ฤๅ ‘ชาติ’ นั้นจะเป็นเพียงความฝัน : ทบทวน วิเคราะห์ คลี่คลาย วาทกรรม ว่าด้วย ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ผมไปร่วมอภิปรายกับอาจารย์รัฐศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 นี้ในหัวเรื่องว่า ฤๅรัฐนั้นจะเป็นเพียงความฝัน หัวข้อที่ให้เราพูดนั้นคือ “รัฐ” แต่ผมจะดัดแปลงมาเป็น “ชาติ” ในบทความนี้ด้วยเหตุผลที่จะบรรยายต่อไปข้างล่าง

ดังที่ทราบกันว่าเมื่ออาทิตย์ก่อน มีการอภิปรายเรื่องเสรีภาพปาตานีของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จุดที่ทำให้เกิดแรงเสียดทานไปทั่วประเทศ คือเมื่อมีการทำจำลองประชามติว่าควรให้มีการกำหนดอนาคตตนเองในสันติภาพปาตานีหรือไม่

ทำให้หน่วยงานความมั่นคงของรัฐคือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน. ภาค 4 ) ส่วนหน้า ดำเนินการแจ้งความเอาผิดกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวในคดีความมั่นคง

หลังจากข่าวปรากฏทั่วไป มีทั้งกลุ่มและบุคคลที่เห็นต่างแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ ซึ่งมีศัพท์ทางการเมืองที่ใช้กันมานานกำกับคือ “การแบ่งแยกดินแดน”

ประเด็นที่ผมนำเสนอในการอภิปรายครั้งนี้ได้แก่มิติและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของคติการแบ่งแยกดินแดน ว่ามีกำเนิดในประเทศไทยอย่างไร เพราะอะไร และนำไปสู่ผลอะไร ด้วยความเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองนั้น ไม่อาจบรรลุได้อย่างแท้จริงหากไม่เข้าใจและแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของความเป็นจริงและเหตุผลที่กำกับการกระทำเหล่านั้นในอดีต

พูดสั้นๆ คือรู้อดีต แก้ปัจจุบัน สร้างอนาคต เพื่อไม่ให้ประเทศและสังคมเดินวนอยู่ในเขาวงกตของความไม่รู้และอยู่กับปัญหานั้นไปตลอดกาล

 

กำเนิดและความหมายของรัฐ

ข้อแรกที่ผมเสนอว่าเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่าประเทศหรือรัฐและชาตินั้น ไม่ใช่สิ่งเดียวกันดังที่เราถูกสอนและเชื่อกันมาจากโรงเรียนและสื่อมวลชนที่ก็รับแนวคิดมาจากรัฐบาลอีกทอดหนึ่ง

นักวิชาการนิยามรัฐหรือประเทศว่าคือ “ชุมชนมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในการผูกขาดการใช้กำลังอย่างชอบธรรม ภายในอาณาเขตที่กำหนด”

หลังจากการพัฒนาของรัฐซับซ้อนมากขึ้น นิยามของรัฐจะมุ่งไปในคุณลักษณะของ “องค์กรที่เป็นนามธรรม” (abstract organization) ที่ไม่ใช่ทั้งมนุษย์และไม่ใช่ชุมชน มันไม่เหมือนทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง หากแต่รัฐมีลักษณะที่คล้ายกับบรรษัทที่มองไม่เห็น (invisible corporation)

การที่รัฐในความหมายหลังนี้ที่เหมือนกับบรรษัท ทำให้มันมีลักษณะของการเป็นบุคคลที่อิสระได้ด้วย ข้อนี้ทำให้กฎหมายรับรองการเป็นนิติบุคคลของรัฐ ทำให้รัฐสามารถทำสัญญาและเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ได้

คุณลักษณะประการต่อมาของรัฐคือการเป็นองค์อธิปัตย์ รัฐสามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องแบ่งปันหรือใช้ร่วมกันใครทั้งสิ้น รัฐใช้อำนาจในสองทางหลักๆ คือทางแรกได้แก่บทบาทในการเป็นองค์กรทางจริยธรรม เป็นผู้สร้างและออกกฎหมายให้ทุกคนทำตาม ในทางที่สองรัฐใช้อำนาจโดยผ่านการทำสงครามหรือความรุนแรง (เช่น การใช้กำลังทหาร ตำรวจ คุกตะราง การลงโทษต่างๆ) ทั้งสองด้านล้วนนำไปสู่การบังคับปกครองทำให้ผู้อยู่ใต้การปกครองของรัฐกลายเป็นคนที่รัฐต้องการหรือปรารถนาที่จะให้เป็นอย่างนั้น

คุณลักษณะประการสุดท้ายคือการเป็นอาณาเขตที่แน่นอน (being territorial) รัฐใช้อำนาจและการปกครองเหนือผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตที่แน่นอนของตนเท่านั้น ในความรับรู้และเข้าใจเมื่อพูดถึงรัฐ คนจึงมักคิดถึงรัฐที่แสดงออกผ่านบรรดาสถาบันทางการเมืองการปกครองที่มีลักษณะพิเศษในการผูกขาดความรุนแรงและการใช้อำนาจกับผู้อื่น เช่น รัฐบาล หน่วยงานราชการต่างๆ เป็นต้น มีหน้าที่ใหญ่ๆ คือการรักษาความมั่นคงและสงบสุขในพื้นที่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล ทำหน้าที่ในการเก็บภาษีจากราษฎร กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ บริหารจัดการสาธารณูปโภค บริหารความยุติธรรม และจัดการระบบการศึกษา เป็นต้น

 

ความหมายของชาติและสังคม

เคียงข้างมาอย่างเงียบๆ คือการเกิดและเติบใหญ่ขึ้นมาของภาคสังคมหรือชาติ (civil society, nation) โดยมาจากการเคลื่อนไหวของบรรดาองค์กร กลุ่มและสถาบันที่อยู่นอกรัฐ (extra-state) มักเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นบนฐานมวลชนตามความสมัครใจ ไม่เหมือนพรรคการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่มุ่งเล่นบทบาทในเวทีการเมืองที่มีอยู่ หรือมุ่งโค่นล้มระบบและเวทีที่มีอยู่ เพื่อสร้างเวทีการเมืองแบบใหม่ เช่น พรรคและกลุ่มที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามและเป็นปรปักษ์กับพรรครัฐบาล เป็นต้น

นิยามความหมายของชาติจึงได้แก่ “กลุ่มคนที่มีสำนึกในการรวมกันเป็นชุมชน ที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน อาศัยอยู่ในดินแดนที่แน่นอน และมีอดีตที่ร่วมกัน กับมีโครงการสำหรับอนาคตที่ร่วมกัน รวมทั้งมีการอ้างอิงถึงสิทธิในการปกครองตนเองด้วย”

หนังสือที่โด่งดังและมีอิทธิพลต่อความคิดเรื่องชาติและชาตินิยมล่าสุดได้แก่ ชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) ของอาจารย์ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ผู้ล่วงลับไปแล้ว

 

ความคิดรัฐชาติในปัจจุบัน

เมื่อเราถูกสอนว่ารัฐกับชาติคือสิ่งเดียวกัน เราก็ถูกสอนว่าทั้งรัฐและชาติมีมาแต่ยุคพระเจ้าเหา คือมีมาแต่โบราณกาลตั้งแต่เริ่มมีประเทศไทยในตำรา เช่น สอนว่าประเทศไทยเริ่มกำเนิดมาแต่อาณาจักรกรุงสุโขทัย ก็มีคติไม่ให้คิดแบ่งแยกดินแดนหรือแยกรัฐสุโขทัยออกไปแล้ว ต่อมาเมื่อไทยตั้งอาณาจักรที่กรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ก็คิดทำนองเดียวกัน

คำตอบคือผิด รัฐไทยแต่ก่อนไม่เคยคิดเรื่องแยกดินแดนว่าเป็นปัญหาความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์ ความจงรักภักดีต่างหากที่เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองสมัยโน้นต้องการ ไม่ใช่ดินแดน และความภักดีก็มาจากคนหรือไพร่ที่ทำงานรับใช้อาณาจักร

เวลาเรียนประวัติศาสตร์ไทย อาจารย์สอนไม่ว่าไทยหรือเทศต่างบรรยายเหมือนกันว่า ระบบการเมืองการปกครองและเสรษฐกิจสยามนั้นวางอยู่บนการควบคุมกำลังบ่าวไพร่มากกว่าดินแดน เพราะดินแดนนั้นมีเหลือเฟือแต่กำลังคนไปหักร้างถางพงทำการเพาะปลูกต่างหากที่มีน้อยและหายาก

สงครามระหว่างอาณาจักรไทยกับพม่าในอดีตจึงมีจุดหมายสำคัญอันหนึ่งคือการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองที่ถูกทำลายกลับมายังเมืองของตน

ระบบการปกครองระหว่างเมืองหรือรัฐต่างๆ ในอุษาคเนย์แต่โบราณนั้น ใช้ระบบที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ระบบมณฑล” หรือ mandala กล่าวคือ บรรดารัฐและผู้นำเหล่านั้นได้ศึกษาบทเรียนจากการอยู่ร่วมกันในอดีตแล้วพบว่ามีวิธีการในการทำให้พื้นที่ทางการเมือง (คือรัฐและอาณาจักรต่างๆ) นั้นเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายมากที่สุดด้วยการทำตามทฤษฎีมณฑลนี้

ในแนวคิดทฤษฎีนี้ทุกๆ รัฐและเมืองต่างเป็นส่วนหนึ่งหรือสมาชิกหนึ่งของระบบนี้หรือระบบที่เกี่ยวพันกัน ไม่มีใครสามารถอยู่รอดได้คนเดียวโดยไม่สนใจเพื่อนบ้านอื่นๆ

ความเป็นอิสระที่ได้มาจากการเป็นกลางอย่างแท้จริงนั้นไม่มี มันไม่อาจดำรงอยู่ได้ในโลกของความเป็นจริง หากแต่รัฐที่เป็นสามนตราชหรือรัฐบรรณาการต่างหากที่อาจมี “นโยบายต่างประเทศ” ที่เป็นกลางได้ โดยต้องแลกกับการเสียสิทธิบางอย่างของตนไปให้แก่รัฐที่ใหญ่กว่า

กษัตริย์รักษาตนอยู่ในวังวนของชีวิตที่หลากหลายได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในระบบให้ได้มากที่สุด การสร้างพันธมิตรระหว่างรัฐต่างๆ ก็เป็นผลมาจากการที่รัฐเหล่านั้นอยู่ในภูมิศาสตร์แบบไหน

 

อาณาบริเวณคาบสมุทรมลายาตอนใต้ของไทยนั้นเป็นที่ตั้งของศูนย์อำนาจสำคัญ 2 แห่งคือ ปาตานี (ปัตตานี) ทางฝั่งตะวันออก และไทรบุรีทางฝั่งตะวันตก แสดงออกในการเป็นรัฐเมืองท่าสำคัญในบริเวณตอนกลางของคาบสมุทรมลายาโบราณ ในสมัยอยุธยา

ปาตานีเป็นศูนย์รวมของสินค้าพื้นเมืองอันได้แก่ เครื่องเทศ พริกไทยและของป่า เป็นเมืองท่าส่งผ่านสินค้าจากจีนและยุโรป

แม้ว่าปาตานีประกาศรับรองในความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์อยุธยา (รัฐสยามไทย) แต่ความสัมพันธ์ในการปกครองก็ไม่เหมือนกับเมืองประเทศราชอื่นๆ ด้วยปัจจัยทางระยะทางและลักษณะเมืองท่าของปาตานีเองที่ทำให้ปาตานีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสยาม แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง อันเป็นลักษณะหนี่งของรัฐเล็กๆ ที่ดำรงอยู่ตามชายของของรัฐใหญ่ๆ เช่น ในตอนเหนือของเกาะชวา คาบสมุทรมลายา หรือบริเวณตอนล่างของพม่าและเวียดนาม

รัฐเล็กๆ เหล่านั้นต่างมีอิสระในการปกครองและสืบทอดอำนาจของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น

ประเทศราช หรือเมืองขึ้น ในศัพท์ว่า dependencies จึงหมายถึงการที่รัฐเล็กยอมรับในอำนาจของรัฐใหญ่ที่เหนือกว่า และการยอมรับดังกล่าวนั้นไม่ใช่สิ่งถาวร อาจยาวเป็นหลายปี หรืออาจสั้นไม่กี่เดือนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขของสัมพันธภาพระหว่างรัฐทั้งหลายในมณฑลเดียวกันหรือที่เกี่ยวพันกันว่าดำรงอยู่ในลักษณะอะไร

รัฐปาตานี และไทรบุรีจึงสามารถยอมรับในความเหนือกว่าของทั้งรัฐสยามและมะละกาได้ในเวลาเดียวกัน แต่จะยอมรับใครมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นๆ จึงดูเหมือนกับระบบบรรณาการเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีการกบฏ ขัดขืน ต่อต้านจากบรรดารัฐเล็กๆ อยู่ตลอดเวลา

หากมองจากสายตาของศูนย์กลางในทรรศนะสมัยใหม่ ก็จะสรุปว่ารัฐบรรณาการหรือประเทศราชมักไม่จริงใจ ทำตัวเป็น “ขอมแปรพักตร์” เลยถูกทำให้กลายเป็น “ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์” ของอาณาจักรใหญ่เสมอมา

นี่เป็นทรรศนะทางประวัติศาสตร์ที่ผิด ควรจะแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐในอดีตที่ยังส่งทอดมายังปัจจุบันกันต่อไป

กล่าวได้ว่าการเมืองของรัฐชายขอบจึงเป็นอิสระในความหมายว่าไม่ผูกติดขึ้นอยู่กับศูนย์อำนาจใดอย่างตายตัวเหมือนเมืองอาณานิคม

พูดอย่างสมัยปัจจุบันก็คือมีความเป็นตัวของตัวเอง ทำการปกครองมีสิทธิอำนาจทางการเมืองและการเงินเหนือประชากรในรัฐของตนเองอย่างเต็มที่

ความหมายดังกล่าวนี้จึงใกล้กับคำว่า autonomy หรือปกครองตนเองอย่างจำกัด เพราะยังยอมรับในอำนาจที่เหนือกว่าอยู่

สรุปอีกครั้ง สมัยก่อนโน้นทั้งสยามไทยและปาตานีไม่มีใครคิด “แบ่งแยกดินแดน” อะไรทั้งสิ้น