ประวัติศาสตร์การครอบงำโดยทหารในไทย ในสายตา พอล แชมเบอร์ (1)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ผมโชคดีได้อ่านต้นฉบับหนังสือก่อนส่งโรงพิมพ์เรื่อง A History of Military Ascendancy in Thailand แปลเป็นไทยว่า ประวัติศาสตร์การครอบงำโดยทหารในไทย เขียนโดย Dr. Paul Chamber พิมพ์โดย Institute of Southeast Asia Studies แห่งสิงคโปร์

นอกจากชื่อเสียงของสำนักพิมพ์ หนังสือเล่มนี้หนาประมาณ 690 หน้า ประกอบด้วย 17 บท แล้วครอบคลุมช่วงการครอบงำโดยทหารในทุกช่วงเวลาได้แก่ ยุคของ พิบูล ผิน เผ่า สฤษดิ์ ถนอม ประภาส อันเป็นช่วงเวลาของยุคสงครามเย็น (Cold War)

เท่านั้นไม่พอ ยังเชื่อมโยงกับช่วงเวลา เกรียงศักดิ์ เปรม แล้วแยกออกมาช่วง เปรม ชวลิต สู่ช่วง ทักษิณ สนธิ สนธิและสุรยุทธ์ อันเป็นยุคหลังสงครามเย็น (Post Cold War)

แน่นอน พอลทำการวิเคราะห์ช่วงประยุทธ์ แล้วจั่วหัวเรื่องอย่างเก๋และเท่ว่า Prayuth ‘Heavy’ to Prayuth ‘light’ ก็ยิ่งทำให้ผมต้องอ่านอย่างละเอียดเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่า

พอลมองการปกครองและการครอบงำสังคมการเมืองไทยในยุคประยุทธ์ในลักษณะไหนกันแน่

ก่อนที่ผมจะลองนำเสนอว่า พอลมองการครอบงำของทหารในไทยอย่างไร โดยนำเสนอข้อเด่น การวิเคราะห์ของพอล

พอลมีคุณูปการต่อไทยศึกษา เรื่องทหารและเรื่องอื่นๆ มากแค่ไหนและในแง่มุมไหนบ้าง แนวคิดบางประการที่พอลใช้เป็นกรอบและแนวทางวิเคราะห์บางส่วน ผมจะลองเลือกบางช่วงเวลาการครอบงำของทหารในไทยขึ้นมาวิเคราะห์ต่างหาก

แล้วให้เหตุผลว่า ทำไมผมจึงเลือกช่วงเวลานั้นจากเหตุผลและมุมมองของพอล ส่วนผมมองต่างหรือมีส่วนขยายอย่างไรบ้าง

ที่เราควรอ่านหนังสือเล่มนี้ของพอล แชมเบอร์ นอกจากหนังสือให้ภาพประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องและยาวนานในการครอบงำของทหารนับจากปี ค.ศ.1932-2023 ยังเป็นข้อมูลที่ละเอียดมาก

ประวัติแห่งผลงานทางวิชาการที่ต่อเนื่องของพอล แชมเบอร์ ยังเป็นสิ่งดึงดูดผมให้อ่านหนังสือของพอล ด้วยความเพลิดเพลิน ชวนสงสัยและตั้งคำถาม

เพื่อสนทนาระหว่างกันอย่างสนุก เราควรดูประวัติและผลงานของพอล แชมเบอร์ เสียก่อนเป็นอันดับแรก

 

พอล แชมเบอร์
ประวัติและผลงานบางส่วน

ดร.พอล แชมเบอร์ เป็นอาจารย์และที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการต่างประเทศ ของ Center of ASEAN Community Studies คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

พอล แชมเบอร์ เคยเป็นนักวิชาการรับเชิญ (Visiting Fellow) สถาบัน Peace Research Institute Frankfurt, the German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Government และ the Cambodian Institute of Cooperation and Peace เคยเป็นนักวิชาการรับเชิญ the Heidelberg University และ the German Institute of Global and Area Studies (GIGA) ที่เมือง Hamberg เยอรมนี

พอล แชมเบอร์ เขียนและร่วมเขียนมากกว่า 100 สิ่งพิมพ์ ได้แก่ บทความในวารสารทางวิชาการ Book Chapter เป็นหนังสือ 6 เล่ม

ผมได้ร่วมประชุม เสนอผลงานเรื่อง Civilian-Military Relation in contemporary Thailand และพบกับพอลที่ Heidelberg University เยอรมนี ในที่ประชุมเรื่อง Democratization and Civilian Control of the Military in East Asia พอลเป็นนักวิชาการรับเชิญที่นั่น 3 ปี เขาร่วมงานกับนักวิชาการชาวเยอรมัน เช่น Dr. Aurel Croissant, David Kuehn และ Philip Lorenz ที่เก่งด้านทฤษฎี ประเด็นความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร (Civil-Military Relation) คนเยอรมันเหล่านี้เชี่ยวชาญและทำงานกับศาสตราจารย์ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารในเอเชียใต้หลายคนอีกด้วย

พอลเขียนงานได้แก่ Paul Chamber, ” Democratization Interrupted : The Parallel State and the Demise of Democracy in Thailand”1 ร่วมเขียนและบรรณาธิการ Khaki Capital : The Political Economy of the Military in Southeast Asia (Copenhagen : Nordic Institute of Asian Studies, 2017)

 

ความสำคัญของทหารในไทย

พอล แชมเบอร์ เห็นว่า งานศึกษาเรื่อง ทหารในไทย มีความสำคัญและถึงมีอยู่แล้ว แต่ควรมีงานวิจัยค้นคว้ามากขึ้น ด้วยเหตุว่า ทหารในประเทศไทยโดยเฉพาะนั้นเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของไทยในปัจจุบัน (2023)

งานของพอลนี้เห็นว่า ทหารสามารถมุ่งมั่นเป็นผู้แสดงทางการเมืองหลัก (key political player) ด้วยพวกเขาได้ใช้ การผูกขาดความรุนแรง ที่อยู่นอกการตรวจสอบโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

ความผิดพลาดนี้ส่งผลต่อรัฐบาลพลเรือน ที่มีการมองว่าได้สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของทหาร

บทบาททางการเมืองของทหารยังทำเพื่อให้ทหารแน่ใจได้ว่า พวกเขาใช้ผลประโยชน์ทางกฎหมายได้มาก

พวกเขาได้เป็นเจ้าของงบประมาณจำนวนมหาศาล แล้วยังอยู่เหนือการตรวจสอบของศาล

พวกเขาเก็บรักษาอำนาจของตนได้ยาวนานหลายปี ยังเป็นผู้มีความสัมพันธ์ (associate) ทั้งระดับชั้นผู้น้อยและอาวุโสกับสถาบันกษัตริย์2

กรอบคิดและแนวทางวิเคราะห์

หนังสือ ประวัติศาสตร์การครอบงำโดยทหารในไทย พอล แชมเบอร์ พยายามรักษาสมดุลระหว่างทฤษฎีความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร กระบวนการเป็นประชาธิปไตยในประเทศโลกที่ 3 กับข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัยที่ค่อนข้างละเอียด

พอล แชมเบอร์ ทดลองนำ ระบบขุนศึกษา (Praetorianism) แต่ไม่ได้เอาแบบอย่างระบบขุนศึกในยุคจักรวรรดโรมัน พอล แชมเบอร์ ลองนำงานของ Amos Perlmutter ที่เน้น รัฐขุนศึกสมัยใหม่ ที่นิยามถึงแนวโน้มการแทรกแซงและมีศักยภาพครอบงำระบบการเมืองได้3 Amos Perlmutter เสนอว่ามีเงื่อนไขที่กระตุ้นระบบขุนศึกอยู่ 2 เงื่อนไขได้แก่

เงื่อนไขทางสังคม

– ความเหนียวแน่นทางสังคมมีระดับต่ำ

– ชนชั้นที่ทำการสังหารคนในสงครามยังมีอยู่

– ชนชั้นกลางไม่ได้รวมเป็นหนึ่ง

– ทรัพยากรของรัฐในการระดมมวลชนไม่เพียงพอ

เงื่อนไขทางการเมือง

– ความขัดแย้งระหว่างศูนย์กลาง-ชายขอบ (Center-Periphery)

– สถาบันการเมืองมีระดับต่ำและขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องให้กับสถาบันการเมือง

– พรรคการเมืองไม่มีประสิทธิภาพ อ่อนแอ

– บ่อยครั้งพลเรือนมีส่วนในการรับรองบทบาทของทหาร

สำหรับ Amos Perlmutter ทหารแบบขุนศึกคือ ระบบที่ไม่ได้ควบคุมโดยความสามารถ (capacity) ความเชี่ยวชาญ (specialist) และความเป็นมืออาชีพ (professionalism) แทนที่จะเป็นอย่างนี้ ทหารแบบขุนศึกควบคุมโดชนชั้นทางสังคม ความเป็นพวกพ้อง ความเกี่ยวข้องของบุคคลและฝักฝ่าย (Factionalism) ส่วน Samuel P. Huntington ไม่ได้ใช้คำทหารแบบขุนศึก แต่พูดอ้อมๆ ถึงการมีอยู่ของระบบนี้ แล้วโต้ว่า การควบคุมพลเรือนสามารถมีอยู่ได้ เมื่อกลุ่มพลเรือนควบคุมกำลังทหารที่ขาดเจ้าหน้าที่มืออาชีพ4

 

ทหาร พลวัต
ความเปลี่ยนแปลงและอนาคต

ในมุมมองของพอล แชมเบอร์ ทหารไทยมีประวัติศาสตร์แห่งการครอบงำในไทยอย่างแรกคือ Monarchized Military5 หรือการกลายเป็นทหารของกษัตริย์ โดยเฉพาะอำนาจของทหารและเป็นเหตุผลดีของตนที่จำเป็นต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่ทหารยังรับประกันต่อผลประโยชน์แห่งชาติ การแทรกแซงโดยทหารเป็นเหตุผลใช้อธิบายแก้ตัวการปกป้องสถาบันกษัตริย์ หรือไม่สามารถหยุดยั้งความรู้สึกของพวกเขาว่าพวกเขาได้เกียรติในฐานะผู้ปกป้องราชวงศ์

และการครอบงำอย่างที่สอง ทหารเป็น Khakistocracy หรือ military (ทหาร) บวก aristocracy (อภิสิทธิ์ชน) ทั่วประเทศไทย มีความหมายคือ ให้สิทธิแก่เหล่าทหาร โดยเฉพาะพวกเขามองว่า สิทธิมีอิทธิพลในการตัดสินใจต่อผลประโยชน์แห่งชาติและการพัฒนาชาติ คือหมายถึงการรับใช้สถาบันกษัตริย์6

อย่างไรก็ตาม พอล แชมเบอร์ และผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง ประวัติศาสตร์การครอบงำโดยทหารในไทย เรามองทหารในเชิงโครงสร้าง พร้อมด้วยพลวัตและความเปลี่ยนแปลงในบริบททางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองไทย พร้อมด้วยบริบทภูมิภาคและโลกไปด้วย

ผมเสนอว่า ทหารมีบทบาทในการครอบงำก็จริง เราไม่มองทหารในลักษณะหยุดนิ่ง (static) ตายตัว (rigidity) แต่ต้องมองอย่างมีพลวัต (Dynamism) ตลอดเวลา

ในแง่ มิติภายใน เนื่องด้วยความเป็นฝักฝ่าย (Faction) ที่ชัดเจน ความเป็นพวกพ้อง รุ่น (Classmate) และเหล่าต่างๆ ได้แก่ ราบ ม้า ปืน รบพิเศษ เรากลับเห็นได้ว่า กองทัพขาดเอกภาพ (disunity) มากกว่า

ดังนั้น การเมืองภายใน (internal politics) กองทัพเองจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทหารไทยไม่ได้ต่อสู้กับการเมืองภายนอกกองทัพเช่น จากรัฐบาลพลเรือน กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ที่สำคัญอุดมการณ์และวัฒนธรรมทางการเมืองของกองทัพก็เผชิญความเปลี่ยนแปลง ถูกท้าทายตลอดเวลา

ในแง่ มิติภายนอก การสิ้นสุดของสงครามอุดมการณ์ระหว่างคอมมิวนิสต์กับเสรีนิยม ในรูปแบบสงครามดั้งเดิม (conventional warfare) เพื่อยึดดินแดนและอธิปไตยมีน้อยลง แต่ทหารไทยกำลังอยู่ภายใต้การแข่งขันกันอย่างรุนแรงและหลากหลายมิติระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา พร้อมเหล่าพันธมิตรของพวกเขา

การเป็นส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้าของชาติมหาอำนาจกำลังเปลี่ยนบทบาท หน้าที่ โลกทัศน์ของทหารในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

พลวัตทั้งภายในและภายนอกกองทัพมีผลต่อ บทบาท หน้าที่ และอุดมการณ์ของทหารไทย เหนืออื่นใด การก่อตัวของ ฝักฝ่ายใหม่ (new faction) ในกองทัพกลับเพิ่มการแบ่งขั้ว แข่งขันและเผชิญหน้ามากกว่าช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์การครอบงำในไทย

สำหรับผม คำถามน่าสนใจตอนนี้คือ ทหารกลุ่มใดที่ครอบงำสังคมไทย ครอบงำแบบไหน ครอบงำมากขนาดไหน และนานแค่ไหน


1In Aurel Croissant and Olli Hellman (eds.) Stateness and Demise of Democracy in East Asia (Cambridge : Cambridge University, 2023)

2Paul Chambers, A History of Military Ascendancy in Thailand (Singapore : ISEAS forthcoming) : 3-4.

3Amos Perlmuttter, “The Praetorian State and the Praetorian Army : Toward a Taxonomy of Civil-Military Relations in Developing Politics”, Comparative Politics, Vol.1, No. 3 (April 1969)

4Samuel P. Huntington, The Soldier and the State (Cambridge, Harvard University Press, 1975), : 80-89.

5Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat, “The Resilience of Monarchized Military in Thailand” Journal of Contemporary Asia, Vol. 46 No. 3 (2016)

6Paul Chambers, “Assessing the Monarchized Military and Khakistocracy in Post Thailand” Pavin Chachavalpungpun ed., Coup, King, Crisis : A Critical Interregnum (New Haven, Yale University Press, 2020)