนที่หดตัวลงอย่างรุนแรง มูลค่าของการส่งออกของจีนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์ หายไปมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการหดตัวลงที่รุนแรงที่สุดในการส่งออกของจีน จะมีที่หดตัวรุนแรงเช่นนี้ครั้งล่าสุดก็คือเมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและเฉียบพลันในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 ที่ผ่านมา

ในเวลาเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจจีนก็มีปัญหาภายในที่ร้ายแรงอยู่พร้อมกันไปด้วย

วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มต้นด้วยการ “ล้มทั้งยืน” ของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง “เอเวอร์แกรนด์” เพราะปัญหาหนี้สินอีนุงตุงนัง ยังคงส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่ยังหาทางออกไม่เจอ

อสังหาริมทรัพย์มีอิทธิพลสูงมากต่อจีดีพีของจีน เพราะก่อให้เกิดรายได้อย่างน้อย 1 ใน 4 ของจีดีพีทั้งหมด เมื่ออสังหาริมทรัพย์มีปัญหา เศรษฐกิจโดยรวมก็มีปัญหาตามไปด้วย

ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ใหม่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทั้งเดือน หดตัวลงมากถึงกว่า 27 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่มากในระบบเศรษฐกิจจีน เพราะนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ว่า ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยในจีนยังมีสูงมาก มีทั้งที่เกิดจากความพยายามพัฒนาสังคมเมืองของทางการเองแล้วก็เกิดจากความต้องการ ขวนขวายแสวงหาที่อยู่อาศัยที่ดีกว่าของชาวจีนเอง

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมากและมีสัดส่วนสูงในจีดีพีของประเทศไม่น้อยก็คือ การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นตัวหลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวด้วยดีในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ในเดือนมิถุนายน ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคกลับไม่กระเตื้องขึ้นเลยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งบ่งชี้ถึงกิจกรรมการผลิตของโรงงานทั้งหลายในจีน ร่วงลงมากถึง 5.4 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ตัวเลขการนำเข้าสินค้าของจีน ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้การบริโภคภายในประเทศที่ดีอีกตัว ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ในเดือนมิถุนายนเช่นเดียวกัน

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งก็คือ จีดีพีจีนในไตรมาสที่สองที่เผยแพร่กันออกมานั้น ยังเป็นตัวเลขที่ไม่ได้นำเอาอัตราเงินเฟ้อมาคำนวณร่วมด้วย ปัญหาก็คือ ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักกับเศรษฐกิจจีน ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้เพียง 4 ครั้งเท่านั้นเอง

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงว่า ในความเป็นจริงแล้ว ราคาของสินค้าและบริการภายในประเทศจีนกำลังลดต่ำลง นักเศรษฐศาสตร์คำนวณแล้วระบุว่า ราคาสินค้าและบริการภายในจีนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ลดลงถึง 1.4 เปอร์เซ็นต์

ทั้งหมดนั้นสะท้อนว่า ไม่เพียงแต่ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศจะลดลงเท่านั้น แต่อาจหมายความด้วยว่า จีนอาจกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด เมื่อราคาสินค้าและบริการลดต่ำลง เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

ซึ่งจะกลายเป็นวัฏจักรวนเวียนไม่สิ้นสุด เหมือนเช่นที่ญี่ปุ่นเคยเจอจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังนานหลายสิบปี

 

เพื่อแก้ปัญหานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ทางการจีนควรกำหนดมาตรการ “อัดฉีด” ครั้งใหญ่ อย่างน้อยก็ในระดับเดียวกันกับที่เคยใช้เพื่อแก้วิกฤตการณ์ระดับโลกที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2008-2009 แต่ในการประชุมคณะมนตรีแห่งรัฐ (State Council) เมื่อ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนกลับไม่มีมาตรการพิเศษใดๆ ออกมา ยกเว้นการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อย กับการยืดมาตรการยกเว้นภาษีเมื่อซื้อรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ออกไปเท่านั้นเอง

ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า การวางเฉยเช่นนั้นอาจหมายความว่า ทางการจีนยังคงมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจจีนยังคงมีแรงเหวี่ยงมากพอที่จะขยายตัวได้ 5 เปอร์เซ็นต์ตามเป้าที่วางไว้ในปีนี้ หรือไม่เช่นนั้น ก็ไม่ต้องการใช้มาตรการกระตุ้นโดยตรงขนาดใหญ่ ที่จะทำให้ปัญหาหนี้สินในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งกระทบต่อภาคการธนาคารของประเทศที่เคยมีอยู่เดิมรุนแรงมากขึ้น และทำลายวินัยทางการคลังของรัฐบาลในแต่ละมณฑลมากขึ้นไปอีก

ปัญหาใหญ่ก็คือว่า ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของจีนออกมาย่ำแย่ ความรู้สึกของชาวจีนจำนวนมากต่อสถานการณ์เศรษฐกิจกลับย่ำแย่ยิ่งกว่า ปัญหานี้ไม่เพียงกดดันต่อระดับการบริโภคภายในประเทศของจีนเท่านั้น แต่ยังอาจกลายเป็นวิกฤตทางสังคมได้ในอนาคต

ตัวเลขอัตราว่างงานในจีนที่เผยแพร่ออกมาในคราวเดียวกันนี้ แสดงให้เห็นว่าอัตราว่างงานโดยรวมยังทรงตัวอยู่ที่ 5.2 เปอร์เซ็นต์สำหรับเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าเป้าหมาย 5.5 เปอร์เซ็นต์ของทางการอยู่เล็กน้อย

แต่ภายในสถิติที่น่าพอใจดังกล่าว กลับมีข้อเท็จจริงที่น่าวิตกซุกซ่อนอยู่ นั่นคือ อัตราว่างงานสำหรับคนหนุ่มสาวในเขตเมือง พุ่งกระฉูดสูงถึง 21.3 เปอร์เซ็นต์แล้ว และถ้าหากเศรษฐกิจยังอ่อนแอต่อไปเรื่อยๆ ปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นและมากขึ้นทุกที

เศรษฐกิจกำลังกลายเป็นความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับสี จิ้นผิง ในเวลานี้