คำเตือน ‘จาตุรนต์’ อย่าใช้ประเด็น ‘ม.112’ สร้างความเกลียดชังในสังคม

หมายเหตุ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนักการเมืองอาวุโสจากพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นผ่านรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ถึงกรณีที่ ส.ว. และ ส.ส.ในขั้วรัฐบาลเดิม หยิบยกประเด็นเรื่องนโยบายการแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล มาเป็นเหตุผลในการโหวตไม่เห็นชอบให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

ผมผ่านการเมืองแบบที่มีการใช้เรื่องสถาบันมาเป็นข้ออ้างในการทำลายล้าง ในการปราบ ในการสังหารผู้ที่คิดต่าง ทั้งๆ ที่ผู้คิดต่างเหล่านั้นไม่ได้คิดร้ายอะไรต่อสถาบัน

เกิดการใส่ร้ายป้ายสีอะไรไปเยอะ แล้วก็ปลุกให้คนฆ่ากัน เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ตอนนั้นก็คือบอกว่านักศึกษาประชาชน ชาวนาบ้างอะไรบ้างเป็นคอมมิวนิสต์ ปลุกขึ้น แล้วต่อมาก็สร้างความเกลียดชัง ใส่ร้ายป้ายสีในเวลาต่อเนื่องกันยาวๆ แล้วพอเข้มข้นช่วงหนึ่งก็สังหารประชาชน

ทีนี้ เมื่อวาน (13 กรกฎาคม 2566) คือการอภิปรายโดยโยงเข้ากับการที่พรรคการเมืองหนึ่งมีนโยบายจะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

อภิปรายได้ไหม? ก็อภิปรายได้ แต่ผมก็เข้าใจว่า น่าจะมีการพูดเกินเลยไปเยอะ เพราะว่ามันไม่ใช่วาระการแก้กฎหมาย เป็นวาระเลือกนายกฯ เลือกนายกฯ ก็ควรเน้นที่คุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ แต่ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองนี้จะว่ายังไงๆ แล้วมัน (นโยบายแก้ไข ม.112) ก็ไม่อยู่ในเอ็มโอยูของ 8 พรรค

แต่ว่าที่มากไปกว่านั้น ก็คือ การพูดในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเกลียดชัง แล้วก็ล่อแหลมต่อการที่จะปลุกให้คนเกลียดชังกัน เกลียดชังต่อผู้ที่จะเกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมายก็ดี หรือกิจกรรมอื่นๆ อะไรก็ตาม ไปถึงขั้นว่าจะให้ยิงแล้วไม่ผิด อันนี้ไม่ดีแน่

มันก็จะกลับมาที่เดิมว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงตลอดมาของสังคมไทย คือการใช้เรื่องของสถาบันมาเป็นข้ออ้างในการทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง แล้วมันทำให้เกิดความขัดแย้งที่มากขึ้น

หลายๆ ครั้งที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน พอไปดึงสถาบันมาใช้เป็นข้ออ้าง แล้วไปเผชิญหน้ากับประชาชนที่เห็นต่าง ในยุคผมที่นักศึกษาถูกฆ่าตายไปเยอะ เขาไม่ได้มีอะไร ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันนะ แม้แต่ดูหมิ่นอะไรก็ไม่ใช่เลย เป็นการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาล้วนๆ อย่างนี้ก็เคยเกิดมาแล้ว

เพราะฉะนั้น จากนี้ไป ไม่ควรที่จะให้เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีก ผมคิดว่า ทุกฝ่ายควรจะระมัดระวัง ลดการทำอะไรที่มันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะนำเอาเรื่องเกี่ยวกับสถาบันเข้ามา

 

การแก้กฎหมาย ถ้าพรรคการเมืองหรือ ส.ส. คิดจะแก้กฎหมาย กฎหมายนั้นจะขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่แล้ว ในระหว่างแก้ อาจจะคิดต่างกัน ส.ส.พรรคนี้คนนี้เห็นว่าแก้อย่างนี้ และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อีกพวกหนึ่งบอกว่าแก้แล้วขัดรัฐธรรมนูญ เขาไม่ใช่ว่าให้เลิกไปนะ เขาไม่ได้บอกเอาทิ้งไป เขาก็ต้องแก้ไป แล้วลงมติ

มติคว่ำก็ตก ผ่านก็เป็นกฎหมาย แต่เป็นเลยได้ไหมถ้ามันขัดรัฐธรรมนูญ? เรื่องมันจะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายนี้ก็ตก

เพราะฉะนั้น การเสนอกฎหมาย การแก้กฎหมาย มัน “ไม่ผิดกฎหมาย” ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า ระบบการบัญญัติกฎหมาย ระบบของรัฐสภาคือฝ่ายนิติบัญญัติ เขามีไว้อยู่แล้วว่าการแก้กฎหมายก็คือการเสนออะไรที่ไม่ตรงกับกฎหมายที่เป็นอยู่ มันผิดกฎหมายไม่ได้ เพราะเขาอยู่ในกระบวนการแก้กฎหมาย

เสร็จแล้ว ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่? คุณมาวินิจฉัยก่อนไม่ได้ เพียงแต่ว่า (ถ้า) มันเห็นชัดเจนเหลือเกิน (ว่าขัดรัฐธรรมนูญ) อันนั้นก็ว่าไปอย่าง

 

แต่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนเสนอกฎหมาย ในฐานะพรรคการเมือง ในฐานะนักการเมือง คุณไม่เห็นด้วย คุณสามารถไปรวบรวมเสียงแล้วคว่ำมัน ไม่ให้ผ่าน นั่นคือขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สองเกิดยังผ่าน และคุณเห็นว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ คุณก็ไปเสนอศาลรัฐธรรมนูญ แต่ว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มันก็แสดงว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ถ้าเรามองเรื่องแบบนี้ให้มันว่ากันไปตามระบบ และระบบเขามีกลไกป้องกันอยู่แล้ว ก็คือ ถ้าเสนออะไรที่ ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็ไม่ผ่าน ถ้า ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นด้วย ผ่าน อ้าว นี่คือตัวแทนของประชาชนเขาเห็นว่าผ่าน ก็ผ่าน แล้วมันก็มีอีกชั้นหนึ่งว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ไปวินิจฉัยกันต่อโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ผมไม่ได้บอกว่าเสนอกฎหมายไหนดี-ไม่ดีทั้งนั้นนะ เพียงแต่ว่าไม่ควรเอาเรื่องเกี่ยวกับการแก้กฎหมาย มากลายเป็นประเด็นทำให้เกิดความเกลียดชังกันในสังคม