‘เคียร์ชบริดจ์’ สำคัญอย่างไรกับปูติน

เหตุการณ์โจมตีสะพานเคียร์ช หรือสะพานไครเมีย ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานที่รัสเซียสร้างขึ้น ข้ามช่องแคบเคียร์ช เชื่อมระหว่างดินแดนคราสโนดาร์ของรัสเซีย กับดินแดนไครเมียที่เคยเป็นของยูเครนก่อนถูกรัสเซียผนวกยึดครองเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ในเหตุการณ์โจมตีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์นี้ เป็นผลให้มีพลเรือนรัสเซียเสียชีวิต 2 รายนั้น ได้ถูกทำเนียบเครมลินชี้นิ้วกล่าวโทษในทันทีว่าเป็นฝีมือการก่อวินาศกรรมของยูเครน โดยการส่งอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนก่อการโจมตีทางอากาศถล่มใส่สะพานเคียร์ช ถึงสองครั้งสองครา

สร้างความเดือดดาลให้กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเป็นอย่างมาก จนออกมาประกาศกร้าวว่าจะตอบโต้เอาคืนผู้ก่อการร้ายอย่างสาสม

สอดรับกับคำกล่าวอ้างของแหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงของยูเครนที่แบะท่ารับคำกล่าวโทษนั้นของรัสเซีย โดยแหล่งข่าวบอกกับสื่อท้องถิ่นอย่างยูเครนสกา พราฟดา และนิววอยซ์ ออฟ ยูเครนว่า หน่วยความมั่นคง (เอสบียู) และกองทัพเรือของยูเครน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีสะพานเคียร์ชครั้งนี้ ทว่า ความเคลื่อนไหวหน้าฉากนั้นยังไม่มีการออกมายอมรับว่าเป็นผู้ลงมือจากทางการยูเครนแต่อย่างใด

เหตุวินาศกรรมครั้งนี้นับเป็นเหตุโจมตีสะพานเคียร์ชเป็นครั้งที่ 2 นับจากกองทัพรัสเซียเปิดฉากทำสงครามรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 โดยการโจมตีสะพานเคียร์ชครั้งก่อนนั้น เป็นเหตุการณ์โจมตีด้วยรถบรรทุกระเบิดที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับสะพานแห่งนี้ ที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัสเซีย

 

เมื่อถามว่าสะพานเคียร์ช หรือสะพานไครเมียแห่งนี้ มีความสำคัญอย่างไรกับรัสเซีย?

ประการแรก สะพานเคียร์ชมีคุณค่าต่อความภาคภูมิเป็นการส่วนตัวสำหรับตัวปูติน ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของการ “ผนวกรวม” ดินแดนไครเมียที่เป็นของยูเครน เข้ากับแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียได้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ.2014 แม้รัสเซียจะถูกนานาชาติรุมประณามว่าเป็นการผนวกรวมดินแดนอย่างผิดกฎหมายและไม่ชอบธรรมก็ตาม

สะพานนี้เริ่มก่อสร้างขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2016 และเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายนปี 2018 ตัวสะพานที่สร้างขึ้นเป็นทางรถวิ่งคู่ขนานกับทางรถไฟ มีความยาว 12 ไมล์ หรือประมาณ 19.3 กิโลเมตร นับเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในทวีปยุโรป โดยมีมูลค่าก่อสร้างราว 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 125,689 ล้านบาท

สะพานเคียร์ชหรือสะพานไครเมียนี้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงออกทางกายภาพของปูติน ที่ต้องการให้โลกรับรู้ถึงเป้าหมายของเขาที่มุ่งจะยึดครองดินแดนยูเครนและผูกพันรัดตรึงเอาไว้ให้อยู่กับรัสเซียตลอดไป

สะพานเคียร์ชยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมากต่อรัสเซียในแง่ของการศึก ในฐานะเป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งปัจจัยจำเป็นและเสบียงสำหรับกองทัพรัสเซีย รวมถึงเชื้อเพลิงและสินค้าสำหรับพลเรือนไปยังดินแดนไครเมียที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย และยังเป็นเส้นทางที่รัสเซียใช้ในการส่งกำลังบำรุง ทั้งยานยนต์ รถหุ้มเกราะ และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำสงครามรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของกองทัพรัสเซีย ที่ดำเนินมานานเกือบหนึ่งปีครึ่งแล้ว

 

การโจมตีที่มุ่งสร้างความหายนะให้กับสะพานเคียร์ชแห่งนี้ เท่ากับเป็นการมุ่งตัดเส้นเลือดใหญ่ในการเสริมทัพเสริมกำลังของกองทหารรัสเซียที่กำลังต่อสู้อย่างหนักกับการเปิดแนวรุกของกองกำลังยูเครนที่กำลังเปิดปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กลับเพื่อยึดคืนดินแดนของตนเองกลับมาในสมรภูมิทางตอนใต้และทางตะวันออกของยูเครน

โดยพัฒนาการที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ยูเครนอ้างว่ามีความรุดหน้าไปมากในการตีคืนพื้นที่ของตนเองมาจากกองกำลังรัสเซียได้

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดมีรายงานว่า รัสเซียระดมการโจมตีตอบโต้กลับยูเครนที่เมืองท่าโอเดซา ทางตอนใต้ของยูเครน ตามที่ปูตินลั่นวาจาไว้ว่าจะตอบโต้กลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนโจมตีสะพานไครเมียของรัสเซีย!