Consequences of World and Life ศิลปะแห่งการทบทวน ผลสืบเนื่องของโลกและชีวิต

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Consequences of World and Life

ศิลปะแห่งการทบทวน ผลสืบเนื่องของโลกและชีวิต

 

ศิลปะนามธรรม (Abstract art) มักเป็นกระบวนการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น

แต่ในบางครั้ง ศิลปะนามธรรม ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจและถ่ายทอดประเด็นที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น อย่างเรื่องของปรัชญา ศาสนา หรือแม้แต่สัจธรรมในธรรมชาติก็เป็นได้

ดังเช่นกระบวนการทำงานของ ภัทรกร สิงห์ทอง ศิลปินผู้อาศัยและทำงานอยู่ในจังหวัดลำพูน เขาสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมนามธรรมขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยเส้นสาย สีสัน และพื้นผิวอันเปี่ยมความเคลื่อนไหวทรงพลัง

แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงเอาไว้ด้วยความสงบ ลึกซึ้ง และเงียบงัน

ภัทรกรใช้กระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะเพื่อทำความเข้าใจโลกและความหมายของการมีชีวิต ผ่านผลงานจิตรกรรมนามธรรม (และรูปธรรม) และสำรวจความจริงของการดำรงอยู่และสัจธรรมแห่งธรรมชาติรอบข้าง การทำงานของเขาจึงไม่ต่างอะไรกับการแสวงหาสัจธรรมของชีวิต

ล่าสุด ภัทรกรมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวที่มีชื่อว่า Consequences of World and Life ที่นำเสนอผลพวงสืบเนื่องจากการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาของเขา เพื่อสรุปความเข้าใจที่มีต่อโลกและชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

ดังเช่นชื่อนิทรรศการของเขาที่มีความหมายว่า “ผลสืบเนื่องของโลกและชีวิต”

ในนิทรรศการครั้งนี้ ภัทรกรหยิบเอาผลงานในหลายยุคสมัยของเขา ทั้งผลงานในปี 2020, 2021, 2022 และ 2023 นำมาปรับปรุง, เพิ่มเติม, เรียนรู้ และทำความเข้าใจใหม่

บางผลงานยังไม่เคยถูกจัดแสดงที่ไหนมาก่อน หากผลงานทุกชิ้นมีจุดร่วมทางความหมายที่เหมือนกัน คือการเป็นผลสืบเนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงชีวิตการทำงานศิลปะของเขา

หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดในนิทรรศการครั้งนี้คืองานจิตรกรรมชุด Calligraphy ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากข้อมูลที่ศิลปินสำรวจความเป็นจริงในธรรมชาติผ่านการวิปัสสนา และแสดงออกมาด้วยการเขียนตัวอักษรภาพคล้ายกับศิลปะการวาดภาพพู่กัน

ภัทรกรนำความเข้าใจที่ได้จากกระบวนการนี้มาศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวมนุษย์มาสรุปอีกครั้ง ผ่านผลงานภาพวาดชุดตัวหนังสือขนาดใหญ่ 10 เมตร ที่ศิลปินใช้เวลาในแต่ละวันค่อยๆ สร้างสรรค์ขึ้นมาทีละส่วน

ภัทรกรหยิบผลของการศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติ มาทำซ้ำออกมาเป็นผลงานศิลปะ โดยอ้างอิงจากพระธรรมในพระไตรปิฏกอย่าง ปริยัติ, ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ

คือเอาผลของการปฏิบัติที่ทำให้เห็นความงามในความจริงแท้ และนำผลของความงามที่ว่านี้มาทำให้เกิดเป็นรูปทรงของตัวหนังสือ ที่เป็นเสมือนการสรุปความเข้าใจให้ตนเองเกี่ยวกับธรรมชาติ โลก และชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องสื่อความหมายให้แก่ผู้ชมอย่างชัดแจ้ง

หากแต่เปิดพื้นที่ให้แต่ละคนตีความตามแต่ประสบการณ์ชีวิต และประสบการณ์ในการรับรู้ของตนเอง

“สําหรับผม ทุกอย่างในโลก ล้วนแล้วแต่มีสัจธรรมในตัว มีสัจธรรมอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว ศิลปะก็เป็นธรรมชาติ ส่วนการเข้าถึง การศึกษาตีความ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เรามองดอกบัว พ่อค้าแม่ค้าเห็นดอกบัวแล้วอาจนึกถึงราคาและการขาย ศิลปินเห็นดอกบัวอาจแล้วอาจจะนึกถึงสีสัน รูปทรง แต่ถ้าเป็นคนที่เข้าใจในสัจธรรมของธรรมชาติ ก็จะเห็นความจริงในดอกบัว”

“ช่วงก่อนหน้านี้ที่ผมยังไม่เข้าใจในสัจธรรมของธรรมชาติ เวลาทำงานผมจะมีลักษณะของความนิยมความสมบูรณ์แบบในการทำงาน แต่ในที่สุดเราก็เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเราไม่สามารถควบคุมสิ่งนี้ได้ เราแค่ทำเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ที่เหลือก็เป็นเรื่องของความเข้าใจ และการสร้างระบบ ที่เอื้อให้เกิดเหตุปัจจัยในผลงานขึ้นด้วยตัวเอง”

ผลงานในปัจจุบันของภัทรกรจึงมีร่องรอยที่เขาปล่อยให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติและร่องรอยจากสภาพแวดล้อมรอบพื้นที่ทำงาน อย่างคราบไคลของฝนที่สาดซัดและไหลลงมาโดนผลงาน รอยยับ ความแห้งแตกระแหงของสี

บางครั้งถึงกับมีดอก ใบ และเมล็ดลำไย จากต้นลำไยที่อยู่ในสวนใกล้กับสตูดิโอของเขาตกลงมาติดและถูกเคลือบทับลงไปบนตัวงานก็ยังมี

หากเรามองว่าก้นบุหรี่ที่ร่วงหล่นติดอยู่ในภาพวาดนามธรรมหยดสีของ แจ็กสัน พอลล็อก นั้นเป็นการแสดงออกถึงคุณสมบัติอันโคตรแมนของพอลล็อกในโลกศิลปะ, ดอก, ใบ และเมล็ดผลไม้ที่ร่วงหล่นติดอยู่ในภาพวาดนามธรรมของภัทรกรก็น่าจะเป็นการแสดงออกถึงคุณสมบัติแห่งความปล่อยวางและเข้าถึงสัจธรรมในธรรมชาติของเขาเช่นเดียวกัน

“ก่อนหน้านี้ที่ผมไม่เข้าใจระบบธรรมชาติ ผมเกิดคำถามกับตัวเองมาก ว่าชีวิตเราก็แค่วาดภาพแล้วเอาไปขายได้เท่านั้นเองหรือ? แต่พอผมเชื่อมตัวเองกับระบบธรรมชาติได้ ถึงได้เข้าใจว่า ไม่ว่าเราจะทำงาน, เลี้ยงลูก, เขียนหนังสือ, ขับรถ, เล่นดนตรี ทุกอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนกันทั้งหมด เพราะสัจจะความจริงในการดำเนินชีวิตคือธรรมชาติ”

“คนที่เข้าใจระบบของธรรมชาติจะมีสองลักษณะใหญ่ๆ ลักษณะแรกคือ ผู้ที่เร่งบรรลุธรรมอย่างนักบวช ที่ละวางทุกอย่าง ควบคุมพฤติกรรมของตนเองเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วที่สุด ลักษณะที่สองคือ ผู้ที่ดำรงชีวิตตามปกติธรรมดาทั่วไป โดยที่ทำความเข้าใจธรรมชาติไปด้วย ผู้ที่อยู่ในลักษณะนี้จะเอื้อให้เกิดความสวยงามในการแบ่งปัน พอขยายผลต่อไป เราจะเห็นคุณงามความดีของทุกสิ่งทุกอย่าง ของผู้คน ของเพื่อนมนุษย์ ของสิ่งที่มีบุญคุณ สิ่งที่เกื้อหนุนชีวิตเรา”

“ก่อนหน้านี้ผมเคยตั้งคำถามว่าเรามีชีวิตเพื่ออะไร? ทำงานศิลปะไปเพื่ออะไร? ผมมาตอบคำถามนี้ได้ในภายหลังว่า เราทำงานศิลปะเพื่อฝึกฝนพัฒนาตนเองให้เข้าถึงกฎธรรมชาติ เข้าถึงสัจธรรมหรือคุณงามความดีในธรรมชาติ พอเราเข้าใจสิ่งนี้ในระดับหนึ่งก็จะก่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่เราแบ่งปันความเข้าใจนี้ออกไปให้แก่สังคม”

“ที่ผมทำงานศิลปะ ไม่ได้ทำเพื่อชื่อเสียงรางวัล เพื่ออามิสสินจ้างอย่างล้นเกิน หากแต่ทำเพื่อแลกปัจจัยในการดำรงชีวิต เพื่อต่อยอดในการทำงานศิลปะต่อไป เป็นสัมมาอาชีวะ เมื่อเราเข้าใจถึงสัจธรรมนี้ เราก็รู้ว่าไม่ใช่แค่คนทำงานศิลปะเท่านั้น หากแต่คนขับแท็กซี่, ขับรถส่งของ, ทำอาหาร, เขียนหนังสือ, เดินทาง ทุกอย่างคือการแสวงหาสัจธรรมได้ทั้งหมด ถ้าเราเข้าใจถึงข้อเท็จจริงนี้ เราก็สามารถใช้ทุกอย่างในการสื่อสารการเรียนรู้ธรรมชาติ เรียนรู้ตัวเองได้”

“ผมมักจะพูดบ่อยๆ ว่าถ้าเราเห็นความจริงในธรรมชาติ เราจะเห็นความดีความงามของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว”

ด้วยความที่นิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงในพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า แทนที่จะเป็นหอศิลป์ตามปกติ ทำให้หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า บริบทของพื้นที่แห่งนี้ ที่เป็นพื้นที่ของระบอบทุนนิยมที่ผู้คนต่างมุ่งหน้ามาจับจ่ายใช้สอย กิน ดื่ม เสาะแสวงหาความสุขทางโลก นั้นเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับเนื้อหาสาระในงานชุดนี้หรือไม่?

“ผมว่าถึงจะแสดงในหอศิลป์หรือห้างสรรพสินค้าก็มีธรรมชาติเหมือนกัน ต่างกันแค่เหตุปัจจัยของผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เราใช้โจทย์ตรงนี้ในการศึกษาธรรมชาติของห้างสรรพสินค้า เพราะไม่ว่าเราจะดูงานอยู่ในหอศิลป์ หรือแม้แต่ปฏิบัติธรรมในวัด แต่เราปฏิบัติด้วยกิเลสอย่างละเอียด ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นกิเลสไม่ต่างกัน ในทางกลับกัน ห้างสรรพสินค้าเองก็เป็นพื้นที่ที่เกื้อหนุนให้คนจำนวนมากได้มีโอกาสทำมาหากิน เลี้ยงชีพอย่างสุจริต ในแง่นี้ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือหอศิลป์ ต่างก็เป็นสถานที่ที่ผมใช้แสดงผลงานเหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด”

นิทรรศการ Consequences of World and Life โดย ภัทรกร สิงห์ทอง จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 7 July-31 August 2023 ที่ Iconluxe Pop Up Space ชั้น 1 ไอคอนสยาม ภาพถ่ายโดย Preecha Pattara •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์