ทฤษฎีสามสูง แนวทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายแรงงาน เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำอันยาวนาน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผู้เขียนมีโอกาสได้เขียนถึงภาวะสามต่ำที่อยู่ในสังคมไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว

ภาวะสามต่ำประกอบด้วย ค่าจ้างต่ำ (เหลื่อมล้ำสูง) เทคโนโลยีการผลิตต่ำ (ขูดรีดสูง) และ อำนาจต่อในการต่อรองในที่ทำงานต่ำ (เผด็จการสูง)

การแก้ไขปัญหาแรงงานจึงไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นในด้านเศรษฐกิจ หรือการกำหนดนโยบายเท่านั้น

แต่เกี่ยวพันกับการจัดวางความสัมพันธ์อำนาจทางการเมืองด้วย

ดังนั้น หากพรรคการเมืองใดได้ดูแลกระทรวงแรงงาน การสร้างเงื่อนไขสามสูง อันได้แก่ ค่าจ้าง-สวัสดิการสูง เทคโนโลยีการผลิตสูง และการเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ผู้ใช้แรงงาน

ก่อนที่จะพูดถึงรายละเอียดของแนวทางผู้เขียนขอพูดถึงแนวคิดตัวแบบเรห์นไมด์เนอร์ (Rehn-Meidner-Model) สองนักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนผู้นำเสนอรากฐานแนวคิดด้านเศรษฐกิจการเมือง ที่ผลักดันการปฏิรูปแรงงาน และนโยบายรัฐสวัสดิการในประเทศสวีเดน โดยมีหลักคิดสำคัญคือ

การเสริมสร้างสหภาพแรงงาน การส่งเสริมการรวมกันของแรงงานในรูปแบบของสมาคมแรงงานที่แข็งแกร่งและมีอำนาจในการต่อรองจะช่วยเพิ่มฐานะและสิทธิของแรงงานในทุกระดับ โดยการสร้างสภาวะที่สมดุลและเสมอภาคระหว่างแรงงานและนายจ้าง

การแบ่งปันผลประโยชน์ สนับสนุนให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการเจรจาต่อรองระหว่างสหภาพแรงงานและกลุ่มนายจ้าง โดยส่งเสริมให้ส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับแรงงาน ซึ่งจะช่วยลดความไม่เสมอภาคในสังคม

การเพิ่มโอกาสในการทำงานและการศึกษา สร้างโอกาสในการทำงานและการศึกษาที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกชั้นของสังคม โดยการเพิ่มโอกาสในการศึกษาที่มีคุณภาพสูง และการสร้างงานที่มีคุณภาพและค่าแรงที่เหมาะสมสำหรับคนทำงานในทุกระดับ การสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็งจะเป็นการเพิ่มคุณภาพแรงงานโดยปริยาย

และ การสนับสนุนการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การจัดสรรงบประมาณใหม่โดยยึดถึงแรงงานเป็นศูนย์กลางมากกว่าการนำงบประมาณสนับสนุนกลุ่มทุนและหวังให้ทรัพยากรไหลรินลงมาสู่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมักไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ

เมื่อพิจารณาตัวแบบ Rehn-Meidner เราสามารถนำสู่การพิจารณาการประยุกต์ใช้ในบริบทสังคมไทยได้ ผ่านการสร้างปรากฏการณ์สามสูง ได้แก่ ค่าจ้างสวัสดิการสูง เทคโนโลยีการผลิตสูง และอำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานสูง ผ่านสี่ภารกิจ

ดังนี้

 

1.การเพิ่มสัดส่วนค่าจ้างแรงงานต่อทุนให้สูงขึ้น

ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยเป็นเพียงร้อยละ 60 ของค่าแรงที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตจริง ซึ่งสูงอยู่ที่ประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน

แต่มีคนไทยเพียงแค่ร้อยละ 40 ในวัยทำงานที่สามารถเข้าถึงรายได้ 18,000 บาทต่อเดือน

ปัญหาของการได้รับค่าแรงต่ำเกินไป ทำให้แรงงานมีสุขภาพที่ย่ำย่า มีความกังวลต่อชีวิตประจำวัน ปัญหาหนี้สิน

และที่สำคัญทำให้ไม่สามารถพัฒนาทักษะได้ ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตน ปัญหาค่าแรงต่ำ ยังเป็นเหตุจูงใจสำคัญให้เกิดปัญหา การใช้เทคโนโลยีการผลิตต่ำ และใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อประโยชน์ในการสะสมทุน

กลุ่มทุนไทยเลือกที่จะไม่พัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมการผลิตเพราะความง่ายต่อการสะสมทุนผ่านเงื่อนไขค่าแรงและสวัสดิการต่ำ

การมีค่าแรงและสวัสดิการในอัตราที่เหมาะสม จะผลักให้กลุ่มทุนแสวงหานวัตกรรมการบริหารจัดการ การผลิตสินค้าบริการ

 

2.สร้างการจ้างงานที่ทำให้คนทุกคนสามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มความสามารถ

การสร้างงานที่มีความต้องการแก่สังคมในระดับท้องถิ่น ที่มีความขาดแคลนไม่ว่าจะเป็นงานผู้ดูแลผู้สูงอายุ งานอุตสาหกรรมรถเมล์ น้ำประปา หรือกระทั่งการขยายของการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับท้องถิ่น

การสร้างงานที่มีคุณค่าที่มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีการเติบโตในอาชีพการทำงานวางแผนอนาคตได้ มีเวลาพักผ่อนที่เหมาะสม พัฒนาตัวเองได้ มีความเป็นประชาธิปไตยในที่ทำงาน มีสหภาพแรงงานดูแล การสร้างงานในลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแลมากกว่าแค่การฝึกอบรมสร้างทักษะ

แต่งานใหม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ผูกเงื่อนไขการจ้างงานอนาคตภายใต้เงื่อนไขที่ได้กล่าวไปข้างต้น

หากสามารถสร้างได้จะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ในการสร้างรายได้ในระดับท้องถิ่น การพัฒนาด้านการศึกษา

และกลายเป็นการทำให้คนในวัยทำงานสามารถทำงานในเงื่อนไขเต็มศักยภาพของตนเอง และนำไปสู่ความก้าวหน้าของสังคมต่อไป

 

3.ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตโดยยึดแรงงานเป็นศูนย์กลาง

งบประมาณของรัฐบาลทั้งส่วนกลางและในระดับท้องถิ่น ควรถูกกระจายลงสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ มากกว่าเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ที่กระจุกผู้รับผลประโยชน์เพียงแค่กลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม

รูปธรรมคือการปรับปรุงแนวนโยบายเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการตามช่วงวัย มากกว่าการทำเงื่อนไขสวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ที่มีเงื่อนไขซับซ้อนแบบเดิม

รูปธรรมคือการกระจายเงินสู่ เงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า มหาวิทยาลัยฟรี เงินบำนาญถ้วนหน้า

ลักษณะเช่นนี้จะเป็นผลสำคัญให้คนสามารถลองผิดลองถูกในชีวิตการทำงานได้

สามารถเปลี่ยนงานโดยปราศจากความกังวล

หัวใจของการทำให้เศรษฐกิจเติบโต คือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในสภาวะที่รู้สึกปลอดภัยและมีหลังพิง

 

4.สร้างความเสมอภาคด้านรายได้ในทุกกลุ่มอาชีพ

เมื่อมีงานที่มีคุณภาพ มีค่าจ้างสวัสดิการที่เหมาะสม มีรัฐสวัสดิการเป็นหลังพิงให้กับคนทั้งที่อยู่ในการจ้างและนอกระบบการจ้าง การปลดล็อกให้มีการรวมตัวกันอย่างเสรี

กฎหมายอาญา ม.117 ที่มีความหนึ่งระบุว่า “ผู้ใดทราบความมุ่งหมายดังกล่าวและเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วยในการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างหรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ลักษณะกฎหมายนี้ทำให้การรวมตัว อันเป็นอาวุธของคนธรรมดาในการต่อรองกับผู้มีอำนาจสามารถทำได้อย่างยากลำบาก

การรับอนุสัญญา ILO 87-98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวอย่างไม่เลือกปฏิบัติ จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน หรือแตกต่างสาขาอาชีพมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น

ประชาธิปไตยในที่ทำงานเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ การต่อรองด้านรายได้และสวัสดิการ สามารถเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและลดความเหลื่อมล้ำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยกลไกอำนาจรัฐในระดับมหภาคอย่างเดียว

ทั้งหมดคือสี่ภารกิจสำคัญเพื่อสร้างสถานะสามสูง ค่าจ้างสวัสดิการสูง เทคโนโลยีการผลิตสูง และอำนาจต่อรองสูง เพื่อเป้าหมายสำคัญคือการสร้างเศรษฐกิจที่มีแรงงานเป็นศูนย์กลาง คนส่วนใหญ่ของสังคมที่สร้างประเทศนี้ขึ้นมา