The Last Breath of SAM YAN : Gentrification ชนชั้นสร้างสรรค์ และสิทธิที่จะกำหนดอนาคตเมือง (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

The Last Breath of SAM YAN

: Gentrification ชนชั้นสร้างสรรค์

และสิทธิที่จะกำหนดอนาคตเมือง (จบ)

 

ผู้คนในชุมชนรอบศาลเจ้าแม่ทับทิม แม้จะอยู่อาศัยในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ก่อร่างสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมจนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ชุมชน”

แต่ด้วยการมีสถานะเป็นเพียงผู้เช่าที่ไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงทำให้ไร้สิทธิ์และไร้เสียงอย่างสิ้นเชิงต่อการมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตในพื้นที่

อำนาจในการกำหนดทุกสิ่งอย่างตกอยู่กับ PMCU โดยสมบูรณ์ในฐานะเจ้าของที่ดิน

ผู้คนในชุมชนรอบศาลเจ้าแม่ทับทิม มีสถานะเพียงผู้เช่าที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย แต่ไร้ซึ่งอำนาจที่จะกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัยมาอย่างยาวนานหลายสิบปี

ทุกคนเป็นเพียงลูกค้าที่สร้างผลกำไรให้กับเจ้าของที่ วันใดก็ตามที่หมดประโยชน์และให้ผลกำไรไม่มากเพียงพอ ก็ต้องถูกขับไล่ออกไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ลูกค้าใหม่ที่มีกำลังจ่ายสูงกว่า ให้เข้ามาอยู่แทนที่

แนวทางการพัฒนาเมืองเช่นนี้ไม่ได้มองคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ว่าเป็นมนุษย์หรือเป็นชุมชน แต่มองทุกคนว่ามีสถานะเป็นเพียงก้อนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่หมดประโยชน์เมื่อไรก็ต้องไล่ทิ้งออกไป

กรณีนี้ชวนให้เราคิดถึงประเด็นที่กว้างออกไปว่าด้วย “สิทธิที่จะกำหนดอนาคตเมือง” (Right to the city) ซึ่งแนวคิดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากนักคิดสายมาร์กซิสต์คนสำคัญคือ Henry Lefebvre ซึ่งพูดถึงสิทธิ์อันควรมีควรได้ของคนทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่อาศัยในพื้นที่เมือง ที่ควรมีสิทธิ์และอำนาจในการกำหนดทิศทางและอนาคตของเมืองได้ด้วยตัวเองอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น มิใช่มีเพียงแค่นายทุนหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะมีอำนาจกำหนดอนาคตของเมือง (ดูรายละเอียดเพิ่มในหนังสือ Writings on cities ของ Henry Lefebvre)

บนฐานคิดเช่นนี้ แม้ทุกคนในชุมชนรอบศาลเจ้าแม่ทับทิมจะมีสถานะเป็นพียงผู้เช่า แต่ทุกคนย่อมมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง แสดงความเห็น ไปจนถึงมีอำนาจ (ไม่มากก็น้อย) ที่จะกำหนดแนวทางที่ควรจะเป็น ที่มีความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความเป็นชุมชนที่สั่งสมยาวนาน

รวมไปจนถึงสิทธิ์ในการต่อสู้และยืนหยัดที่จะรักษาสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของพื้นที่ (ตัวศาลเจ้าแม่ทับทิม) ให้คงอยู่เอาไว้ต่อไป

การพัฒนาพื้นที่เมืองที่ดี เป็นธรรม และเป็นเมืองสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง เราต้องไม่ให้น้ำหนักและอำนาจทั้งหมดแก่ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียงด้านเดียว เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่เฉพาะของคนรวย กลายเป็นเมืองที่มองทุกอย่างแต่ในมิติของกำไรขาดทุน จนกลายเป็นเมืองที่กดขี่ ขูดรีด และเหลื่อมล้ำ

การตั้งเป้าหมายที่จะรื้อย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิม โดยมิได้คำนึงถึงจิตวิญญาณ ความทรงจำ เครือข่ายทางวัฒนธรรมที่ยึดโยงกันโดยมีตัวศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง คือตัวอย่างอันอัปลักษณ์ของการให้อำนาจที่มากเกินไปแก่นายทุนในการผูกขาดสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่เมือง

ยิ่งในกรณีนี้ซึ่งที่ดินทั้งหมดเป็นของจุฬาฯ (ซึ่งโดยอุดมคติแล้วคือพื้นที่สาธารณะของคนไทยทุกคน) การเลือกที่จะพัฒนาที่ดินด้วยโมเดลธุรกิจแบบทุนนิยมสมบูรณ์ที่ไร้หัวใจเช่นนี้ ยิ่งทำให้เราควรหันมาตระหนักถึงประเด็นว่าด้วยสิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองของคนกลุ่มอื่นให้มากขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพียงผู้เช่าก็ตาม

ในทัศนะผม การต่อสู้เพื่อรักษาศาลเจ้าแม่ทับทิมเอาไว้ จึงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของผู้เช่าที่ดื้อดึงไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ แต่คือกรณีตัวอย่างที่สำคัญในการแสดงให้สังคมมองเห็นถึง “สิทธิที่จะกำหนดอนาคตเมือง” ซึ่งสังคมไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากนัก

และหากศาลเจ้าแม่ทับทิมถูกรื้อ สิ่งที่จะสูญหายไปก็มิใช่แค่เพียงสถาปัตยกรรมแบบจีนที่มีอายุราว 50 กว่าปีเท่านั้น แต่คือการสูญหายไป (อีกครั้ง) ของ “สิทธิที่จะกำหนดอนาคตเมือง” ของคนกลุ่มอื่นในสังคมที่มิใช่นายทุน

ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวเนื่องกันและผมอยากพูดถึงก็คือ “ชนชั้นสร้างสรรค์” (creative class) หรือกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี เป็นคนชั้นกลางระดับบน มีไลฟ์สไตล์ในแบบที่เรียกว่า “Street Level Culture” ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ที่ผสมผสานกันระหว่างคาเฟ่ฮิปๆ แกลเลอรีเท่ๆ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ร้านอาหารเก๋ๆ ย่านที่มีกลิ่นอายของศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ (ดูรายละเอียดเพิ่มในหนังสือ The Rise of the Creative Class โดย Richard Florida)

กล่าวอย่างรวบรัด คนกลุ่มนี้คือกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเมืองกระแสหลักของสังคมไทยปัจจุบัน (เพราะมีกำลังซื้อสูงและให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคืนแก่นายทุนเร็ว) โดยไม่สนใจคนกลุ่มอื่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำและมีวัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างออกไป

ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะเร่งปรากฏการณ์ Gentrification ให้ขยายตัวมากขึ้น จะยิ่งทำให้การ displacement คนจนเมืองเกิดขึ้นอย่างมหาศาล และเพิ่มความเลื่อมล้ำอันแสนอัปลักษณ์ในพื้นที่เมืองให้เพิ่มสูงขึ้น

ซึ่งโครงการพัฒนาที่ดินเกือบทั้งหมดของจุฬาฯ โดย PMCU (กรณีที่ดินโดยรอบของศาลเจ้าแม่ทับทิมด้วยเช่นกัน) คือโครงการที่ถูกสร้างขึ้นบนฐานคิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะโดย ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

 

ผมพูดประเด็นนี้เพราะอยากสื่อสารโดยตรงไปยังกลุ่ม “ชนชั้นสร้างสรรค์” ในสังคมไทยที่ได้กลายมาเป็นเครื่องมือ (โดยตัวเองก็ไม่รู้ตัว) ของ Gentrification ที่ทาง PMCU กำลังสร้างขึ้นมา

ชนชั้นสร้างสรรค์ไทย จำเป็นต้องทบทวนตัวเองครั้งใหญ่ และตระหนักถึงพลังอำนาจและความอันตรายของวิถีชีวิตของตนเองที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผลักไสชนชั้นแรงงานและคนจนเมืองออกจากย่านเก่า

หากชนชั้นสร้างสรรค์ไทยสามารถตระหนักถึงความจริงข้อนี้ได้บ้าง และเริ่มเป็นกระบอกเสียงให้กับชนชั้นอื่นดูบ้าง การพัฒนาย่านเก่าก็จะเกิดขึ้นอย่างหลากหลายและเป็นธรรมมากขึ้นไม่มากก็น้อย โดยเริ่มต้นง่ายๆ จากกรณีศาลเจ้าแม่ทับทิม

ขอย้ำอีกครั้งว่า อย่ามองกรณีนี้เป็นเรื่องของผู้เช่าที่ไร้สิทธิ์ ที่ดื้อดึงเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว กับ เจ้าของที่ดินที่มีสิทธิ์ทุกอย่างในการจะทำอะไรก็ได้

แต่จงมองกรณีนี้ว่าเป็นภาพสะท้อนของปัญหาอันใหญ่โตของการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างปรากฏการณ์ Gentrification ที่อันตรายกว่าที่หลายคนคิด, ปัญหาว่าด้วยการไร้ซึ่ง “สิทธิ์ที่จะกำหนดอนาคตเมือง” ของสังคมไทย และการตกเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองที่ไร้หัวใจ โดยไม่รู้ตัวของ “ชนชั้นสร้างสรรค์”

ความน่ากลัวที่มากเป็นเท่าทวีคูณของกรณีนี้ก็คือ ทุกอย่างเกิดขึ้นในพื้นที่ของสถาบันการศึกษาที่ควรจะทำหน้าที่เป็นเสาหลักทางปัญหาและเป็นผู้นำในการพัฒนาพื้นที่เมืองที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน แต่สุดท้ายกลับเลือกทางเดินที่ไม่ต่างจากนายทุนที่มุ่งหวังแต่ผลกำไรสูงสุด ปล่อยตัวเองให้ไหลลอยไปตามระบบทุนนิยมที่ไร้หัวใจ

 

สุดท้ายนี้ ผมอยากชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารคดี The Last Breath of Sam Yan เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้กำกับฯ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ ผู้อำนวยการสร้าง ที่ได้เข้ามาตีแผ่และเผยให้คนนอกได้มีโอกาสเห็นแง่มุมอันอัปลักษณ์ของสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาเมืองที่ไร้รากและไร้จิตวิญญาณ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณนก -เพ็ญประภา พลอยสีสวย ผู้ดูแลศาลเจ้า (เจ้าของรางวัล “จิตร ภูมิศักดิ์” ด้านการขับเคลื่อนสังคม ประจำปี 2565) ที่ยืนหยัดรักษาจิตวิญญาณสุดท้ายของพื้นที่เอาไว้อย่างกล้าหาญแม้ว่าจะต้องถูกดำเดินคดี

ไม่ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นอย่างไร สิ่งที่คุณนกได้ทำไว้ได้สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับคนหลายคน และเป็นตัวอย่างชั้นดีในการต่อสู้และยืนหยัดในสิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง

ซึ่งสถาปนิกและนักออกแบบชุมชนเมืองส่วนใหญ่ของสังคมไทย (แสร้ง) มองไม่เห็น

ใต้ภาพ

1-ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ที่ยังคงยืนหยัดอยู่ท่ามกลางการพัฒนาเมืองแบบทุนนิยมที่ไร้หัวใจ

ที่มาภาพ : The Momentum https://themomentum.co/feature-tuptim-shrine/

2-คุณนก-เพ็ญประภา พลอยสีสวย ผู้ดูแลศาลเจ้า เจ้าของรางวัล “จิตร ภูมิศักดิ์” ด้านการขับเคลื่อนสังคม ประจำปี 2565

ที่มาภาพ : เพจ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย I Student Council of Chulalongkorn University