ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กรกฎาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | อัญเจียแขฺมร์ |
เผยแพร่ |
อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก
บนปากเหว
แห่งระบอบ ‘ปรอเจียมานิต’
ตีบำพต/ในที่สุด บทเรียนแรกก็เดินมาถึงผู้นำเขมร ต่อเหตุการณ์ถูกเมตาบริษัทแม่เฟซบุ๊กแพลตฟอร์มดัง ระงับการให้บริการบัญชี SomdachHun Sen the Prime Minister of Cambodia ที่อ้างว่ามีถึง 14 ล้านผู้ติดตาม เป็นระยะเวลา 6 เดือนเต็ม!
ฮูเร่ พลัน ชาวกัมปูเจียต่างพากันขานรับ อื้ออึงกันอยู่ในใจ และน่าสนใจว่าทำไมบัญชีที่มีผู้ติดตามมากมายขนาดนั้น ถึงไม่มีใครส่งเสียงแอ็กเคาต์ที่ตนติดตามต้องถูกกระทำ
เอ…หรือว่าเกือบทั้งหมดนี้ คือผู้ติดตามทิพย์?!?
ด้วยต่างก็ทราบดีว่า ชาวกัมพูชา 15 ล้านคน ไม่ได้หลงรักจนพากันติดตามผู้นำของตน เป็นจำนวนล้นหลามถึง 93% นั่น!
แต่มีปมเหตุมาจากเมื่อคู่แข่งการเมืองอย่างสัม รังสี เกิดมียอดผู้ติดตามสูงมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งผ่านหลักล้าน และสมเด็จฮุน เซน เองแต่เดิมไม่คิดจะเล่นเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ แต่เหตุที่คู่ประกวดประแจง/คู่แข่ง สัม รังสี ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งนั่นอาจส่งผลทางอ้อมต่อการเลือกตั้งในปี 2013 ด้วยนั้น
ฮุน เซน จึงต้องลงเล่นศึกนี้เพื่อที่จะได้ชื่อว่าเป็นอันดับ 1 ของกัมพูชา และเขาจะต้องได้สิ่งนี้!
ทั้งที่ตอนเปิดบัญชีแรกๆ นั้น ฮุน เซน มียอดติดตามน้อยกว่านายสัม รังสี แบบสุดกู่!
แต่หลังจากถูกเสียดสีและล้อเลียนเรื่อยมา สมเด็จฮุน เซน แห่งกัมพูชา ก็สามารถปาดหน้าเพจสัม รังสี ไปในที่สุด!
ต่อมา มีการขุดคุ้ยที่มาของยอดผู้ติดตาม (ทิพย์) เหล่านี้ว่ามาจากที่ใด? สื่อบางสำนัก เช่น อาร์เอฟเอ/เขมร อ้างว่า หลังบ้านของฮุน เซน ได้ซื้อยอดติดตามจำนวนหลายล้านบัญชีจากประเทศอินเดีย!
แต่เฟซบุ๊กตอนนั้น กลับเพิกเฉยการแฉข้ามชาติที่ว่านี้
ซ้ำแปลกไปอีก ที่ยอดผู้ติดตามบัญชีของสัม รังสี กลับลดลงเรื่อยๆ อย่างผกผันกับบัญชีฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมือง!
แต่นั้นมา วิวาทะในรอบหลายๆ ปี เกี่ยวกับความนิยมโซเชียลมีเดียระหว่างฮุน เซน-สัม รังสี ก็จบลงด้วยชัยชนะของฮุน เซน ที่ 14 ล้านผู้ติดตาม ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลเทียบเท่ากับชาวเขมรทั้งประเทศ โดยที่ไม่มีใครสนใจว่า ในที่สุด เฟซบุ๊กได้กลายเป็นเหมือนเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของระบอบฮุนเซนเท่านั้น สำหรับประเทศนี้ และกว่าครึ่งของโซเชียลกัมพูชา กลายเป็นเครื่องมือเดียวกัน!
ตัวอย่าง รัฐมนตรีข่าวสารและสารสนเทศ-นายเขียว กัญญฤทธิ์ ที่ใช้นโยบายสอดส่องสื่อภายในประเทศไม่ต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เขียว กัญญฤทธิ์ ใช้บัญชีทวิตเตอร์เพื่อจับตาฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้น
เฉกเดียวกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัวหรือในนามกระทรวงที่ตนกำกับดูแล เว้นแต่บางกระทรวงเท่านั้น แต่ก็เป็นไปเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีอันมีต่อผู้นำของตน
ต่างจากนักการเมืองหรือผู้นำกองทัพที่เป็นทายาททางตรงของสมเด็จฮุน เซน อย่างฮุน มาแนต และน้องๆ ที่ใช้โซเชียลเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะประเด็นความมั่งคั่งหรูหราในชีวิตส่วนตัว ไลฟ์สไตล์ ที่อาจถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้โจมตี
แต่หลังจากฝ่ายองค์กรการขุดคุ้ยเจาะชีวิตตระกูลฮุนค่อยๆ สลายตนออกนอกประเทศไปเรื่อยๆ การโอ้อวดแสดงออกถึงชีวิตอีลิตที่สุขสบายของชนชั้นนักการเมืองกัมพูชาก็กลับมาครองพื้นที่ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอย่างเอิกเกริก
ความไม่พยายามจะไม่-ทิ้งร่องรอยตนเองไว้ในโลกโซเชียลของตระกูลฮุน ที่ค่อยๆ ลดดีกรีความเคร่งครัดลงครึ่งหลังการเลือกตั้งทั่วไป/2018 แต่ระหว่างทางนั้น การสำเร็จโทษฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งเยาวชนรุ่นใหม่ก็เริ่มจัดจ้านขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งจะว่าไป เฟซบุ๊กก็เป็นตัวเปิด 2 ทาง ทั้งการแสดงออกถึงเสรีภาพพลเมือง แต่อีกด้านหนึ่ง ก็กลายเป็นหลักฐานและเครื่องมือในการบ่อนทำลายของรัฐบาลต่อประชาชนด้วยเช่นกัน
ด้านหนึ่ง เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของบริษัทเมตา จึงสร้างความรำคาญให้แก่สมเด็จฮุน เซน อยู่บ้างในหมู่ชาวเขมรบางฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง ในจำนวนนี้ มีฮุน จันทา หลานอาของตนที่แม้จะอพยพไปอยู่ในยุโรปแล้วก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมโอ้อวดความมั่งคั่งของตนนั้นได้นำมาซึ่งการขุดคุ้ยในหมู่ชาวอีลิตที่ใกล้ชิดสมเด็จ
ก่อนหน้านี้ ครอบครัวเนต ซาเวือน รองผู้บัญชาการกรมตำรวจ หลานเขยคนโปรดฮุน เซน และเป็นพี่เขยฮุน จันทา ถูกขุดคุ้ยถึงการฟอกเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐก่อนผ่องถ่ายไปยังไซปรัส ประเทศที่ตนซื้อสัญชาติให้ลูกสาว
เนต ซาเวือน ยังติดแบล็กลิสต์สหรัฐด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นรายชื่อที่ ครม.กองทัพและกรมตำรวจระดับสูงกัมพูชาเกือบค่อนถูกขึ้นบัญชีดำ! และนั่นทำให้เนต ซาเวือน ถูกเปิดโปง!
ทั้งหมดล้วนมาแต่ผลพวงของการ “อวดตัวตน” ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมทั้งสิ้น!
ดังนี้ การที่ถูกเฟซบุ๊กฉีกหน้าหนนี้ สมเด็จฮุน เซน จึงเกิดแรงต้านอย่างรุนแรงโดยทันที!
แรกเลยนั้น ผู้นำเขมรต้องการที่จะ “ยุติใช้บริการเมตา” ในหมู่พลเมืองทั้งหมดของตน! แต่เกรงว่าจะสร้างความโกลาหลก่อนเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
ว่ากันตามตรง ไม่มีใคร “กล้า” ที่จะเอาไปสอดเสนอฮุน เซน ได้นอกจากลูกชายของเขาเอง โดยทั้งฮุน มาแนต-ฮุน มานี ที่ใช้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมสื่อสารกับผู้ติดตามจำนวนมากของตนได้ขอยับยั้งไว้
ก่อนหน้านี้เพียงเดือนเดียว ฮุน มาแนต ซึ่งหันมาเล่นกันเมืองได้รับปากเอกชนบางฝ่ายว่าจะมีนโยบายเปิดกว้างด้านธุรกิจดิจิทัลเพื่อสร้างการแข่งขันที่มากขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าไม่น่าจะใช่เรื่องง่ายสำหรับแนวคิดดังกล่าว เผลอๆ ฮุนรุ่น 2 อาจเริ่มเล็งเห็นถึงสิ่งที่บิดาเฝ้าเตือนมาตลอดในสิ่งคุกคามที่มองไม่เห็น
อย่างไรก็ตาม ฮุนบิดาที่ไม่มีใครกล้าแตะต้องวิพากษ์มาตลอดการเถลิงอำนาจ ดูเหมือนเขาจะห่อเหี่ยวไปมากกับการกระทำของเมตาครั้งนี้ และนั่นคือสิ่งที่เขาแนะนำทุกฝ่ายให้หันไปเล่นติ๊กต็อกและเทเลแกรมของจีนและรัสเซีย แต่เชื่อเถอะ สำหรับฮุน เซน นี่จะเป็นเรื่องใหญ่ในสิ่งที่ตนต้องทำ!
สำหรับแนวปราการป้องกันระบอบฮุนเซนที่กำลังยืนอยู่บนปากเหว!
มันคือ มิติการเมืองใหม่หลังปี ค.ศ.2023 ที่ระบอบฮุนเซนโดยทายาท จะเผชิญหน้ากับศัตรูตัวใหม่ที่ไม่ใช่พรรคฝ่ายค้านกัมพูชา แต่เป็นปีศาจตัวใหม่ที่ชื่อปฏิวัติสี หรือ “โซเชียลมีเดีย” ที่มีอิทธิฤทธิ์ด้วยสิ่งแวดล้อมของอำนาจที่มองไม่เห็น รวมทั้ง “กวาดทิ้ง” โครงสร้างที่ล้าหลังในระบอบทุนแบบฮุนเซน ที่ไม่แข็งแกร่งอีกต่อไป
แต่เกิดอะไรขึ้นใน 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ไปเยือนคิวบา พาลูกชายไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน การไปเยือนลาวอย่างมีนัยยะ เช่นเดียวกับ “กินเฝอมื้อเช้า” ที่ทำเนียบตาเขมากับรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นการย้อนศรก่อนปี 1989 ที่ฮุน เซน ออกเดินสายพบปะผู้นำเขมร 3 จนนำไปสู่การระบอบปกครองใหม่ในทุกวันนี้
หากจำเป็นจะต้องเลือก “ปฏิวัติตัวเอง!” เพื่อกลับไปสู่ระบอบเก่าอันปลอดภัยและคุ้นเคย ทำไมฮุน เซน จะทำไม่ได้!
ก็ในเมื่อทั้งหมดมันคือสิ่งที่สิ่งฮุน เซน ไม่เคยลบล้างออกไปจากโครงสร้างการเมืองที่ตนปกครองกัมพูชามาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา หรือแม้แต่หลังการเลือกตั้งกลางปีไปแล้ว
เราก็ได้เห็นว่า ระบอบการปกครองแบบพรรคเดียวของกัมพูชานี้ ไม่ต่างจากมิตรสหายในประเทศที่ฮุน เซน ไปเยือน คือระบอบคอมมิวนิสต์!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022